เตรียมปรับห่วงโซ่อุปทาน รับ ‘พลังงานสะอาด’

เตรียมปรับห่วงโซ่อุปทาน  รับ   ‘พลังงานสะอาด’

ไม่นานหลังจากที่ “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ก็ได้ออกข้อบังคับและกฎระเบียบต่างๆ มากมาย

หนึ่งในวาระสำคัญคือ วาระของสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพลังงานบริสุทธิ์

การเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกได้ว่ากลับหลังหัน 180 องศาจากแนวนโยบายเดิมของรัฐบาลก่อนที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยสนใจวาระของสิ่งแวดล้อมนี้เอง ทำให้เป็นที่จับตาของคนสหรัฐและคนทั้งโลก ทั้งในแง่ของพลวัตทางเศรษฐกิจ ห่วงโซ่อุปทาน กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง และการจ้างงานในสหรัฐเอง

ระหว่างการหาเสียง นายไบเดนได้ให้คำมั่นสัญญาว่าแนวทางใหม่ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจพลังงานบริสุทธิ์นี้จะเพิ่มตำแน่งงานในตลาดแรงงานกว่า 10 ล้านตำแหน่ง ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่น่าจับตาอย่างยิ่งเพราะมีความท้าทายสูงมาก หากเทียบจากสถิติการเพิ่มตำแหน่งงานในตลาดแรงงานจากรัฐบาลโอบามาที่เพิ่มขึ้น 11.6 ล้านตำแหน่งภายในระยะเวลา 8 ปีของการบริหารประเทศที่ถือว่าไม่น้อย

ในปัจจุบัน มีคนสหรัฐทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานบริสุทธิ์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ พลังงานแสงแดด พลังงานลม อุตสาหกรรมยานยนต์จากพลังงานบริสุทธิ์ (Green job) กว่า 3.4 ล้านคน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปประมาณ 3-4% เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือของสหรัฐจากที่พึ่งพาพลังงานดั้งเดิมอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาเป็นพลังงานบริสุทธิ์ใหม่นี้นั้นย่อมจะนำมาซึ่ง การเปลี่ยนแปลงในการจ้างงาน ทั้งที่มีการจ้างงานใหม่ และในขณะเดียวกันคือการเลิกจ้างงาน

คาดว่าการผ่านกฎหมายพลังงานบริสุทธิ์นี้น่าจะต้องเจออุปสรรคอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าในขณะนี้ที่พรรคเดโมแครตนั้นครองเสียงข้างมากจากทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภาเพื่อผ่านกฎหมายและงบประมาณต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะระบบการเมืองสหรัฐนั้น ส.ส.หรือส.ว.ไม่ได้เพียงภักดีกับพรรคการเมืองที่ตนสังกัดเท่านั้น แต่ยังภักดีกับฐานเสียงอีกด้วย ซึ่งน่าจะได้รับแรงเสียดทานพอสมควรจาก ส.ส. หรือ ส.ว. ในพื้นที่ที่คะแนนเสียงนั้นมีความผูกพันธ์กับอุตสาหกรรมพลังงานดั้งเดิมอย่างแน่นอน

จึงเป็นที่น่าจับตาอย่างมากว่า งบประมาณกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีขอสภานั้นจะผ่านอย่างไร มีเงื่อนไขในการใช้หรือไม่ และจะนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลจนสามารถสร้างงานใหม่ในระบบเศรษฐกิจถึง 10 ล้านตำแหน่งตามที่ได้หาเสียงไว้หรือไม่

อังกฤษในฐานะเขตเศรษฐกิจใหม่ที่เพิ่งแยกตัวออกมาจากยุโรป ก็เปิดตัวโครงการ กฎบัตรโลก (Terra Carta) ซึ่งเป็นข้อตกลงระดับนานาชาติระหว่างภาคธุรกิจกับสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อร่วมกันฟื้นฟูโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรก็ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์และให้คำมั่นที่จะแรกเริ่มลงทุนในโครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกว่า 73,000 ล้านปอนด์หรือราว 3 แสนล้านบาท

การจะเข้าร่วมโครงการกฎบัตรโลกนี้จำเป็นต้องยอมรับในบทบัญญัติ 10 ประการ อาทิ การตั้งราคาสินค้าจำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้ลงทุนใน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี) และการพัฒนาวิจัยที่มุ่งประเด็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งโดยรวมแล้วข้อบังคับ 10 ประการนี้นั้นล้วนมุ่งสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก

โครงการตั้งเป้าระดมทุนสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในปัจจุบันภาคีสมาชิกที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกให้ความสำคัญเข้าร่วมแล้ว อาทิ แบงก์ออฟอเมริกา ธนาคาร HSBC หรือแม้กระทั่ง แอสตร้าเซนเนก้าผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิดสัญชาติอังกฤษ

ทันทีที่โลกร่วมมือกันจัดการภัยโรคระบาดจนหมดไป วาระรักษ์โลก พลังงานสะอาด การทำธุรกิจที่ยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมก็จะกลับมาเป็นดาวเด่นวาระแห่งปีอีกครั้ง

ธุรกิจจึงจำต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เมื่อเขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐและอังกฤษขยับตัวเปลี่ยนแปลง ไทยในฐานะห่วงโซ่อุปทานก็ย่อมปรับตัวอย่างรวดเร็ว