แบคทีเรียมีผลต่ออารมณ์

แบคทีเรียมีผลต่ออารมณ์

คุณเคยท้องเสียก่อนสอบสำคัญ หรือก่อนพูดก่อนแสดงบนเวที หรือรู้สึกเหมือนมีผีเสื้ออยู่ในท้องก่อนเวลาสำคัญไหมครับ

                             ถ้าตอบว่าใช่เหมือนคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในลักษณะเดียวกันก็แสดงว่าท้องกับสมองของเรามีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกัน     ปัจจุบันในวงการจิตแพทย์เริ่มเชื่อว่าอาการอารมณ์ซึมเศร้า  หม่นหมอง   หดหู่   ฯลฯ  อาจสามารถรักษาได้ด้วยการบริโภคแบคทีเรียบางตัวเพื่อให้ไปอยู่ในลำไส้  

                                    ข้อสังเกตของการเชื่อมต่อนี้มีมานับพันปีแล้ว    Hippocrates หมอกรีกโบราณผู้มีชื่อเสียง (คำสาบานของแพทย์ทั่วโลกที่รู้จักกันในนามของ Hippocratic Oath ก็มาจากท่านนี้)  เคยกล่าวว่า  “โรคทั้งหมดเริ่มในลำไส้”    โดยคาดเดาว่าน้ำดีที่ไหลออกมาจากม้ามเข้าไปในลำไส้ทำให้เกิดอารมณ์ขุ่นมัว

                        ความเชื่อนี้มีมาตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาแต่นักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจเรื่องจุลินทรีย์ในลำไส้ของมนุษย์ไม่มากนัก  เมื่อ 200 ร้อยกว่าปีก่อนหมอเชื่อว่า  depression หรือโรคซึมเศร้ามาจากการมีจุลินทรีย์ (microbes) มากเกินไปในลำไส้  แต่ก็ไม่มีงานวิจัยพิสูจน์

                        จุลินทรีย์เป็น microorganism (จุลชีพหรือสิ่งที่มีชีวิตเล็กๆ) ทำให้เกิดการหมัก(fermentation) หรือการเจ็บป่วย  ส่วนใหญ่ของจุลินทรีย์ในลำไส้คือ แบคทีเรียซึ่งมีทั้งร้ายและดี (ต่ำกว่า 1% ที่ก่อให้เกิดโรค)

หลายทศวรรษที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญไม่เชื่อว่าแบคทีเรียในลำไส้ของเรามีผลต่อสุขภาพจิต จนมีหลักฐานมากขึ้นทุกทีว่าสิ่งมีชีวิตเล็ก  ที่อยู่ในลำไส้ของเรามีผลกระทบต่อการคิดและพฤติกรรมอย่างลึกซึ้ง    งานศึกษาวิจัยจำนวนมากทั่วโลกในปัจจุบันสนับสนุนแนวคิดที่ว่าจุลชีพเหล่านี้สามารถทำให้สุขภาวะของร่างกายเราดีขึ้น   

                         ไม่น่าเชื่อว่าในร่างกายของเรามีจำนวนจุลชีพมากกว่าจำนวนเซลล์ในร่างกายของเรากล่าวคือ เซลล์แบคทีเรียซึ่งเป็นจุลชีพมีจำนวนประมาณ 1-1.3 เท่าของจำนวนเซลล์ของร่างกาย  ลำไส้มนุษย์มีแบคทีเรียอยู่มากกว่า 100 ล้านล้านตัว โดยมีระบบการพึ่งพิงกันอย่างซับซ้อน   ในขณะที่มนุษย์มียีนอยู่ประมาณ 25,000 ยีนแต่แบคทีเรียเหล่านี้รวมกันมียีนอยู่ถึง 3 ล้านยีน  หลายตัวของยีนของแบคทีเรียช่วยการย่อยอาหาร และ กีดกันแบคทีเรียที่มีพิษซึ่งทำให้มีผลต่ออารมณ์   แบคทีเรียในลำไส้ของเราผลิตประมาณ 90% ของ serotonin ในร่างกายของเรา (serotonin คือ happy hormone ซึ่งกำกับอารมณ์ของเราและส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ)

                        ในปัจจุบันยาสำคัญยอดนิยมที่ช่วยแก้ไขโรคซึมเศร้าคือ Fluoxetine (ชื่อยาที่ไม่ใช่การค้า) ซึ่งช่วยในการหลั่งของสาร serotonin   อย่างไรก็ดีเมื่อใช้ไปนานเข้าก็มีการดื้อยาและได้ผลน้อยลง   ดังนั้นการค้นหาตัวแบคทีเรียที่ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นจึงน่าสนใจอย่างยิ่ง    ปัจจุบันมีชื่อเรียกกลุ่มแบคทีเรียและยีสต์ดีที่อยู่ในลำไส้เหล่านี้ว่า probiotics

