รู้จักนักการเมืองที่ไม่ใช่นักการเมือง

รู้จักนักการเมืองที่ไม่ใช่นักการเมือง

อาทิตย์ที่แล้ว การเมืองในบ้านเราเป็นสัปดาห์ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นวาระสำคัญเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการประชุมสภาปีละ 2 สมัย

แต่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงครั้งเดียว ทำให้นักการเมืองต้องทำหน้าที่เต็มที่ทั้งฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และฝ่ายรัฐบาลในการตอบคำถามต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและไว้วางใจการทำงานของรัฐบาล และที่ประชาชนเห็นคือ การอภิปรายแบบเดิมๆ คือดุเดือด กล่าวหากันและโต้ตอบกันรุนแรง จนมีคำถามในใจผู้ฟังหลายคนว่า แล้วทำไมปัญหาที่นักการเมืองพูดถึงจึงไม่มีการแก้ไข ทั้งที่เป็นหน้าที่ของนักการเมืองโดยตรง เป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย และเมื่อไม่แก้ไข  ประเทศเราจึงมีปัญหามาก ไม่ว่าจะเรื่องทุจริตคอรัปชั่น การบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้มีคำถามกลับไปว่า เมื่อไม่แก้ปัญหา แล้วนักการเมืองจริงๆ ทำอะไรอยู่ และนักการเมืองประเทศอื่นเป็นอย่างประเทศเราหรือไม่

            เรื่องนี้ ผู้ที่จะให้คำตอบดีที่สุดคงเป็นนักการเมือง และในความเห็นของผม ผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีคนหนึ่ง คือ นายโฮเซ มูจิกา (Jose Mujica) อดีตประธานาธิบดีประเทศอุรุกวัย (Uruguay) ที่เป็นนักการเมืองที่คนทั้งประเทศภูมิใจและคนทั่วโลกชื่นชม เพราะเป็นประธานาธิบดีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ไม่กลัวที่จะแสดงออก มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับการเมืองและสังคม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และถ่อมตัวสุดๆ เป็นนักการเมืองที่ไม่เหมือนนักการเมืองทั่วไป และเป็นบุคคลที่ผมจะเขียนถึงในวันนี้

            ฮเซ มูจิกา เคยให้ความเห็นว่า การเมืองหรือสิ่งที่นักการเมืองให้ความสำคัญมี 2 เรื่อง คือ คะแนนเสียงประชาชนเพื่อชนะเลือกตั้งคราวหน้า และ ใครจะมาเป็นหัวหน้า ไม่ได้สนใจที่จะแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี หรือ ปัญหาที่โลกมีอย่างจริงจัง เป็นกันทุกประเทศ แม้ประเทศที่เจริญแล้ว ทำให้เรื่องสำคัญๆ แม้เป็นเรื่องความเป็นความตายของมนุษยชาติ เช่น ภาวะโลกร้อน (Climate Change) ก็ไม่มีใครสนใจ ทิ้งปัญหาไว้โดยไม่มีนักการเมืองคนไหนสนใจที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหานานกว่า 20 ปี

            มูจิกาพูดต่อว่าสิ่งที่ทำให้นักการเมืองอยากเป็นนักการเมือง และเมื่อเป็นแล้วก็ไม่อยากทำอย่างอื่น ก็คือ อำนาจและสิ่งที่มากับอำนาจ หมายถึง สิ่งเย้ายวนและเครื่องประดับต่างๆ (Political Trappings) ที่มากับตำแหน่งการเมือง เช่น รายได้ ผลประโยชน์ สิทธิ รถประจำตำแหน่ง สถานที่ทำงาน บอดี้การ์ด บริวารที่มี อำนาจในการสั่งการ ความสนใจของสังคม ไปไหนมีแต่คนห้อมล้อม กลายเป็นบุคคลที่สังคมให้ความสำคัญ ที่ชีวิตเปลี่ยนได้ชั่วข้ามคืน สิ่งเหล่านี้เหมือนสิ่งเสพติด คือ เมื่อเสพแล้วหยุดไม่ได้ อยากเสพอีก ทำให้เราจึงเห็นนักการเมืองมักจะไม่ไปทำอย่างอื่น จะวนเวียนอยู่กับเรื่องการเมือง

           ที่มูจิกาพูดได้อย่างนี้ก็เพราะ ชีวิตเขาได้ผ่านการเมืองมาอย่างโชกโชน ผ่านมาทุกระดับ จนรู้จริงเห็นแจ้งเรื่องการเมือง และสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากนักการเมือง ตัวเขาเกิดปี 1935 ที่อุรุกวัย ตอนนี้อายุ 86 เกิดในครอบครัวยากจน กำพร้าพ่อแต่เด็ก เห็นความยากลำบากของคนจนที่เขาได้พบเห็นมาแต่เด็ก ทำให้มีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น สมัยเป็นหนุ่มหัวรุนแรง เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองติดอาวุธเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐ เคยถูกยิงจนเกือบเสียชีวิต ถูกจับ เคยแหกคุก เคยปล้นธนาคารเพื่อหาทุนต่อสู้ทางการเมือง ในปี 1975 ถูกจับกุมและติดคุกนานถึง 12 ปี เคยถูกขังเดี่ยวเป็นเวลานาน ไม่มีอะไรอ่านนานถึง 7 ปี ไม่ได้พูดคุยกับใคร จนแทบเสียสติ แต่การอยู่คนเดียวนาน ทำให้เขาใช้เวลาคิดจนพบสัจธรรมและเปลี่ยนความคิดของตน หลังได้รับอภัยโทษในปี 1985 เขาได้กลับสู่การเมือง เป็นการเมืองเปิดในระบบประชาธิปไตย เป็นสมาชิกแนวร่วมพรรคฝ่ายซ้าย ได้รับเลือกตั้ง เป็นรัฐมนตรี เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2010 ด้วยคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งประเทศ

            ประเทศอุรุกวัยในสมัยที่มูจิกาเป็นประธานาธิบดี ประสบความสำเร็จมากทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจากนโยบายที่เขาผลักดันและจากภาพพจน์ตัวเขา ที่ทำให้อุรุกวัยเป็นที่รู้จักของนักลงทุนต่างชาติ เขาส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน มองโลกเหมือนเป็นชุมชนใหญ่ที่จะอยู่ได้ก็จากความร่วมมือของคนในชุมชน ความสำเร็จของอุรุกวัยทำให้เขาถูกมองว่าเป็นผู้นำที่หายาก ถูกเสนอชื่อชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพถึง 2 ครั้ง

          เท่าที่ประเมิน ความสำเร็จของมูจิกาในฐานะนักการเมืองและผู้นำประเทศคงมาจาก 3 ปัจจัย 1.ดำเนินนโยบายที่ตรงกับความต้องการของประชาชน และเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมทีมบริหาร โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในยุคสมัยของเขานโยบายการเงินการคลังเป็นแบบอนุรักษ์นิยม เน้นเรื่องวินัยการเงินการคลังและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติ สร้างแรงจูงใจให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุน โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับความรู้และทักษะของแรงงานในทุกระดับเพื่อรองรับการลงทุน เพื่อให้คนในประเทศได้ประโยชน์ มีงานทำและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ แต่ที่เด่นมาก คือ นโยบายด้านสังคม เช่น การศึกษา สาธารณสุขและระบบสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับประชาชน รวมถึงออกกฎหมายที่ล้ำยุคสมัยในช่วงนั้น เช่น เรื่องการทำแท้ง เรื่องกัญชา เพื่อแก้ไขปัญหาที่สังคมมี สิ่งเหล่านี้เขาผลักดันจากความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมที่เขามี จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศ

          2.เป็นผู้นำที่ทำตนให้เป็นตัวอย่าง (Lead by Example) โดยอยู่อย่างสมถะ ไม่สะสม ใช้เวลาที่มีช่วยเหลือคนอื่น จนถูกขนานนามว่า เป็นประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก ไม่อยู่บ้านประจำตำแหน่ง แต่อยู่บ้านเดิมเล็กๆ ของเขา ไม่ใช้รถประจำตำแหน่ง บริจาคเงินเดือนกว่า 90% เพื่ออนุเคราะห์สังคม มูจิกามองว่า ระบบทุนนิยมเน้นการบริโภคและการเติบโตมากเกินไป จนคนในสังคมบริโภคเกินความจำเป็น และไม่ตระหนักว่า เงินที่ใช้ในการบริโภคที่ไม่จำเป็นนั้น มาจากเวลาของชีวิตที่เสียไปกับการทำงานเพื่อหาเงิน แต่กลับเอาเงินมาบริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็น เขามองว่า เวลาที่เรามีเหลืออยู่ คือ สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต จึงควรใช้เวลาเหล่านี้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ ใช้ชีวิตอย่างมีอิสรภาพ ไม่จมปลักกับการทำงานเพื่อการบริโภคสิ่งที่ไม่จำเป็น แนวคิดและการใช้ชีวิตของเขาเป็นที่ประทับใจของคนทั่วโลก

               3.เป็นนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับความคิดก่อนการกระทำ คือใช้เวลาคิดอย่างดีเพื่อให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่ให้มีผลงาน จนทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่ประชาชนไม่ต้องการ ด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง ผลคือปัญหาที่ควรแก้ แก้ไขไม่ได้ หรือไม่เกิดขึ้น กลายเป็นผู้ชนะที่แพ้ คือ แก้ปัญหาไม่ได้แม้มีตำแหน่ง มองว่าในการบริหารประเทศ ทรัพยากรไม่ได้เป็นข้อจำกัดแต่ปัญหาอยู่ที่ธรรมาภิบาล คือ ความพร้อมที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง หมายถึง คิดถูกต้อง ทำด้วยวิธีที่ถูกต้องและด้วยใจที่ถูกต้อง ในลักษณะนี้ การทำในเรื่องที่ควรต้องทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม คือ สิ่งที่ประชาชนหวังจากนักการเมือง ทำให้ผู้นำประเทศต้องเก่งคิดและเข้าใจปัญหาก่อนทำ คือ เป็นผู้นำแบบกษัตริย์นักปราชญ์หรือ Philosopher King ก็ว่าได้ เพื่อให้สังคมได้สิ่งที่ถูกต้อง

           นี่คือนักการเมืองที่สร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นนักการเมืองที่คนส่วนใหญ่อยากเห็น ที่จะนำการเมืองของประเทศไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ตัวอย่างของ โฮเซ มูจิกา จึงให้ความหวังแก่คนทั้งโลกว่า ผู้นำแบบนี้ยังเป็นสิ่งที่หวังได้ เกิดขึ้นได้.