ตอกย้ำความจริง เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ (แต่ก็จะไม่ดีมาก)

ตอกย้ำความจริง เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ (แต่ก็จะไม่ดีมาก)

คำถามที่ผู้เขียนมักได้รับเสมอ ๆ ในช่วงนี้ คือ ตกลงเศรษฐกิจในปีนี้จะดีหรือแย่กันแน่ เพราะประมาณการเศรษฐกิจมีทั้งแง่บวกและแง่ถดถอย

       เมื่อปลายปี นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เพิ่งประกาศประมาณการเศรษฐกิจ โดยมีมุมมองในแง่บวก แต่หลังจากปีใหม่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ถึงเดือน ต่างรีบปรับประมาณการเศรษฐกิจลงเป็นทิวแถว 

 เมื่อปลายปี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และส่วนใหญ่ก็มองว่า โมเมนตัมของการฟื้นตัวจะต่อเนื่องในไตรมาส 4 และยาวต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากมีการอนุมัติวัคซีน และนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน 

แต่หลังจากการระบาดรอบใหม่เริ่มส่งสัญญาณลบต่อเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ประกอบกับปัญหาเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐเมื่อปลายปีที่ล่าช้า การปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในยุโรป รวมถึงการระบาดที่มากขึ้นในเอเชียโดยเฉพาะในไทย ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจปลายปี (ที่ประกาศในต้นปีนี้) เริ่มส่งสัญญาณชะลอลง ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ (โดยเฉพาะในไทย) ที่เคยมองภาพบวกมากเริ่มกังวลและปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง

 ภาพชัดมากขึ้นเมื่อ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกขึ้นในปีนี้จากความคาดหวังวัคซีนว่าจะมีการฉีดให้กับประชากรของประเทศพัฒนาแล้วครบ 70% (หรือที่เรียกว่าเกิด Herd Immunity) รวมถึงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นหลัก จนปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 3.1% เป็น 5.1% และญี่ปุ่นจาก 2.3% เป็น 3.1% ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อนแรงขึ้น จาก 5.2% เป็น 5.5%

 แต่ที่น่ากังวลคือ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจที่อื่น ๆ ลง โดยเฉพาะยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยของไทย ปรับลงแรงจาก 4.0% ถึง 2.7% โดยน่าจะเป็นเพราะการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอันเป็นผลจากการระบาดรอบสอง ซึ่งภาพดังกล่าว สอดคล้องกับการปรับประมาณการเศรษฐกิจของสำนักวิจัยในไทยหลายแห่ง ทั้งทางการและเอกชน

สำหรับผู้เขียน มองต่างจาก IMF และสำนักวิจัยอื่น ๆ โดยในปลายปีที่แล้ว ผู้เขียนไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวรุนแรงในระดับ 4-5% หลังจากหดตัวในระดับ 6-7% ในปี 2020 เพราะไม่ได้เชื่อมั่นในการมาของวัคซีน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีไบเดนมากนัก โดยเชื่อว่าการอนุมัติ แจกจ่าย และการฉีดวัคซีนจะมีความล่าช้าทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ทำให้การระบาดรอบสองมีความเป็นไปได้ ขณะที่นโยบายไบเดน ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความร่วมมือด้านการค้ากับพันธมิตรต่าง ๆ (เพื่อกดดันจีน) ก็จะมีอุปสรรค (Roadblock) บ้าง ทำให้ไม่สามารถทำได้เต็มที่นัก

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ผู้เขียนมีมุมมองเมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจปีนี้คงโตต่ำในรูปแบบ 4-3-2-1 กล่าวคือ การบริโภคจะขยายตัวดีกว่าเศรษฐกิจที่ประมาณ 4% เศรษฐกิจจะโตประมาณ 3% การลงทุนและการส่งออกที่แท้จริง (ที่รวมทั้งสินค้าและบริการ) จะโตประมาณ 2% ขณะที่เงินเฟ้อจะโตประมาณ 1% (หรือต่ำกว่าเล็กน้อย)

