ตั้งค่า WhatsApp และ Telegram ให้ปลอดภัย

ตั้งค่า WhatsApp และ Telegram ให้ปลอดภัย

ควรตั้งค่าการยืนยันตัวตนหลายขั้นตอนเพื่อป้องกันไม่ให้บัญชีผู้ใช้ถูกคุกคาม

เมื่อไม่นานมานี้วอทส์แอพ (WhatsApp) ได้ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเฟซบุ๊ค จนทำให้ผู้ใช้งานหลายคนที่ไม่อยากแชร์ข้อมูลตัวเองไปให้เฟซบุ๊คพากันย้ายการใช้งานแอพพลิเคชั่นไปที่เทเลแกรม(Telegram) แอพพลิเคชั่นที่มีชื่อเสียงด้านการให้ความสำคัญในการรักษาข้อมูลของผู้ใช้

เทเลแกรม เป็นแอพพลิเคชั่นที่มีการเข้ารหัสข้อมูลแบบ End-to-End Encryption (E2EE) คือการเข้ารหัสระหว่างคู่สนทนาสองคนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง บุคคลที่ 3 หรือแฮกเกอร์ไม่สามารถดูข้อความที่ส่งถึงกันได้ แต่การเปิดใช้งาน E2EE นี้ไม่ได้ถูกตั้งเป็นค่าเริ่มต้น (Default) ผู้ใช้ต้องเข้าไปตั้งค่าเอง นั่นทำให้ผมอยากจะมาแนะนำวิธีตั้งค่าแอพพลิเคชัน 2 ตัวนี้ให้ท่านผู้อ่านใช้งานได้อย่างปลอดภัยมากที่สุดครับ

มาเริ่มกันที่ WhatsApp ถึงแม้ว่าจะเป็นแอพที่มี E2EE แต่ปัญหาก็คือตัว Metadata หรือก็คือข้อมูลที่บอกรายละเอียดของข้อมูลอีกที ซึ่งเจ้า Metadata นี้จะระบุถึงตัวบุคคลว่าเป็นใคร เมื่อไหร่ และที่ไหน จนทำให้สามารถเชื่อมโยงกับข้อความที่สนทนาได้ 

นอกจากนี้ยังบอกข้อมูลผู้ติดต่อและข้อมูลอุปกรณ์ที่ใช้อีกด้วย การจะลบข้อมูลต่างๆ นั้นค่อนข้างยาก เพราะต่อให้คุณถอนการติดตั้ง WhatsApp ออกไปแล้วแต่ข้อมูลของคุณจะยังคงถูกเก็บไว้ในระบบนานถึง 90 วันเลยทีเดียว

ดังนั้นผมขอให้คุณปิดการอนุญาตให้ WhatsApp บันทึกภาพที่คุณได้รับลงในคลังภาพโดยอัตโนมัติ รวมถึงปิดฟีเจอร์การสำรองข้อมูล เพราะการสำรองข้อมูลสนทนาไว้กับผู้ให้บริการคลาวด์ อย่างแอ๊ปเปิ้ลหรือกูเกิลบทสนทนาที่สำรองไว้จะไม่ได้รับการป้องกันข้อมูลแบบ E2EE 

ทั้งนี้อย่าคลิกลิงก์ หรือไฟล์แนบที่ไม่มั่นใจว่าปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงควรตั้งค่าการยืนยันตัวตนหลายขั้นตอน (Multi-factor Authentication) เพื่อป้องกันไม่ให้บัญชีผู้ใช้ถูกคุกคามหรือถูกขโมยไปใช้

ในส่วนของ Telegram นอกจากจะต้องตั้งให้การยืนยันตัวตนเป็นแบบ Multi-factor Authentication เช่นเดียวกันกับ WhatsApp แล้ว ยังมีอีกหลายฟีเจอร์ที่ควรเลือกใช้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ให้เป็นเฉพาะผู้ที่อยู่ในรายชื่อเท่านั้นจึงจะสามารถคุยกับคุณได้ และกำหนดว่าใครจะสามารถดูโปรไฟล์ของคุณได้ ทั้งตอนที่คุณกำลังใช้งานอยู่ หรือใช้งานล่าสุดเมื่อไหร่ และใครสามารถเพิ่มคุณเข้ากลุ่มได้

Telegram ยังมีฟีเจอร์ชื่อว่า Lock Code ที่สามารถปกป้องข้อความไว้ได้ เมื่อบุคคลอื่นสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ของคุณได้ อีกฟีเจอร์ที่ควรใช้คือ Secret Chats ซึ่งผู้ใช้ต้องกดตั้งค่าในห้องแชทเองเพื่อให้ข้อความเป็นแบบ E2EE

อย่างไรก็ดี ฟีเจอร์นี้ไม่รองรับการทำงานในห้องแชทแบบกลุ่ม สำหรับผู้ที่ต้องการให้ข้อความถูกทำลายหลังคู่สนทนาอ่านข้อความแล้ว ก็สามารถเปิดใช้งานฟีเจอร์ทำลายการสนทนาหลังจากข้อความถูกอ่าน (Activate Self-destruction) ได้เช่นกัน

หวังว่าข้อมูลที่ผมนำมาฝากในบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่ใช้ WhatsApp หรือ Telegram นะครับ หากมีการควบรวมการใช้งานของ WhatsApp, Messenger และ Instagram เข้าด้วยกันตามที่เฟซบุ๊คได้เคยบอกไว้ อาจทำให้ความเป็นส่วนตัวของเราเสี่ยงที่จะถูกเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ดังนั้นต้องคอยติดตามข่าวสารอยู่เสมอ ซึ่งผมจะนำมาเล่าให้ท่านฟังในทุกๆ สัปดาห์เป็นประจำครับ