ระบบกลางทางกฎหมาย

ระบบกลางทางกฎหมาย

'ระบบกลาง' หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายเชื่อมโยง เป็นช่องทางให้หน่วยงานของรัฐ เปิดรับฟังรวมถึงให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นโดยตรง

*บทความโดย ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนและดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนจะมีการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐต้องจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐสภาได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญข้างต้นโดยการตราพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อใช้เป็นช่องทางให้หน่วยงานของรัฐกำหนดหลักเกณฑ์ การจัดทำร่างกฎหมาย การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายและการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน

นอกจากนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบเนื้อหาของร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบอนุญาต ระบบคณะกรรมการ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ระยะเวลาในการดำเนินการ ตามขั้นตอนต่าง ๆ และการกำหนดโทษอาญา เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไปโดยละเอียดรอบคอบ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายภายหลังเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วเพื่อพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและการเข้าถึงบทบัญญัติกฎหมายของประชาชน

พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกันดำเนินการพัฒนาระบบกลางขึ้น ซึ่งมาตรา 3 ได้ให้ความหมายของระบบกลางไว้ว่า คือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายเชื่อมโยงที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งการเข้าถึงบทบัญญัติของกฎหมายของประชาชน แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นตามมาตรา 11 วรรค 2

เพื่อประโยชน์ในการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้อย่างทั่วถึงคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564 เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 กำหนดให้หน่วยงานประกาศกำหนดข้อมูลหน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์และระยะเวลาการประเมินผลสัมฤทธิ์และให้หน่วยงานเผยแพร่ ตัวบทกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน คำแปลของกฎหมายเป็นภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คำอธิบายโดยสรุปสาระสำคัญของกฎหมายในลักษณะที่ประชาชนจะสามารถเข้าใจได้ ความมุ่งหมาย วัตถุประสงค์ และขอบเขตการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายตามมาตรา 36 ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 แล้วแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบเพื่อรายงานกับคณะรัฐมนตรีต่อไป

แต่อย่างไรก็ดีกฎกระทรวง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการไม่เผยแพร่ข้อมูลในระบบกลาง พ.ศ. 2562 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องเผยแพร่กฎเกณฑ์ตามมาตรา 36 หากกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีกฎหมายห้ามเปิดเผยหรือคุ้มครองให้ไม่ต้องเปิดเผย หรือบุคคลใดเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่เผยแพร่ไว้ในระบบกลาง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยของตนเองหรือผู้อื่นซึ่งอยู่ในความดูแลของตน มีสิทธิแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่เผยแพร่กฎเกณฑ์นั้นปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ทุกหน่วยงานต้องตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบว่ามีกรณีที่ต้องมีการออกกฎหรือดำเนินการ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 หากมิได้ออกกฎหรือดำเนินการใดจนเป็นเหตุให้บทบัญญัติของกฎหมายสิ้นผลบังคับลง หรือบทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับโดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการนั้นตาม มาตรา 22 วรรค 2 ทำให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินหรือขัดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและรับผิดทั้งในทางแพ่ง ทางอาญาและทางปกครองด้วย

หน่วยงานนำร่องโครงการพัฒนาระบบกลางประกอบด้วยหลายหน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ปัจจุบันมีการทดสอบใช้ระบบกลางทางกฎหมายผ่านทาง https://lawtest.egov.go.th เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 3 ฉบับ ได้แต่ 1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่อง การแก้ไขอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย 2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ 3. ร่างพระราชบัญญัติรัฐบาลดิจิทัล และในเร็ว ๆ นี้จะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. 2545 และการรับฟังความคิดเห็นประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539

กล่าวโดยสรุป การมีระบบกลางทางกฎหมายทำให้ประชาชน องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแสดงความคิดเห็นโดยตรงไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบและยังสามารถติดตามสถานะการจัดทำร่างกฎหมายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และข้อมูลต่าง ๆ ยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยสูง การมีระบบกลางทางกฎหมายทำให้การจัดเก็บข้อมูลทางกฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และประชาชนผู้ที่มีความสนใจยังสามารถนำข้อมูลทางกฎหมายไปวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์หรือนำไปอ้างอิงต่อยอดได้ในอนาคต.