พลิกฟื้นโลกผ่านมุมมอง ESG

พลิกฟื้นโลกผ่านมุมมอง ESG

สวัสดีครับ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่

 

ในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าผลกระทบจะยังคงอยู่นานหลายปี ทุกองค์กรทั่วโลกจำเป็นต้องประสานงานกันอย่างเข้มข้นและร่วมมือกันในการเผชิญกับความท้าทายนี้ หลายบริษัทจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารงานให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีประเด็นความท้าทายที่สำคัญซึ่งได้รับการพูดถึงในระดับโลกเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์บริหารงานภายใต้มิติการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่กำลังเป็นที่สนใจของฝ่ายบริหาร และนับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการนำพาให้องค์กรสามารถฟันฝ่าวิกฤตครั้งใหญ่นี้ไปได้

โดยประเด็นแรกที่ผมอยากจะกล่าวถึงคือความหลากหลายทางชีวภาพ จากปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เรากำลังเผชิญในศตวรรษที่ 21 นั่นคือการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากองค์กรทั่วโลกมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ สิ่งที่จะตามมาคือผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศตลอดจนสินค้าต่างๆ ที่มีกระบวนการผลิตมาจากธรรมชาติตั้งแต่ด้านอาหารไปจนถึงยารักษาโรค ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทั้งด้านการเงินและเศรษฐกิจ

ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการปกป้องและร่วมมือกันเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ในปัจจุบันเรามีความก้าวหน้าในการกำหนดราคาสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้อย่างสมเหตุสมผล รวมถึงการพิจารณาความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วงเวลานี้จึงเป็นเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะเริ่มเรียนรู้การกำหนดราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่โลกกำลังเผชิญอยู่ด้วยเช่นกัน  

ถัดมาคือการจ้างงานในอุตสาหกรรมด้านพลังงานสะอาด บริษัทด้านพลังงานสะอาดกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบางบริษัทมีอัตราการเติบโตที่แซงบริษัทน้ำมันไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดก็ย่อมเติบโตตามไปด้วย สำนักงานสถิติแรงงานในสหรัฐ (US Bureau of Labor Statistics) ได้ให้ข้อมูลว่าตำแหน่งงานด้านช่างติดตั้งอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์และช่างเทคนิคกังหันลมจะเป็นสองอาชีพที่มีการเติบโตของการจ้างงานเร็วที่สุดในช่วงหนึ่งทศวรรษจากนี้ แม้ว่าสหภาพแรงงานของพนักงานกลุ่มดังกล่าวอาจจะยังไม่แข็งแกร่งนัก

                อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญกับแรงงาน ซึ่งเป็นมิติด้านสังคมและถือเป็นฟันเฟืองหลักที่ทำให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) โดยบทบาทที่สำคัญของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนคือการทำให้แรงงานตระหนักว่าภาคธุรกิจพลังงานสะอาดมีความสำคัญ รวมถึงมีตำแหน่งงานที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าและดีกว่างานที่พวกเขากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นท้ายสุดคือ การร่วมมือกันของบริษัทในอุตสาหกรรมการเงินเพื่อลดผลกระทบของสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ในขณะที่ปี 2563 ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในปี 2564 นี้วาทะดังกล่าวจะมีความเด่นชัดยิ่งกว่าเดิม โดยในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 12 พฤศจิกายน ปี 2564 สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (2021 United Nations Climate Change Conference) ซึ่งเลื่อนมาจากช่วงปลายปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 งานประชุมนี้ถือเป็นงานสำคัญที่รัฐบาลแต่ละประเทศจะนำส่งเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษในช่วงเวลาหกปีนับจากนี้ ตามข้อตกลงที่ได้ลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement)

                โดยนายสตีฟ เวย์กู้ด ที่ดำรงตำแหน่ง Chief Responsible Investment Officer ของบริษัท Aviva Investors ได้จัดตั้งแพลตฟอร์มชื่อว่า International Platform for Climate Finance เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคีสมาชิกในอุตสาหกรรมการเงินได้ร่วมกันอภิปรายวิธีการสนับสนุนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามความตกลงปารีส

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แสดงให้เห็นว่าเราทุกคนต่างเชื่อมโยงกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก หากไม่มีการจัดการกับความเสี่ยงด้าน ESG อย่างเหมาะสมก็ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเวลานี้เป็นการยากที่จะคาดเดาได้ว่าโรคระบาดครั้งใหญ่นี้จะสิ้นสุด ณ ช่วงเวลาใด แต่เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งภาคธุรกิจ รัฐบาล และสังคมต่างกำลังประสบกับความท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อน โดยหลายประเทศต้องเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า และได้ใช้มาตรการการรับมือที่เข้มข้นเพื่อจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาด ทั้งการออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่บ้าน การใช้มาตรการระยะห่างทางสังคม การทำงานจากที่บ้าน และมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีโจทย์ใหญ่ให้แก้ในทุกๆ วัน แต่เราสามารถใช้ประสบการณ์นี้ร่วมกันเพื่อพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงครับ