เมื่อโลกเปลี่ยน…ถึงเวลาปรับมุมมองต่อฟองสบู่

เมื่อโลกเปลี่ยน…ถึงเวลาปรับมุมมองต่อฟองสบู่

ท่ามกลางความดีใจของนักลงทุนที่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น

เพราะถ้าวัดระยะจากหุ้นโลกที่ราคา ณ จุดต่ำสุดในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ถึงตอนนี้ ราคาขึ้นมาแล้วกว่า +80% และมีการปรับฐานไปเพียง -7% เท่านั้น (ข้อมูล ณ 22 กุมภาพันธ์) ยิ่งไปกว่านั้น ราคาบางกองทุนที่เน้นหุ้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์ปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่าหนึ่งเท่าตัว

ลำเพียงเพียงแค่ราคาสินทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นมากนั้น ไม่สามารถจะฟันธงได้ว่าเกิดภาวะฟองสบู่หรือไม่ หากพิจารณานิยามของ “ฟองสบู่” หรือ Bubble คือการที่ราคาสินทรัพย์หนึ่งๆ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่ผู้เล่นในตลาดแห่กันเข้ามาซื้อและมีการไล่ราคาขึ้นไปเรื่อยๆ จนทำให้ราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง กล่าวคือ ราคาที่เพิ่มขึ้นไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ นอกจากนี้ภาวะฟองสบู่อาจจะเกิดควบคู่ไปกับการที่ผู้ลงทุนนั้นใช้เงินกู้มาซื้อสินทรัพย์ด้วย ดังที่เคยเกิดกับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในปี 2000 ซึ่งดัชนี NASDAQ ร่วงลงจากจุดสูงสุดถึงราว 80% 

กลับมาดูที่การปรับขึ้นของหุ้นในรอบนี้ จะพบว่าปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก ราคาหุ้นที่ขึ้นมามีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่

ระดับดอกเบี้ยปัจจุบันต่ำมาก หากเทียบกับปี 2000 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี อยู่สูงกว่า 6% ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่เพียง 1.3% ดอกเบี้ยต่ำทำให้ผลตอบแทนจากหุ้นน่าสนใจโดยเปรียบเทียบ หากวัดระดับราคาหุ้นด้วยวิธี Earnings yield gap (EYG) หรือใช้กำไรของหุ้นหักด้วยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี (ซึ่งค่าที่สูงถือว่าหุ้นน่าสนใจ) พบว่า หุ้นในหลายประเทศยังถือว่ามีระดับราคาที่สมเหตุสมผล เช่น หุ้นสหรัฐฯ มี EYG ที่ 3.1% มากกว่าช่วงก่อนวิกฤต Dot-com ซึ่งมี EYG ติดลบ ด้านหุ้นจีนนั้น EYG ราว 3% มากกว่าช่วงฟองสบู่ในตลาดหุ้นจีนปี 2015 ที่มี EYG เพียง 1.5% เท่านั้น

สภาพคล่องในตลาดการเงินอยู่ในระดับสูง เพราะธนาคารกลางใหญ่ๆ ทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น พร้อมใจกันเข้าซื้อสินทรัพย์จนขนาดงบดุลของธนาคารกลางเหล่านั้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เศรษฐกิจโลกปี 2021 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี หลังความสำเร็จของวัคซีน โดยประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนได้ราว 20% แล้ว ซึ่งการทะยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลบวกต่อราคาโภคภัณฑ์และการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนด้วย

เมื่อโลกเปลี่ยนไป ก็ถึงเวลาปรับมุมมองต่อฟองสบู่ โดยพิจารณาความกังวลจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว หันมามองที่พื้นฐานที่เปลี่ยนไปจากปัจจัยสนับสนุนข้างต้น จะพบว่าราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นมามีความสมเหตุสมผล หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “Rational bubble

แม้ว่าภาพรวมจะดูสดใสขึ้น แต่ใช่ว่าหุ้นทุกประเทศหรือทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจะมีปัจจัยพื้นฐานรองรับราคาที่เพิ่มขึ้นมา ตัวอย่างเช่น หุ้นญี่ปุ่น ที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเปราะบาง จากแผนการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงขีดความสามารถในการผ่อนคลายทางการเงินจากธนาคารกลางที่มีจำกัด อีกทั้งระดับ Valuation อยู่ในเกณฑ์แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยและประเทศอื่นๆ หรือหุ้นบางบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่นักลงทุนรายย่อยแห่กันเข้าไปซื้อจากการบอกปากต่อปาก ดังนั้นในเวลานี้การเลือกหุ้น (Stock Selection) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาเพราะมีโอกาสเป็นลบต่อตลาดหุ้น ได้แก่ (1) ความคาดหวังต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัว จะทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้จะยังไม่กระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และ (2) การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจส่งผลต่อประสิทธิผลของวัคซีนและกลับมาบั่นทอนการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

จากที่กล่าวมาข้างต้น ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในหุ้นยังมีมากกว่าปัจจัยเสี่ยง เราจึงยังมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้น แต่ต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น และไม่ลืมหัวใจสำคัญ ก็คือการกระจายความเสี่ยง ทั้งในแง่ของสินทรัพย์ลงทุน และเวลาที่เข้าลงทุน