ทักษะแห่งอนาคต? ITYX

ทักษะแห่งอนาคต? ITYX

โลกในศตวรรษที่ 19 และ 20 มีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 21 อย่างสิ้นเชิงเป็นความท้าทายในการพัฒนา "ทักษะ" ทางด้านต่างๆ ที่จะมีผลต่อวิถีการดำรงชีพ

ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์โลกมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ระบบการศึกษา ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง ความท้าทายด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในการเตรียมนักเรียนให้พร้อมกับชีวิตในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องสำคัญของกระแสการปรับเปลี่ยนทางสังคมที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อวิถีการดำรงชีพของสังคมอย่างทั่วถึง ครูจึงต้องมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการจัดการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกในศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 โดยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการเรียนรู้ (Learning Skill) 

ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เป็นการกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ในการจัดการเรียนรู้ โดยเน้นที่องค์ความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญและสมรรถนะที่เกิดกับมนุษย์ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะอ้างถึงรูปแบบ (Model) I T Y X ที่อธิบายถึงรูปแบบลักษณะการเรียนรู้ของมนุษย์

การเรียนรู้แบบตัว I

ตัว I เป็นตัวแทนสัญลักษณ์การ เรียนรู้แบบเชิงลึก” ที่เรามักถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กด้วยคำพูดที่ว่าเก่งอะไรต้องเก่งให้จริงและไปให้สุดทาง ซึ่งจริงๆ แล้วเราควรจะมีความรู้หนึ่งแขนงที่ลงลึกและมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นแบบ Specialist เพื่อเป็นเสมือนอาวุธติดตัวของเราได้และทักษะแบบตัว I ยังเหมาะกับงานที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านจริงๆ ซึ่งข้อดีคือ เราสามารถเรียกค่าตอบแทนอัตราที่สูงได้

การเรียนรู้แบบตัว T

T ตัวอักษรที่มี 2 แกน คือ แนวนอนและแนวตั้ง จึงเป็นตัวแทนรูปแบบการเรียนรู้ทักษะ 2 ด้านควบคู่กันไป คือ แกนนอนเป็นรูปแบบการเรียนรู้แบบ รอบด้าน” คนที่มีทักษะการเรียนรู้ทั่วไปและสามารถทำอะไรได้หลากหลายอาจจะไม่ต้องเก่งแบบลงลึกมากนัก ต่อมาแกนตั้ง เป็นรูปแบบการเรียนรู้เชิงลึกเหมือนกับตัว I ที่ได้อธิบายไปเบื้องต้น ซึ่งลักษณะการเรียนรู้แบบตัว T เป็นที่ต้องการสำหรับองค์กรขนาดเล็กเนื่องจากยังไม่มีการแบ่งสายงานที่ชัดเจน จึงต้องการคนที่มีความสามารถหลายหลายด้านและมีความคล่องตัวสูง รวมไปถึงยังเป็นที่ต้องการของบริษัทในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีอีกด้วย เพราะบริษัทส่วนใหญ่ต้องการใช้คนจำนวนน้อยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

การเรียนรู้แบบตัว Y

Y เป็นการเรียนรู้ที่มากกว่าหนึ่งสาขา เมื่อเข้าสู่โลกของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงไม่มีสิ่งไหนที่เป็นตัวการันตีได้ว่าอาชีพที่เราทำอยู่นั้นมั่นคงเต็ม 100% การพัฒนาตัวเองจึงต้องเป็นแบบ Multidiscipline ที่มีความเชี่ยวชาญศาสตร์ทั้งสองด้านแบบลึกควบคู่กันไป เช่น Robert J. Lang นักฟิสิกส์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเลเซอร์ ในขณะเดียวกันก็เชี่ยวชาญศาสตร์ด้าน Origami การพับกระดาษของญี่ปุ่น ที่สามารถนำศาสตร์ 2 ด้านมาผสมกันและสามารถพับแผงโซลาร์เซลล์ให้มีขนาดเล็กเพื่อช่วย NASA ส่งแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นไปบนจรวดได้

คุณ ‘Sigve Brekke’ ประธานกรรมการบริหาร Telenor Group ได้พูดถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่ว่าพยายามหาความรู้กว้างๆ ให้มากที่สุด อย่ายึดติดกับงานแค่ประเภทเดียว พยายามลองศึกษาสายงานใหม่ เพราะโลกอนาคตมีความซับซ้อนที่สูง ดังนั้น คุณจำเป็นต้องมีความรู้ที่กว้างในหลายๆ เรื่อง

การเรียนรู้แบบตัว X

ตัวอักษร X นอกจากจะเป็นทักษะการเรียนรู้ที่หลากหลายรอบด้าน คนที่มีทักษะด้านนี้ยังมีความสามารถเป็นผู้นำได้ดี เพราะจุดศูนย์กลางของตัวอักษร X นั้นบ่งบอกถึง ความสามารถในการเชิญชวนคนจากหลากหลายสาขามาร่วมงานกันได้และเป็นเสมือนคนที่คอยประสานงานกับคนอื่นๆ ได้อีกด้วย

การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทั้ง 4 ตัวอักษรนี้ กำลังบ่งบอกเราว่า ในโลกการแข่งขันที่สูงนี้มนุษย์จำเป็นที่ต้องมีความรู้เชิงลึกและความรู้รอบด้านควบคู่กันไป เพื่อให้เราสามารถปรับตัวเท่าทันความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นที่ต้องการขององค์กรในปัจจุบัน

สุดท้ายนี้โลกของการแข่งขันในปัจจุบันไม่ได้แข่งกันแค่เรื่องธุรกิจเท่านั้น แต่เราแข่งกันที่ทักษะความสามารถการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนที่รวดเร็วด้วย