สิทธิเสรีภาพใช่ว่าจะใช้ได้โดยไม่มีขอบเขต

สิทธิเสรีภาพใช่ว่าจะใช้ได้โดยไม่มีขอบเขต

Gawlik v. Liechtenstein  คำฟ้องที่2392/19 คดีตัวอย่างการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เมื่อผู้ช่วยหัวหน้าแผนกอายุรศาสตร์ฟ้องหมอ ในคดีการุณยฆาต

             ในปี 2491 สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติได้ลงมติรับรองและประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นกรอบและเป็นมาตรฐานร่วมกันในการปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิก รวมทั้งเป็นพื้นฐานของสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนอื่นฯ ปฏิญญานี้ไม่มีฐานะเป็นสนธิสัญญาที่จะมีผลผูกพันสมาชิก และไม่มีผลบังคับอย่างกฎหมาย มีทั้งหมด 30 ข้อ

                    สิทธิเสรีภาพตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน       

                 บรรดาสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะข้อที่มักถูกอ้างอยู่บ่อยฯ คือ ข้อ19 บุคคลมีสิทธิเสรีภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะยึดมั่นในความเห็นปราศจากการสอดแทรกและที่แสวงหา รับ ตลอดจนแจ้งข่าวรวมทั้งความคิดเห็นผ่านสื่อใดฯและโดยมิต้องคำนึงถึงเขตแดน และข้อ20 วรรคหนึ่ง บุคคลมีสิทธิเสรีภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ

               อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มีขอบเขตและ มีข้อจำกัดตามที่บัญญัติในข้อ12 คือ การเข้าไปสอดแทรกโดยพลการในกิจส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน การส่งข่าวสาร ตลอดจนการโจมตีต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลนั้น จะกระทำมิได้ ทุกฯคนมีสิทธิจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการสอดแทรกและการโจมตีดังกล่าว   และตามที่บัญญัติในข้อ 29 ข้อย่อย 2    คือในการใช้สิทธิและเสรีภาพ บุคคลต้องอยู่ภายใต้เพียงเช่นที่จำกัดโดยกำหนดแห่งกฎหมาย เฉพาะ เพื่อความมุ่งประสงค์ให้ได้มาซึ่งการยอมรับและการเคารพโดยชอบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดอันยุติธรรมของศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชาติและสวัสดิการโดยทั่วฯไปในสังคมประชาธิปไตย

                 จากบทบัญญัติของปฏิญญาดังกล่าวเป็นที่ชัดแจ้งว่า แม้บุคคลจะมีสิทธิเสรีภาพแต่มีขอบเขตจะใช้สิทธิเสรีภาพนั้นไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หรือโดยไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบของสังคมหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนมิได้

               สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

               ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ของปวงชนชาวไทยจึงสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน   เช่นรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560  มีบทบัญญัติคุ้มครองรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

                 สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้มีสองส่วนคือ ส่วนที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว มีขอบเขตหรือข้อจำกัดตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ และสิทธิเสรีภาพตามที่บัญญัติในมาตรา 25 การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ  แต่การใช้สิทธิเสรีภาพนั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

                 การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนอกจากมีข้อจำกัดหรือขอบเขตตามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีข้อจำกัดหรือขอบเขตโดยต้องไม่ละเมิดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตาม (1) (3) และ (6) ตามมาตรา 50 ดังนี้

                (1) พิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                (3) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

               (6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม

               สรุป การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มีขอบเขตและข้อจำกัดคือ ต้องเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย หรือไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น และต้องไม่เป็นการละเมิดหน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา25 (1) (3) และ(6) ด้วย 

                 ขอบเขตข้อจำกัดในการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลไม่ว่าตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ ต้องไม่ล่วงละเมิดสิทธิ เสรีภาพของบุคคลอื่น

 

                 คดีตัวอย่างการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of expression)

              เป็นคดีในศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European court of human rights) คดีที่เรียกว่า Gawlik v. Liechtenstein  คำฟ้องที่2392/19 มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ ผู้ฟ้องคดี Lothar Gawlik  เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลแห่งชาติ Liechtenstein   ในเดือนมิถุนายน 2556 เขาพบข้อมูลโดยบังเอิญว่า มีคนไข้4คนเสียชีวิต จากการรักษาของหมอ X โดยมอร์ฟีน เขาสรุปเลยว่าคนไข้ทั้ง 4 เสียชีวิตจาก การุณยฆาต (Euthanasia)  ในเดือนกันยายน 2556 เขาได้ร้องต่อสำนักอัยการให้ดำเนินคดีกับหมอ โดยมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนการร้องเรียนของโรงพยาบาลก่อน ขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลก็ได้ตั้งคณะตรวจสอบโดยบุคลากรของโรงพยาบาล หนึ่งชุด บุคลากรภานอกหนึ่งชุดตรวจสอบการรักษา ของหมอX ซึ่งพบว่าเป็นไปโดยถูกต้อง ในเดือนกันยายน 2557 ผู้ฟ้องคดีถูกพักงานและถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ข้อหามิได้ดำเนินการร้องเรียน ตามขั้นตอนภายในของโรงพยาบาลก่อน

               ในปี2557  เริ่มการสอบสวนดำเนินคดีกับหมอ X แต่การสอบสวนคดีอาญาก็ได้ยุติลงในปี 2559  ต่อมา Lothar Gawlik ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากโรงพยาบาลเป็นเงิน 600,000 ฟรังค์สวิส ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โรงพยาบาลชดใช้ด่าเสียหาย เป็นเงิน 125,000 ฟรังค์สวิส ในชั้นฎีกาศาลฎีกายกฟ้อง 

               ต่อมา Lothar Gawlik  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัย ข้อกฎหมายประการหนึ่ง ที่ผู้ร้องยกขึ้นอ้างคือ ข้อ10สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตามอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามอนุสัญญาดังกล่าวนำมาใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องและโรงพยาบาลได้    และยอมรับตามที่ผู้ร้องอ้างว่าดำเนินการในฐานะผู้ชี้ช่องการกระทำที่มิชอบ (Whistle –blower ) แต่เห็นว่าผู้ร้องมิได้พิสูจน์ข้อสงสัยให้ชัดเจนก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ ให้ ยกคำร้อง

             หลังจากนั้นใน เดือนเมษายน 2562 Lothar Gawlik ยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป อ้างว่าการที่โรงพยาบาลให้เขาออกจากงานโดยมิได้แจ้งล่วงหน้า เพียงเพราะเขายื่นให้มีการสอบสวนคดีอาญา เป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกของเขา

                ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป   มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564  ในคำพิพากษานี้ศาลวางหลักว่า การขัดขวางสิทธิในการแสดงออกในสังคมประชาธิปไตยต้องเป็นไป เพราะความจำเป็นและมีเหตุที่สมควรชอบด้วยเหตุผล ศาล เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นแห่งท้องถิ่น ที่ผู้ฟ้องคดีควรได้ตรวจสอบข้อมูลให้ถ่องแท้ เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ฉกรรจ์  และเห็นว่าการให้ผู้ฟ้องออกจากงานเป็นไปโดยถูกต้องสมควร เมื่อคำนึงถึงผลกระทบเสียหายต่อชื่อเสียงของโรงพยาบาลและบุคลากรคนอื่นฯ  พิพากษาว่าการขัดขวางสิทธิในการแสดงความเห็นของผู้ฟ้องคดีเป็นไปโดยสมควรแก่เหตุ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อ10 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.