การพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยและอื่นๆ       

การพิทักษ์รักษาประชาธิปไตยและอื่นๆ       

ทำความเข้าใจความหมายของ ประชาธิปไตย และ เสรีประชาธิปไตย ในทัศนะของสองนักวิชาการระดับโลก และสิ่งที่จะโค่นล้มพลังประชาธิปไตย

           โรเจอร์ สกรูตัน (Roger Scruton) ศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ชาวอังกฤษ (1944-2020) ได้กล่าวถึง ประชาธิปไตยไว้ในข้อเขียนที่ชื่อ ขอบเขตจำกัดต่อประชาธิปไตย (Limits of Democracy) ในปี 2006 ว่า “อย่างที่ทราบกันว่า คำว่า Democracy มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ ดังนั้น ประชาธิปไตย จึงเป็นความคิดที่เก่าแก่โบราณ อย่างน้อยกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว และนักคิดกรีกโบราณได้เตือนให้ตระหนักว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายรูปแบบการปกครองเท่านั้น ไม่ได้มีคุณค่าอะไรพิเศษในตัวเองเหนือรูปแบบการปกครองอื่นๆ”    

ในขณะที่ ฟรานซิส ฟูคุยามา ศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอเมริกัน อายุ 68 ปี ได้กล่าวไว้ในข้อเขียนชื่อ The End of History? ในปี 1989 ว่า  ...มีความเห็นพ้องต้องกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความชอบธรรมของ เสรีประชาธิปไตย’ (Liberal Democracy) ในฐานะที่เป็นระบอบการปกครองที่ได้เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ประชาธิปไตยได้ชัยชนะเหนืออุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นระบอบกษัตริย์ ฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์...ระบอบเสรีประชาธิปไตยอาจจะสถาปนา ‘เป้าหมายสุดท้ายของพัฒนาการทางอุดมการณ์ของมนุษยชาติ’ และเป็น ‘รูปแบบการปกครองสุดท้าย’ ของมนุษย์”

ทัศนะที่นักวิชาการระดับโลกทั้งสองมีต่อประชาธิปไตยแตกต่างกัน สกรูตันมิได้เห็นว่า ประชาธิปไตยมีความพิเศษอะไรมากไปกว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบการปกครอง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีข้อดีข้อเสีย   ส่วนฟูคุยามาดูจะยกย่องประชาธิปไตยอย่างยิ่งยวด ถึงขนาดเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นระบอบการปกครองที่เป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับมนุษยชาติเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ประชาธิปไตยในความคิดของทั้งสองนี้อาจจะไม่ใช่ ‘ประชาธิปไตยเดียวกันเพราะสกรูตันใช้คำว่า ประชาธิปไตย โดยไม่ได้มีคำว่า เสรี(Liberal) กำกับไว้เสมออย่างของฟูคุยามา อีกทั้งในขณะที่สกรูตันบอกว่า ประชาธิปไตยเป็นความคิดที่เก่าแก่โบราณมีอายุอย่างน้อย 2,500 ปี แต่ฟูคุยามากำลังพูดถึง ‘ประชาธิปไตยในปัจจุบัน’ และมองว่าเป็นการพัฒนาอุดมการณ์ทางการเมืองขั้นสูงสุดของมนุษย์

แม้ว่าทั้งสองดูจะมีทัศนะต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน แต่แล้วทั้งสองก็ถูกจัดให้เป็นนักวิชาการในแนวอนุรักษ์นิยมด้วยกันทั้งคู่!

            เสรีประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ มีความแตกต่างจากประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ข้อความที่ว่า ‘ตัดสินด้วยเสียงข้างมาก แต่ต้องเคารพเสียงข้างน้อยไม่มีในประชาธิปไตยกรีกโบราณ เพราะประชาธิปไตยกรีกโบราณดูท่าทางจะยังไม่ได้พัฒนาอะไรมาก ถือเป็นประชาธิปไตยแบบดิบๆ เอาเสียงข้างมากเป็นที่ตั้ง

อีกทั้งคำว่า ‘นิติรัฐ นิติธรรมก็ไม่มีความสำคัญอะไรสำหรับประชาธิปไตยกรีกโบราณ ทั้งหลักที่ว่า เสียงข้างมากจะทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ นั่นคือ จะต้องไม่ขัดกับพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพอันเสมอกันของปัจเจกบุคคล รวมทั้งจะต้องไม่ขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เสียงข้างมากจะต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นที่รู้จักในประชาธิปไตยกรีกโบราณ รวมทั้งหลักการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจก็ไม่เป็นที่รู้จักสำหรับประชาธิปไตยกรีกโบราณ เสรีภาพของสื่อสาธารณะก็ยังไม่เกิดขึ้นในประชาธิปไตยกรีกโบราณ และที่สำคัญคือ ประชาธิปไตยกรีกโบราณไม่มีการเลือกตั้งตัวแทนให้เข้าไปประชุมสภาและตัดสินใจแทนประชาชน เพราะประชาธิปไตยกรีกโบราณให้ประชาชนเข้าไปตัดสินกิจการสาธารณะด้วยตนเอง แต่เสรีประชาธิปไตยไม่ให้!

            เมื่อ ‘เสรีประชาธิปไตยแตกต่างอย่างยิ่งจาก ประชาธิปไตย มันก็เป็นไปได้ว่า สกรูตันและฟูคุยามาอาจไม่ได้ขัดแย้งกัน เพราะถ้าไปถามสกรูตันเกี่ยวกับ เสรีประชาธิปไตยเขาก็อาจจะไม่ได้มีความเห็นเหมือนกับที่เขากล่าวถึง ประชาธิปไตยและเช่นกัน เมื่อไปถามฟูคุยามาเกี่ยวกับ ประชาธิปไตยกรีกโบราณเขาก็อาจไม่ได้รู้สึกชื่นชมโสมนัสเหมือน ประชาธิปไตยสมัยใหม่หรือ เสรีประชาธิปไตย

            เมื่อ ‘เสรีประชาธิปไตย ไม่ใช่ ประชาธิปไตยมันก็อาจเป็นไปได้ด้วยว่า เสรีประชาธิปไตยอาจจะเป็น คำตอบสุดท้ายหรือ ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดสำหรับมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แต่ถ้า ประชาธิปไตยของสกรูตันไม่ใช่ ประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่กำลังใช้กันเกือบจะทั่วทั้งโลกขณะนี้ แล้วเขาเขียน Limits of Democracy ขึ้นมาทำไมในปี 2006? เพราะข้อความข้างต้นในข้อเขียนดังกล่าวของเขาดูเหมือนต้องการจะ เตือนผู้คนในปัจจุบันไม่ให้ชื่นชมประชาธิปไตยมากเกินไป โดยเขาอ้างถึงข้อจำกัดของประชาธิปไตยที่นักคิดทางการเมืองกรีกได้ติงไว้  

แต่ก็น่าฉุกคิดเหมือนกันว่า ข้อท้วงติงต่อประชาธิปไตยที่นักคิดกรีกโบราณได้ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกทางความคิดด้านการเมืองก็น่าจะเป็นข้อท้วงติงที่พวกเขามีต่อประชาธิปไตยที่พวกเขารู้จัก นั่นคือ ‘ประชาธิปไตยกรีกโบราณ มากกว่า เสรีประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังที่พวกเขาตายไปแล้วนับสองพันปี!

ดังนั้น ข้อเขียนของสกรูตันที่นำข้อติงของนักคิดกรีกโบราณ จะมีความสำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับคนปัจจุบันได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขของยุคสมัย เห็นจะเป็นสิ่งที่ ‘ประชาธิปไตยและ เสรีประชาธิปไตยมีร่วมกันอยู่  

ข้อเตือนสติที่นักคิดกรีกโบราณได้ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังเกี่ยวกับระบอบการปกครองที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตยก็คือ สิ่งที่เป็นพลังก่อร่างสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาแทนที่ระบอบการปกครองอื่นๆ คือสิ่งเดียวกันที่จะโค่นล้มทำลายประชาธิปไตยด้วย และนี่อาจจะเป็นที่มาของการที่สกรูตันกล่าวว่า ประชาธิปไตยนั้นเป็นเพียงหนึ่งในหลากหลายรูปแบบการปกครองเท่านั้น ไม่ได้มีคุณค่าอะไรพิเศษในตัวเองเหนือรูปแบบการปกครองอื่นๆ”  เพราะต่างไม่คงกระพันยั่งยืนทั้งสิ้น ต่างมีจุดอ่อนในตัวเองทั้งสิ้น และจุดอ่อนของประชาธิปไตยก็คือสิ่งที่เป็นพลังก่อร่างสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา และสิ่งที่เป็นพลังสำคัญของประชาธิปไตยก็คือ เสรีภาพและความเสมอภาค  แล้วเสรีภาพและความเสมอภาคจะโค่นล้มทำลายประชาธิปไตยได้อย่างไร ?       

  ก็คงไม่ต่างจากทุนนิยม ที่ในที่สุดแล้ว จุดแข็งก็จะกลายเป็นจุดอ่อนของตัวมันเอง  นั่นคือ ผลกำไร ความมั่งคั่ง สิทธิ์ในการครอบครองทรัพย์สินจากเงื่อนไขใครทำมากได้มาก ฯลฯ ทุกรูปแบบทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ---หากไม่รู้จัก ความพอดี หรือสิ่งที่สกรูตันใช้คำว่า ข้อจำกัด” (limits) ของจุดแข็งของตัวเอง---ต่างเดินไปสู่จุดเสื่อมของตัวมันเองเสมอ.                       

               (ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน WayMagazine เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555)