                        มีงานศึกษามากขึ้นว่าบางตัวของ probiotics ทำให้สุขภาวะของร่างกายดีขึ้นและมีงานวิจัยพบว่ามันสามารถช่วยรักษากลุ่มอาการเรื้อรังที่เป็นกันมากดังที่เรียกว่า IBS  (Irritable Bowel Syndrome) กล่าวคือเกิดมีความผิดปกติที่ก่อให้เกิดผลต่อลำไส้ใหญ่     คนป่วยมีอาการปวดท้อง  อาการเกร็งในท้อง   มีก๊าซ    ท้องผูกหรือท้องเสีย   หรือเป็นทั้งสองอย่าง

                        กลุ่มแบคทีเรียนี้มีผลต่อสุขภาพจิตของมนุษย์แต่จำเป็นต้องรอการพิสูจน์จากการทดลองในมนุษย์อย่างกว้างขวาง (บัดนี้พบแล้วว่าแบคทีเรียบางตัวมีผลดีต่อการรักษาสุขภาพจิตของหนู   แต่ถ้าไม่มีการทดลองในมนุษย์อย่างแท้จริงแล้วก็เรียกได้แค่ว่าช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้ในหนูชนิดที่ปากไม่แดงอย่างไรก็ดีมนุษย์ไม่อาจรอคอยได้   ดังนั้นในปัจจุบันจึงบริโภคแบคทีเรียกลุ่มนี้กันโดยบริโภคอาหารหมักดองเช่น sauerkraut (ผักกาดดองเปรี้ยวกินกับไส้กรอกของคนเยอรมัน)  โยเกิร์ต  Kefir (นมที่มีการหมักฯลฯ  ซึ่งมีแบคทีเรียตัวที่มีผลต่อการต้านอาการซึมเศร้าเช่น Lactobacillus  helveticus  /   Lactobacillus  acidophilus ฯลฯ

                        มีหลักฐานว่าการบริโภคแบคทีเรียดังกล่าว ช่วยปรับให้มีอารมณ์ดีขึ้นและเชื่อกันไปถึงว่าทำให้สุขภาพดี     ปัจจุบันมีการค้าอาหารเสริมเหล่านี้โดยเฉพาะแบคทีเรียสองตัวนี้อย่างกว้างขวางในต่างประเทศและบ้านเรา   อย่างไรก็ดีมีคำเตือนว่าควรระวังด้วยเพราะอาจมีความเสี่ยง    FDA หรือองค์กรดูแลรับรองอาหารและยาของสหรัฐที่เป็นผู้นำของโลกยังมิได้รับรองอาหารเสริมประเภทนี้

                        Lactobacillus  helveticus และแบคทีเรียชื่อ Bifidobacterium  longum สองคู่ชู้ชื่นนี้ปัจจุบันมีการผลิตออกมาเป็นอาหารเสริมขายกันอย่างกว้างขวางชนิดที่เรียกว่า mood  probiotics   ถึงแม้จะต้องระวังแต่ก็มีหลักฐานจากงานวิจัยในมนุษย์ว่าสามารถช่วยทำให้อาการซึมเศร้าลดลง โดยเชื่อว่าไปลดระดับของฮอร์โมน cortisol ที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด

                        แบคทีเรียสายพันธุ์ probiotics ที่รู้จักกันมากอีกตัวก็คือ Lactobacillus acidophilus       ในการวิจัยพบว่าช่วยรักษาอารมณ์ของสัตว์ที่ทดลองได้ดี   อีกทั้งช่วยทำให้ผนังลำไส้แข็งแรงจนสามารถป้องกันไม่ให้สารที่ก่อให้เกิดการอักเสบเดินทางเข้าสู่สมองได้

                        ในทศวรรษที่ผ่านมา  งานศึกษาหลายชิ้นระบุว่าแบคทีเรียในลำไส้ผลิตสารหลายอย่างที่มีผลต่ออารมณ์ทั้งดีและไม่ดีสำหรับสุขภาพจิต  และพบอีกว่าสารเหล่านี้มิได้เดินทางจากลำไส้สู่สมองโดยผ่านกระแสเลือด      หากแต่มีช่องทางใหญ่ที่ผ่านคือประสาทที่มีชื่อว่า vagus nerve ซึ่งทำหน้าที่คล้ายถนนซูเปอร์ไฮเวย์ระหว่างสมอง    ลำไส้   และอวัยวะอื่น  ในร่างกายของเรา

                        หากมีงานศึกษาในมนุษย์จนสิ้นสงสัยและมีการนำไปใช้ เพื่อรักษาเชิงจิตแพทย์แล้วก็จะเป็นประโชน์ต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง  ระหว่างนี้หากบริโภคก็ต้องระวังไว้บ้างโดยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาที่ลวงให้เสียเงินเกินกว่าที่ควร.