ควบคุมการส่งออกวัคซีน:ผลที่จะตามมา

ควบคุมการส่งออกวัคซีน:ผลที่จะตามมา

ย้อน 4 ข้อพิพาทจากการจำกัดการส่งออกและนำเข้า ที่ขัดหลักการค้าเสรีโดยมีอียูเป็นผู้เรียกร้อง ล่าสุดกรณี วัคซีนโควิด กับการพลิกบทบาทของอียู

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้แพร่ไปทั่วโลก ณ ต้นเดือน ก.พ.2564 มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกทะลุร้อยล้านคนแล้ว มีผู้เสียชีวิตกว่าสองล้านคน หลายประเทศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการระบาด เช่น การปิดเมือง ปิดประเทศ ล็อกดาวน์ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้เด็ดขาด ในตอนนี้ประเทศต่างๆ จึงฝากความหวังไว้กับ “วัคซีน” ที่จะช่วยยับยั้งการระบาดได้

เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาด ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ในหลายประเทศก็เริ่มค้นคว้าทดลองวัคซีนเพื่อต่อต้านไวรัสโควิด-19 และเริ่มทดลองในคน จนบัดนี้มีวัคซีนต่อต้านโควิด -19 ที่ได้รับการรับรองแล้วหลายราย แต่เนื่องจากกำลังการผลิตมีไม่ทันกับความต้องการของทั่วโลก จึงเกิดการแย่งวัคซีนกันขึ้นแล้ว จนมีการเรียกกันว่า “สงครามวัคซีน” คล้ายกับช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 มีปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ช่วยหายใจ ที่ประเทศผู้ผลิตบางประเทศเทศควบคุมการส่งออก

คู่สงครามวัคซีนที่ชัดเจนคือ สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เริ่มต้นมาจากช่วงต้นเดือน ม.ค.2564 สหภาพยุโรป ประสบปัญหาเรื่องความล่าช้าในกระบวนการฉีดวัคซีนให้ประชากรในชาติสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ ประเด็นข้อพิพาทแย่งวัคซีนจนเป็นสงครามวัคซีนระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร คือวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ผู้ผลิตเวชภัณฑ์รายใหญ่ระดับโลกจากสหราชอาณาจักร แจ้งต่อสหภาพยุโรป เมื่อปลายเดือน ม.ค.2564 ว่าจากเดิมที่เดิมที่ีแอสตร้าเซเนก้าและอียูตกลงเรื่องการจัดส่งวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 80 ล้านโดส ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ อาจลดลงเหลือเพียง 31 ล้านโดสเท่านั้น

ทำให้มีการกล่าวหาจากฝ่ายสหภาพยุโรปว่า แอสตร้าเซเนก้านำวัคซีนที่จะต้องส่งมอบให้สหภาพยุโรป ไปส่งมอบให้สหราชอาณาจักรแทน นายกรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศหนึ่งถึงกับกล่าวหาว่า สหราชอาณาจักร “ไฮแจ๊ควัคซีน” ในเวลาต่อมาสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในสหภาพยุโรปไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก

เมื่อพิจารณาจากหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO)ในเรื่องการค้าเสรี คือประเทศสมาชิกจะต้องไม่จำกัดการส่งออกและนำเข้า ยกเว้นมีความจำเป็นในบางกรณี จึงมีคำถามตามมาว่า การที่สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ขัดหลักการดังกล่าว หรือไม่

จากข้อมูลการเกิดข้อพิพาทจากการจำกัดการส่งออกและนำเข้าที่ผ่านมา ปรากฏว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นส่วนมากเกิดขึ้นจากการจำกัดการนำเข้า ข้อพิพาทจากการจำกัดการส่งออกของประเทศผู้ส่งออกก็มีเกิดขึ้นบ้าง ที่เป็นข่าวดังคือ

1.กรณีประเทศจีนขึ้นภาษีส่งออกและกำหนดโควตาการส่งออกวัตถุดิบที่เป็นแร่ธาตุสำคัญ 12 ชนิด สหภาพยุโรปเห็นว่า การที่ประเทศจีนใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบแร่ธาตุดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตที่จำเป็นต้องใช้แร่ธาตุดังกล่าวเป็นวัตถุดิบในการผลิต ทั้งในสหภาพยุโรป และประเทศอื่นทั่วโลก ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการการค้าเสรีและความตกลงภายใต้ WTO จึงดำเนินการตามกระบวนการกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยยื่นขอปรึกษาหารือกับประเทศจีนในเรื่องดังกล่าว เมื่อเดือน ก.ค.2559 แต่การปรึกษาหารือไม่เป็นผล สหภาพยุโรปจึงเสนอเรื่องขอให้องค์กรระงับข้อพิพาทจัดคั้งคณะผู้เจรจา พิจารณาเรื่องนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะผู้เจรจา

2. การห้ามส่งออกไม้ของยูเครน ในปี 2558 ประเทศยูเครนออกมาตรการห้ามส่งออกไม้ที่ยังไม่ได้ผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป 10 ชนิด สหภาพยุโรปได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการดังกล่าว จึงได้ยื่นเรื่องขอปรึกษาหารือกับฝ่ายรัฐบาลยูเครน แต่การปรึกษาหารือก็ไม่เป็นผล สหภาพยุโรป จึงเสนอเรื่องให้จัดตั้งอนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัย อันเนื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 การพิจารณาของคณอนุญาโตตุลาการจึงใช้วิธีดำเนินการผ่านการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ในวันที่ 11 ธ.ค.2563 คณะอนุญาโตตุลาการ จึงได้ทำคำตัดสินว่า การระงับการห้ามส่งออกไม้ของยูเครนไม่สอดคล้องกับความตกลงทวิภาคีระหว่างสหภาพยุโนปและยูเครน ที่กำหนดมิให้ใช้มาตรการในการห้ามการส่งออกสินค้า ขั้นตอนต่อไปยูเครนจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อปฏิบัติตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ

3.อินโดนีเซียกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออกแร่นิกเกิลที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตเหล็กไร้สนิม สหภาพยุโรปเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความตกลงแกตต์ 1994 ภายใต้ WTO จึงดำเนินการตามขั้นตอนของกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยยื่นเรื่องขอปรึกษาหารือกับอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2562 แต่การปรึกษาหารือไม่เป็นผล ในวันที่ 14 ม.ค.2564 สภาพยุโรปจึงดำเนินการในขั้นต่อไป โดยยื่นเรื่องให้องค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO จัดตั้งคณะเจรจาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะผู้เจรจาเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

4.ข้อสรุปจากการที่สหภาพยุโรปออกมาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนดังกล่าว องค์การอนามัยโลกก็ออกมาตำหนิว่าจะกระทบต่อการร่วมกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากกรณีข้อพิพาทการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าของประเทศต่างๆ ที่สหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจนต้องเป็นผู้ร้องให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกลไกระงับข้อพิพาทดังกล่าว

หากสหภาพยุโรปยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีนตามที่ได้ประกาศไว้ ก็จะต้องถูกประเทศต่างๆ ดำเนินการร้องเรียนตามขั้นตอนกลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก ดังเช่นที่สหภาพยุโรปดำเนินการกับประเทศที่กำหนดมาตรการจำกัดการส่งออกดังที่กล่าวมาข้างต้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง.