งานที่หายไปตอนโควิด-19 อาจจะไม่กลับมา

งานที่หายไปตอนโควิด-19 อาจจะไม่กลับมา

โควิดทำให้ธุรกิจหลายประเภทต้องพบกับสถานการณ์ที่ลูกค้าแทบหายไปจนหมด  เป็นการหายไปอย่างต่อเนื่องยาวนานจนไม่รู้ว่าลูกค้าจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ 

โดยเฉพาะธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  จำนวนคนตกงาน  จำนวนคนที่ชั่วโมงทำงานลดลง  และจำนวนคนที่เสี่ยงจะตกงานเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้  หลายสำนักได้ประมาณการกันไว้ว่าตัวเลขรวมของคนสามกลุ่มนี้น่าจะไม่น้อยกว่า 2 ถึง 5 ล้านคน  ตัวเลขนี้ดูเหมือนสูง  แต่ความจริงแล้ว  ตัวเลขอาจสูงได้มากกว่านี้อีก  เพราะตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบสืบเนื่องในภาคเศรษฐกิจอื่นที่เริ่มจะเผยอาการให้เห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563

            แผนภูมิที่แสดงไว้เป็นอัตราการอัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้มีงานทำที่เป็นลูกจ้างจำแนกตามประเภทของธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ในปี 63 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นความรุนแรงของการตกงานในธุรกิจนั้น  จะเห็นได้ว่าธุรกิจตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุด  ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในธุรกิจนี้ลดลงไปถึงราว 30.42%  ธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านอาหารมีอัตราที่น้อยกว่าโดยลดลงราว 6.78% 

อัตราการเปลี่ยบนแปลงของผู้มีงานทำที่เป็นลูกจ้างในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2562

161243733291

ที่มา คำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติในไตรมาสที่ 3 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2562 

 

            อย่างไรก็ตาม  ประเด็นที่น่าสนใจคือ  ธุรกิจที่มีอัตราการลดลงมากที่สุดอันดับที่ 2 ถึงอันดับที่ 5 คือ  การผลิตรองเท้าและเครื่องหนัง  การผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ  อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ บริการด้านความสวยงาม และการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง  แต่เป็นธุรกิจที่พึ่งพอการส่งออกและกำลังซื้อภายในประเทศ  สะท้อนให้เห็นว่าผลจากโควิดได้แพร่ไปแทบทุกภาคเศรษฐกิจแล้ว

            ตั้งแต่ปลายปี 63 จนถึงวันนี้เราได้รับทราบข่าวของโรงงานที่ต้องปิดกิจการอยู่บ่อยครั้ง  ซึ่งไม่ได้เป็นการปิดชั่วคราว  เพราะมีการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างอย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อนปิดกิจการ  การเลิกจ้างในลักษณะนี้  หากต้องกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งจะมีต้นทุนในการจ้างสูงขึ้น  นายจ้างเองก็รู้ดีว่า  ถ้าจ้างคนกลับมาทำงานเหมือนเดิม  ในอนาคตหากต้องเจอกับสถานการณ์ที่บีบให้ต้องเลิกจ้างขนานใหญ่แบบนี้อีก  ก็จะเกิดต้นทุนซ้ำขึ้นมาเป็นมูลค่าที่สูง  ดังนั้น  ทางเลือกที่ดีที่สุด  หากต้องการจ้างคนกลับมาทำงานคือการปรับโครงสร้างธุรกิจ  แล้วเลือกเฉพาะคนที่ทำงานเก่ง  ทำงานดี  ทำงานได้หลากหลาย  เพื่อให้ธุรกิจมีความคล่องตัวสูง  รวมถึงจะต้องใช้คนให้น้อยที่สุด

            การเลือกใช้คนให้น้อยที่สุดหมายความว่า  ถ้าวันนี้มีคนตกงาน 100 คน  เกิดปีหน้าเศรษฐกิจกลับมาดีเหมือนเดิม  ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเหล่านี้จะจ้างคนกลับมาร้อยคนเหมือนเดิม  มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่า  ธุรกิจอาจจ้างคนกลับมาเพียง 50 ถึง 60 คนเท่านั้น  ส่วนคนอีก 40  ถึง 50 คนที่เหลือต้องไปหางานในธุรกิจอื่น  อุตสาหกรรมอื่น  หรืออาจต้องพาครอบครัวย้ายถิ่นเพื่อไปหางานเสียด้วยซ้ำ

            จริง ๆ แล้วหาเจาะลึกไปยังกลุ่มที่ตกงานในทุกธุรกิจ  แรงงานที่มีทักษะฝีมือต่ำมีโอกาสตกงานก่อน  ด้วยระดับฝีมือแบบนี้  การไปหางานใหม่ในธุรกิจอื่นหรืออุตสาหกรรมอื่นย่อมเป็นเรื่องยาก  ได้งานที่ค่าตอบแทนต่ำ  การจ้างงานเป็นสัญญาจ้างชั่วคราว  สิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตของตัวเองและครอบครัว

            แล้วแรงงานเหล่านี้มีทางเลือกอะไรเหลือให้กับตัวเองบ้าง?

            เขาจะหางานใหม่โดยใช้ทักษะที่มีอยู่ก็คงได้งานระดับพอเอาตัวรอดไปวัน ๆ เท่านั้น  หากจะออกมาทำอาชีพอิสระในตอนที่เศรษฐกิจไม่ดี  โอกาสขาดทุนมีสูง  ใครโชคดีหน่อยมีบ้านในชนบทให้กลับ  ก็ยังพอประคองตัวไปได้  แต่ถ้าไม่มีที่ให้กลับไปแล้วล่ะ  พวกเขาจะทำยังไง?

            การคิดนโยบายเพื่อช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ที่ต้องตกงานด้วยเหตุปัจจัยที่ไม่ปกติ  และเป็นการตกงานแบบถาวร  การออกแบบนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบนี้จะใช้สูตรสำเร็จเหมือนตอนเศรษฐกิจตกต่ำในอดีตไม่ได้  เพราะบริบทแตกต่างกัน 

            ทางออกที่ยังมองไม่เห็นควรเริ่มจากการยอมรับความจริงว่า  เราได้เข้าสู่โลกที่ไม่เหมือนเดิม  นโยบายการสร้างงานที่นำมาใช้จึงต้องแตกต่างไปจากเดิมด้วย  โดยควรเริ่มจากการยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า  จากนี้ไปในบางธุรกิจคนจะกลายเป็นภาระที่ธุรกิจต้องทำให้เหลือน้อยที่สุด.