Deep Tech กับบริบทอนาคตของธุรกิจ

Deep Tech กับบริบทอนาคตของธุรกิจ

นักอนาคตศาสตร์ได้เริ่มมองฉากทัศน์อนาคตของการเกิดเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างผลกระทบคลื่นการเติบโตของวัฏจักรธุรกิจในยุคต่อไปจากนี้มากขึ้น

แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะมีความเข้าใจมาเป็นเวลาเกือบ 100 ปีมาแล้วว่า คลื่นวัฏจักรการขึ้นลงของเศรษฐกิจโลกจะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้กับการเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ที่รู้จักกันในนามของ ทฤษฎีคลื่นยาว

ไม่ว่าจะเป็นคลื่นการเติบโตจากเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ คลื่นจากเทคโนโลยีการผสมโลหะที่ทำให้สามารถผลิตเหล็กที่มีความทนทานสูงนำมาใช้สร้างเป็นรางรถไฟ ทำให้เกิดการคมนาคมและขนส่งในเส้นทางที่ยาวไกลได้เกินกว่าการใช้แรงงานจากสัตว์ คลื่นจากการเทคโนโลยีเคมีและไฟฟ้าที่ทำให้เกิดเครื่องใช้ในบ้านที่มีความสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คลื่นจากเทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในและเทคโนโลยีเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม มาจนถึงคลื่นของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ไอที อินเตอร์เน็ต และชีวเคมี ที่เกิดต่อเนื่องกันเป็นช่วงๆ มาจนถึงในปัจจุบัน

นักอนาคตศาสตร์ได้เริ่มมองฉากทัศน์อนาคตของการเกิดเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างผลกระทบคลื่นการเติบโตของวัฏจักรธุรกิจในยุคต่อไปจากนี้ และได้เริ่มเกิดการกล่าวถึงคำว่า ดีพเทค” (Deep Tech) กันมากยิ่งขึ้น

มีการให้คำนิยามว่า ดีพเทคไม่ได้หมายความถึงการค้นหาเทคโนโลยีในเชิงลึกแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีขอบเขตในเชิงกว้างที่เกิดกับประเภทของเทคโนโลยีอย่างหลากหลายอีกด้วย

ลักษณะที่สังเกตได้ของ ดีพเทคโนโลยี คือ การเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มีความก้าวหน้าขั้นที่สูงกว่าเทคโนโลยีล่าสุดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน มีพลังเพียงพอที่จะสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาเอง หรือสามารถ ดิสรัป ตลาดที่มีอยู่เดิมได้อย่างสิ้นเชิง และสามารถปกป้องการลอกเลียนแบบได้ในระดับที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเชิงธุรกิจจากคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในเชิงธุรกิจ ความพยายามที่จะค้นหา “ดีพเทค ที่ประสบความสำเร็จ จะวัดกันที่ ขนาดของผลตอบแทนทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ระยะเวลาที่จะได้รับความนิยมให้คงอยู่ในตลาด และขนาดของการลงทุนและทรัพยากรที่ต้องใช้ โดยความรู้สึกปัจจุบันต่อ ดีพเทค ก็คือ จะให้ผลตอบแทนทางธุรกิจสูง คงอยู่ในตลาดได้ยาวนาน และต้องใช้การลงทุนค้นคว้าวิจัยในระดับสูง

มีผลการวิจัยที่แสดงว่า ดีพเทค ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สามารถแยกออกได้เป็นกลุ่มเทคโนโลยีได้อย่างน้อย 7 สาขา ได้แก่ วัสดุขั้นสูง (Advanced Materials) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) บล็อกเชน (Blockchain) โดรนและหุ่นยนต์ (Drone and Robotics) อนุภาคแสงและอิเล็กทรอนิกส์ (Photonics and Electronics) และ เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้วยทฤษฏีควอนตัม (Quantum Computing)

ทั้ง 7 สาขาของ ดีพเทค สามารถแพร่กระจายเข้าสู่สาขาของธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างกว้างขวาง เช่น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เกษตรกรรม ยานยนต์และยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภค บริโภค และการบริการ พลังงานและสาธารณูปโภค อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและการดูแลสุขภาพ การผลิตและก่อสร้าง โลหะและการทำเหมืองแร่ อุปกรณ์สื่อสารและโทรคมนาคม การค้าปลีก การทำซอฟต์แวร์ การจัดการทรัพยากรน้ำ การกำจัดของเสีย ฯลฯ เป็นต้น

ปัจจัยขับเคลื่อนที่จะผลักดันการพัฒนา ดีพเทค ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ ความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีพื้นฐานในปัจจุบัน การกีดกันผู้เล่นหน้าใหม่ในธุรกิจที่ลดลง ความหลากหลายของธุรกิจทั้งในด้านขนาดและประเภทของธุรกิจที่มีเพิ่มมากขึ้น แหล่งเงินลงทุนที่กล้าเสี่ยงในธุรกิจเกิดใหม่ที่มีเพิ่มมากขึ้น การสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ และความท้าทายต่อปัญหาด้านต่างๆ ของโลกในที่เพิ่มมากขึ้นที่รอการแก้ไขจากเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เป็นต้น

ส่วนปัจจัยเอื้อที่จะช่วยสนับสนุนการสร้าง ดีพเทค ก็คือระบบนิเวศธุรกิจที่ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากระบบนิเวศของธุรกิจทั่วไป โดยระบบนิเวศธุรกิจ “ดีพเทค” จะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ เช่น การรวมกลุ่มของผู้สนใจที่หลากหลายและมีที่มาจากสาขาเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน บริบทและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดพลวัตสูง ลักษณะการบริหารการรวมตัวที่ยืดหยุ่น และกระบวนทัศน์ที่มีต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

กลุ่มผู้เล่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศธุรกิจ ดีพเทค มักจะได้แก่ สตาร์ทอัพ ธุรกิจขนาดใหญ่ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย องค์กรภาครัฐ นักลงทุน และ ผู้นำทางความคิดที่จะทำหน้าที่ประสานงานระหว่างกลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามระยะต่างๆ ของการพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจทำให้ผู้เล่นบางกลุ่มจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามผลลัพธ์ของการพัฒนา

ถึงแม้เราจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของวัฏจักรแห่ง ดีพเทคแต่ก็มีสัญญาณที่ดีของการเริ่มก่อตัวของระบบนิเวศและความคาดหวังว่า ยุคที่รุ่งเรืองของ ดีพเทคจะเคลื่อนเข้ามาให้เห็น ในระยะเวลาที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ท้ายที่สุด ขอขอบคุณ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่ได้แนะนำเอกสารต้นฉบับที่เป็นที่มาของข้อมูลในคอลัมน์สัปดาห์นี้ ท่านผู้อ่านที่สนใจ สามารถเข้าถึงต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ด้วยการสืบค้นคำว่า “the Dawn of the Deep Tech Ecosystem” จากระบบอินเตอร์เน็ตได้