เรียนรู้ on-line

เรียนรู้ on-line

โควิด-19 บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการในการดำเนินชีวิตของผู้คน  หนึ่งในนั้นก็คือการเรียนรู้ของเยาวชนในสถาบันการศึกษาทั่วโลก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือการเรียนรู้ชนิดที่เรียกกันว่าแบบออนไลน์ (on-line) ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบอย่างมหาศาลแก่ผู้เกี่ยวข้อง ในวงการการศึกษาปัจจุบันเขามักไม่ใช้คำว่าการสอนเพราะมันสื่อความหมายของการไหลของข้อมูลหรือความรู้จากครูสู่นักเรียนทางเดียว    ปัจจุบันเรียกกันว่าการเรียนการสอน (teaching and learning) เนื่องจากข้อมูลและความรู้มิได้ถ่ายเทในลักษณะเดิมเหมือนน้ำลงสู่ถังอีกต่อไปเนื่องจากผู้เรียนสามารถค้นคว้าหาข้อมูลและศึกษาความรู้เหล่านั้นได้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารโดยไม่ต้องพึ่งครูในลักษณะเดิม ผู้เรียนจึงมีส่วนร่วมในการศึกษาซึ่งเป็นกระบวนการด้วย

                        ตัวอย่างเช่นในเรื่องการว่ายน้ำ ถ้าสอนโดยการบรรยายอย่างเดียวโดยไม่ได้ลงสระน้ำเพื่อเรียนรู้จากการปฏิบัติ     ลองผิดลองถูกสำลักน้ำหลายอึกแล้ว ไม่มีวันที่จะว่ายน้ำได้เป็น เช่นเดียวกับการสอนขี่จักรยาน ถ้าไม่ได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติด้วยตนเองผ่านเข่าแตกปากแตกแล้วก็ยากที่จะขี่เป็น

                        การศึกษาเป็นกระบวนการที่ต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นไปทีละน้อย    ไม่ใช่ 0 และ 1  (คือมีหรือไม่มีการศึกษา)   ยกตัวอย่างเช่นการสอนเรื่องคุณธรรมโดยพ่อแม่      จะต้องสอนวันละเล็กน้อยให้ซึมเข้าไปผ่านคำพูดของพ่อแม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง      อุปมาเหมือนการเหยาะเกลือให้ลูกกินวันละนิดวันละหน่อยเพื่อให้เกลือซึมเข้าไปในร่างกาย     มันจึงเป็นกระบวนที่ใช้เวลาและไม่ใช่การกินเกลือทีเดียวทั้งขวดหรือไม่กินเลย (เป็น 1 หรือ 0)

                        เมื่อเรียนกันในห้องเรียนแบบเดิม (มีตารางเวลาของวิชาต่าง ๆ    ในชั้นต่าง ๆ ซึ่งแบ่งตามกลุ่มอายุซึ่งทำกันมากว่า 250 ปีแล้วในโลกโดยเริ่มจากประเทศเยอรมนี) ไม่ได้เพราะกลัวติดโรคระบาดก็จำต้องเรียนรู้ชนิดทางไกล (distance learning)   โดยเลือกเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งเรียกกันว่า on-line learning หรือบางทีก็เรียกว่า e-learning

                        การเรียนรู้แบบ on-line จึงเป็นหนึ่งวิธีของการเรียนรู้แบบทางไกลซึ่งอาจเรียนรู้ผ่านสื่อ    อื่น ๆ เช่น ไปรษณีย์      วิทยุ     คลื่นโทรทัศน์ (หรือแม้แต่ผ่านนกพิราบ) ได้ดังนั้นแท้จริงแล้วการเรียนรู้ทางไกลเพื่อหลีกหนีโควิดจึงมิได้มีหนทางเดียว สื่ออินเตอร์เน็ตนั้นสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน

                        มักเข้าใจผิดว่าการเรียน on-line หรือ e-learning นั้นคือการถ่ายทอดการสอนทั้งหมดที่เคยกระทำอยู่หน้าชั้นเรียนให้มาปรากฏบนจอของผู้เรียนซึ่งนั่งอยู่ที่บ้าน    ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิกิริยาตอบโต้ถามตอบคำถามกัน       สามารถมอบงานและการบ้านต่าง ๆ ผ่านจอได้   ฯลฯ   แต่แท้จริงแล้วต้องมีมากกว่านั้น

                        e-learning นั้นมิได้มีเฉพาะการบรรยายและมีปฏิกิริยาโต้ตอบซึ่งผู้เรียนอยู่ในสถานที่    ต่าง ๆ เห็นภาพสดของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นซึ่งเรียกว่า synchronous     e-learning เท่านั้น หากมีอีกชนิดที่เรียกว่า asynchronous    e-learning    ซึ่งผู้เรียนมิได้เรียน “สด” กับผู้สอน    หากแต่มีบทเรียนที่จัดเตรียมไว้เป็นโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้เรียนสามารถติดตามบทเรียนเหล่านั้นด้วยขนาดความเร็ว (pace of learning) ที่ตนเองถนัด    การเรียนออนไลน์ที่ทันสมัยนั้นบทเรียนและ/หรือแบบฝึกหัด “พิเศษ” ที่โปรแกรมจัดมาให้นั้นเป็นไปตามระดับความรู้ที่แต่ละคนมี    ซึ่งได้เปิดเผยก่อนหน้าด้วยการทำแบบฝึกหัด และโปรแกรมตรวจวิเคราะห์และจัดมาให้เป็นการเฉพาะตัว

