ปีแห่งความหวัง

ปีแห่งความหวัง

ภายใต้ปัจจัยบวก"ว้คซีน"แต่สถานการณ์โควิดยังคงผันผวนพอกับสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ขณะที่ทุกคนตั้งความหวังว่าปี 2564 แสงสว่างจะมากขึ้น

ก้าวข้ามปีแห่งความยากลำบาก 2563 ได้ครึ่งทางของไตรมาสแรกท่ามกลางภาวการณ์ต่างๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนและยังคงมีความผันผวนสูง! โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสองจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่ปะทุวนกลับมารอบสาม รอบสี่ แม้จะมีปัจจัยบวก “วัคซีน” ป้องกันโรคแล้วก็ตาม แต่กว่าจะ "ฉีด" และความสามารถในการกระจายวัคซีนได้ทั่วถึงแค่ไหน "ผลลัพธ์" จะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ประเมินกันแล้วว่าปี 2564 นี้ ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา 100% อย่างแน่นอน แม้บางภาคธุรกิจจะเริ่ม “รีสตาร์ท” ได้บ้างแล้วก็ตาม

หากแต่เครื่องยนต์หลัก “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย”  ที่เคยมีกำลังซื้อร่วม 40 ล้านคนต่อปีก่อนโควิดบวกให้ฐานผู้บริโภคในไทยพุ่งถึง 100 ล้านคนต่อปีนั้น มีส่วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงไปยังหลากหลายธุรกิจ เหมือนจะมีแสงสว่างแต่ก็ยังไม่ส่องแสง ซึ่งหลังโควิดระบาดรอบสองประเมินว่าการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นนั้นจะเห็นภาพชัดปี 2566 ทีเดียว จากการระบาดรอบแรก คาดการณ์ว่า ครึ่งหลังของปี 2565 น่าจะพอสดใสได้

มรสุมที่ถาโถมสู่ภาคธุรกิจ และประชาชน ทำให้การดำเนินกิจการและการใช้ชีวิตอยู่บนความเปราะบางทั้งสภาพคล่องทางการเงิน รูปแบบการดำเนินธุรกิจและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากวิถีเก่าสู่ นิวนอร์มอล และ เน็กซ์นอร์มอล "การเว้นระยะห่างทางสังคม" ยังคงอยู่เป็น "ตัวแปร" สำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจและชีวิตที่ไม่อาจอยู่บนแพลตฟอร์มเก่าๆ 

ฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ "เอสเอ็มอี" อยู่ในสภาพสาหัสกับการประคับประคองธุรกิจ การบริหารสภาพคล่อง การปรับโครงสร้างหนี้  การพลิกฟื้นกิจการจากวิกฤติรอบแรกต่อเนื่องรอบสอง!  ขณะที่มาตรการเยียวยาจากภาครัฐยังเป็นปัญหาสำคัญที่เอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยเข้าไม่ถึง!

อีกเครื่องยนต์หลัก “ภาคการส่งออก” ยังคงเปราะบางเช่นเดียวกับ “การบริโภคในประเทศ” ที่กำลังซื้ออ่อนแรงอย่างมาก “ภาคแรงงาน” ประสบภาวะรายได้ลดลงจนถึง "เลิกจ้าง" ที่อัตราการว่างงานขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ซ้ำเติมเศรษฐกิจ! เข้าไปอีก 

อีกดัชนีชี้วัดที่สำคัญจากภาคธุรกิจค้าปลีก ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือน ม.ค. 2564 พบว่า ปรับลดลงต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศเพิ่มขึ้น แม้จะเริ่มมีข่าวดีด้านวัคซีน แต่ยังคงต้องใช้เวลาในการวัดผลประสิทธิภาพการรักษา  ซึ่งการระบาดรอบใหม่นี้ฉุดความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือน ม.ค.2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจนเมื่อเทียบเดือน ธ.ค.2563 และปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือน เม.ย.2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดระลอกแรกที่ภาครัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตุและน่าเป็นห่วงว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัย มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นเดือน ธ.ค.2563 ก็ยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมถึงร้านประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นต่อการดำรงชีวิตดัชนีลดต่ำเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงภายใต้ "ปีแห่งความหวัง" สิ่งที่บรรดาภาคธุรกิจซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีความต้องการเร่งด่วน นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง มาตรการเยียวยา มาตรการทางด้านภาษีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการโดยเร็วเพื่อต่อลมหายใจและเดินหน้าฟื้นวงจรเศรษฐกิจ! รัฐบาลจะปักหมุด "ยุทธศาสตร์รีสตาร์ทประเทศไทย" กลับมาฉายแสงโดดเด่นในภูมิภาคนี้โดยเร็วได้อย่างไร