 และเมื่อการระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ในไทยเริ่มเมื่อครึ่งหลังของเดือน ธ.ค. ผู้เขียนก็เชื่อว่าการระบาดรอบนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่ารอบที่แล้ว โดยตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนจะหดตัวอย่างมากประมาณครึ่งหนึ่งของการหดตัวในรอบแรก และทางการจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะการบริโภค) เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว

 โดยจากการติดตามการเบิกจ่ายงบ พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาทที่ออกเมื่อกลางปีที่แล้ว พบว่าในส่วนของงบเยียวยา (เช่น โครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" โครงการช่วยเหลือเกษตรกร และงบสาธารณสุข) ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาทนั้น มีเงินพร้อมใช้ได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ในขณะที่งบฟื้นฟูที่วงเงิน 4 แสนล้านบาท ยังมีเงินที่ไม่ได้อนุมัติและพร้อมใช้ได้อีกประมาณ 3 แสนล้านบาท

 ฉะนั้น เมื่อทางการประกาศว่าจะออกมาตรการ "เราชนะ" ที่วงเงินประมาณ 2.1 แสนล้านบาทนั้น ผู้เขียนไม่ประหลาดใจเลย และคาดไว้แล้วว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ประมาณ 0.5% ซึ่งจะหักกลบลบกับเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากประมาณการเดิมประมาณ 0.5% อันเป็นผลจากการระบาดรอบสอง

 ในสมมติฐานเมื่อต้นปีนั้น เชื่อว่าการปิดเมืองจะเป็น "Soft Lockdown" โดยปิดกิจกรรมเศรษฐกิจใน 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นจะค่อยทยอยเปิด ทำให้เศรษฐกิจในเดือน ม.ค. จะตกต่ำสุดในรอบนี้ และค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะภาคการบริโภค

 แต่หลังจากนั้น เม็ดเงินที่ได้จากการการเร่งเบิกจ่ายโครงการ "เราชนะ" จะเริ่มทำให้เศรษฐกิจหมุนขึ้นในเดือน ก.พ.-มี.ค. ทำให้เศรษฐกิจหดตัวในไตรมาสแรก ขณะที่จะเริ่มฟื้นตัวขึ้นรุนแรงในไตรมาส 2 จากปัจจัยฐานต่ำ และจากมาตรการกระตุ้น ประกอบกับอุณหภูมิที่อุ่นขึ้น ทำให้การระบาดลดลงจนแทบหายไปอีกครั้ง

 แต่ภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จะเป็นภาคการท่องเที่ยว ที่ทำให้รัฐบาลประกาศเปิดการท่องเที่ยวล่าช้าขึ้น และอาจต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่จะประกาศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้ประมาณการนักท่องเที่ยวในปีนี้เหลือประมาณ 5 ล้านคน

 แต่เศรษฐกิจจะได้รับปัจจัยบวกเพิ่มขึ้นจากการส่งออกสินค้า โดยหากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอันดับหนึ่งและสองของโลกอย่างสหรัฐและจีนแล้วนั้น ย่อมจะทำให้ความต้องการสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และยิ่งเผชิญกับปัจจัยฐานต่ำด้วยแล้ว ทำให้การฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกในระดับ 6% เป็นไปได้ 

และด้วยมุมมองเช่นนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจแบบ 4-3-2-1 ก็ยังคงอยู่ โดยการบริโภคอาจมีความเสี่ยงบ้างในไตรมาสแรก แต่จะฟื้นตัวแรงขึ้นในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้ใกล้เคียง 3% การลงทุนและการส่งออกสินค้าและบริการน่าจะยังอยู่ระดับต่ำที่ 2% (โดยส่งออกสินค้ามีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น แต่ส่งออกบริการมีแนวโน้มเป็นลบ) และเงินเฟ้อที่เข้าใกล้ 1%

 แม้เศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้แย่มาก แต่จะมีบางภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะในเขตที่เกิดการระบาด รวมถึงกลุุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ซึ่งผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ และหวังว่ามาตรการของภาครัฐจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

 เศรษฐกิจไทยปัจจุบันไม่ได้แย่ แต่ในอนาคตจะไม่ดีมาก ท่านผู้อ่านทั้งหลาย โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่