                        e-learning หรือ on-line learning ที่ดีและมีประสิทธิภาพในการให้การศึกษาต้องมีการผสมปนเปของทั้งสองลักษณะอย่างเหมาะสม     ให้ทั้งเนื้อหา     รูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ (สมควรเป็น infographic ประกอบ) ไม่น่าเบื่อ  (อย่าลืมว่าเห็นกันแค่ผ่านจอ      มองไม่เห็นภาษากายซึ่งกันและกัน     ดังนั้นจึงต้องทำให้เป็นประสบการณ์การเรียนการสอนที่เร้าใจมากกว่าการสอนแบบปกติที่เห็นหน้าตากัน    ซึ่งบางทีเรียกว่าการสอนแบบ on-site (หรือ face to face)   และมีการมอบหมายงานนอกห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้แบบ     on-line

                        ขอย้ำว่า on-line ไม่ใช่การถ่ายทอดการบรรยายหรือการสอนหน้าชั้นเรียนที่เคยทำอยู่เป็นปกติมาสู่จอของผู้เรียนแต่เพียงอย่างเดียวต้องมีลักษณะการเรียนการสอนอื่น ๆ ประกอบไปด้วย ตรรกะการเรียนรู้ตลอดจนขั้นตอนของการเรียนรู้ระหว่าง on-site กับ on-line นั้นแตกต่างกัน     ยกตัวอย่างเช่นการเรียนรู้เรื่องต้นไม้ที่มีใบเลี้ยงเดี่ยวกับใบเลี้ยงคู่     แบบ on-site นั้นอาจให้ผู้เรียนออกไปเก็บใบไม้และนำมาวิเคราะห์เรียนรู้กัน      ผู้สอนและผู้เรียนสามารถเห็นใบไม้ต่าง ๆ ของกันและกันได้อย่างชัดเจน        ผู้สอนอธิบายได้ชัดเจนให้ผู้เรียนเข้าใจ     แต่เมื่อเป็น on-line ก็ไม่สามารถทำแบบเดิมได้

                        ภาพที่ผู้เรียนที่บ้านเห็นบนจอนั้นไม่ชัดเหมือนของจริงเท่ากันทุกคนโดยขึ้นอยู่กับสัญญาณและคุณภาพของอุปกรณ์รับส่ง        ถ้าผู้สอนยังคงสอนเหมือน on-site ก็มีปัญหาเพราะผู้สอนเองก็ไม่สามารถเห็นภาพใบไม้ต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจากที่อยู่ห่างไกลออกไปนำมาแสดงได้ชัดเจน     ไม่อาจวิเคราะห์ได้ดีเหมือนการเรียนแบบ on-site

                        ในการจัดบทเรียน on-line ผู้สอนจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างการเรียนรู้โดยนำใบไม้ตัวอย่างที่สามารถเห็นได้ชัดเจนบนจอพร้อมภาพวาดของใบไม้ขนาดใหญ่ที่ได้เตรียมตัวมาบรรยายให้เข้าใจก่อน      แล้วจึงให้ผู้เรียนไปหาใบไม้มาเปรียบเทียบ      ขั้นตอนของการเรียนรู้ของ on-site และ on-line แตกต่างกันในที่นี้      on-site นั้นศึกษาของจริงกันก่อนแล้วจึงมาร่วมกันวิเคราะห์เพื่อให้ได้ความรู้     แต่สำหรับ on-line นั้น ทำแบบเดียวกันไม่ได้จึงต้องเริ่มจากการให้ความรู้ชั้นหนึ่งก่อนแล้วจึงนำของจริงมาเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้น

                        การผสมปนเปของ 2 ชนิดของ e-learning เพื่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องมีการตั้งเป้าหมายและแสวงหาวิธีการต่าง ๆ โดยมีการวางแผนลำดับขั้นตอนของการเรียนรู้มาเป็นอย่างดี     ผู้สอนจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการเรียนการสอน on-line โดยอาจผ่านการฝึกฝนสร้างบทเรียน on-line  

                        ในขณะที่สภาวะของการระบาดของโควิด-19 ยังไม่แน่นอน     มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดเป็นพิเศษจนเกิดเชื้อตัวใหม่ (variant)   เช่น    พันธุ์อังกฤษ     อาฟริกาใต้   และบราซิล  ขึ้นมาแข่งขันกับการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของเชื้อตัวเก่า     ความจำเป็นในการเรียน on-line จึงอาจเกิดขึ้นได้อีกเสมอดังนั้นการพัฒนาบทเรียนออนไลน์โดยผู้สอนในทุกระดับจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง     แค่ที่ผ่านมาหนึ่งปีการศึกษา    ผู้เรียนของเราในทุกระดับก็ได้รับการเรียนรู้ที่กระพร่องกระแพร่เต็มทีอยู่พอแล้ว     หากเราไม่เตรียมพร้อมสร้างการเรียนรู้ on-line ที่มีคุณภาพกว่าเดิมแล้ว    จะน่าเวทนาทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าของเราเป็นอันมาก.