ผู้นำกับการเปลี่ยนแปลง

ผู้นำกับการเปลี่ยนแปลง

ทุกวันนี้ก็คือเวลาของการปรับเปลี่ยนที่แท้จริง ยิ่งเฉพาะ ธุรกิจอุตสาหกรรม ต้องเร่งเรียนรู้ให้เร็วขึ้น เร่งพัฒนาองค์กรและคน ซึ่งสำคัญที่สุด

ตราบเท่าทุกวันนี้ คนที่อยู่รอดได้ ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีที่สุด (Survival of the fittest) นี่คือ คำกล่าวของ “ชาลส์ ดาร์วิน” ที่เป็นอมตะที่เรากล่าวอ้างกันบ่อยๆ

ยิ่งในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยแล้ว ต้องเผชิญกับความท้าทายของ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ของที่มีอยู่เดิมใช้ไม่ได้ต่อไป (Disruption) ด้วยแล้ว กิจการใดที่ปรับเปลี่ยนไม่ทัน ก็จะเลิกกิจการหรือจากหายไปจากตลาด แต่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ก็สร้างธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เติบโตขึ้นมามากมายเช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงทุกประเภท จึงต้องถือว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย แต่ที่สำคัญก็คือ “การปรับตัว” ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนก็จะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงด้วย โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ ภาคราชการและภาคบริการ รวมทั้งประเทศเองก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย

ปัญหาในวันนี้ ก็คือ เราควรจะปรับตัวอย่างไร และต้องทำเร็วช้าอย่างไร จึงจะเหมาะสมทันการ ว่าไปแล้ว ทุกวันนี้ก็คือเวลาของการปรับเปลี่ยนที่แท้จริง และไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงจะมีความยากลำบากเพียงใด เราจะต้องรู้จักใช้ “โอกาส” จากเทคโนโลยี จากองค์ความรู้ จากสภาพแวดล้อม และสภาพการเมืองให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

ธุรกิจอุตสาหกรรมในวันนี้ จึงต้องเร่งปรับตัวด้วยการเร่งเรียนรู้ให้เร็วขึ้นและเร่งพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะ “การพัฒนาคน” ให้พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุค 4.0 ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) และ ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อความอยู่รอดและแข่งขันต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

ในระดับประเทศก็เช่นกัน เพื่อให้ก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างภาคภูมิใจได้นั้น เราจำเป็นจะต้องขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยการปรับเปลี่ยนใน “มิติหลัก” อย่างสอดคล้องกัน ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนแต่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องของการดำเนินธุรกิจการค้า หรือเพียงภาคอุตสาหกรรม แต่ยังต้องรวมถึงภาคบริการ ภาคสังคม ภาคการศึกษาและอื่นๆ ด้วย

เราควรจะต้องมุ่งสู่การสร้างฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อการพัฒนาสู่ความเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งฐานของการพัฒนานี้จำเป็นจะต้องทำทั้งประเทศอย่างสอดคล้องกัน ทั้งทางด้าน “ทักษะหลัก” (hardware) และ “ทักษะเสริม” (software) โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเข้มข้นในรูปแบบที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เกิด “นวัตกรรม” ในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง

ทักษะใหม่ในอนาคตสำหรับโลกยุค New Normal (อันเนื่องมาจากผลพวงของสถานการณ์โควิด-19) ได้แก่ (1) ทักษะหลักที่จำเป็นเร่งด่วนตามสาขาอาชีพ คือ ทักษะด้านความรู้ทางวิชาชีพโดยตรงที่ใช้ในการทำงาน ความสามารถในการใช้เทคนิคต่างๆ ในการทำงานที่สามารถสอนกันได้ และวัดผลความรู้ความสามารถนั้นได้ด้วย และ (2) ทักษะเสริมทั่วไป คือ ทักษะที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องการ เพื่อตอบสนองกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งวิธีการบริหารจัดการ เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพของความร่วมมือเพื่อการดำเนินงานภายในองค์กร

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ “การพัฒนาคน” จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเทคโนโลยีมีเงินก็ซื้อได้ แต่การพัฒนาคนนั้นต้องใช้เวลาและใช้แนวทางที่ถูกต้องด้วย การพัฒนาคนให้สามารถใช้และเข้ากับเทคโนโลยีนั้น จะต้องทำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ

“ผู้นำ” จึงต้องรู้ถึง “เวลาที่เหมาะสม” ในการเปลี่ยนแปลง และสามารถโน้มน้าวชักนำผู้ตามและทีมงานให้ร่วมแรงร่วมใจดำเนินการไปสู่เป้าหมายขององค์กรได้

แต่บ่อยครั้ง ผู้นำองค์กรก็ปล่อยให้เกิดความเสียหายมากมายจาก “ความล่าช้า” ไม่ทันการ ครับผม!