100 วันแรกของไบเดน จะส่งหุ้นให้ไปต่อได้หรือไม่ ?

100 วันแรกของไบเดน จะส่งหุ้นให้ไปต่อได้หรือไม่ ?

แม้จะผ่านไปไม่ถึงหนึ่งเดือน แต่เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ได้ผลตอบแทนเป็นบวกตั้งแต่เริ่มต้นปี 2021 ตลาดหุ้นโลกบวกขึ้นราว +3%

นำโดยตลาดในเอเชีย (ดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan)ที่พุ่งขึ้นมากกว่า +11% (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม) ส่วนหนึ่งมาจากโมเมนตัมต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วที่ตลาดหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะพลิกกลับมาฟื้นตัวหลังกระแสข่าวความสำเร็จของวัคซีน

ปัจจัยที่เข้ามาหนุนเพิ่มเติม ก็คือชัยชนะของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งซ่อมวุฒิสมาชิกของรัฐจอร์เจีย ทำให้พรรคเดโมแครตกวาดเสียงส่วนใหญ่ทั้ง 2 สภา หรือเรียกกันว่า Blue Wave เกิดเป็นความคาดหวังถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างประเทศในทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับสมัย ปธน.ทรัมป์

และ ปธน.โจ ไบเดนก็ไม่ทำให้ตลาดผิดหวัง เขาได้กล่าวถึงแผนงานในช่วง 100 วันแรกที่เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ว่าจะดำเนินนโยบายต่างๆ โดยให้ความสำคัญใน 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่

  1. จัดการกับการระบาดของโรคโควิด-19 การรณรงค์ให้ชาวอเมริกันสวมหน้ากากอนามัยเป็นเวลาอย่างน้อย 100 วัน เพื่อลดการแพร่ระบาด รวมถึงการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อและฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
  2. กระตุ้นเศรษฐกิจ ในวันที่ 14 มกราคม ปธน. โจ ไบเดน ประกาศ American Rescue Plan หรือมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มูลค่ามากกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พุ่งเป้าไปที่การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น แจกเงินเข้ากระเป๋าชาวอเมริกันเพิ่มอีกคนละ 1,400 เหรียญ มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงาน และพักชำระหนี้สำหรับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นต้น
  3. ปธน. โจ ไบเดน ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการออกนโยบายและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ไปสู่พลังงานทดแทน ซึ่งนโยบายที่ได้ประกาศมาแล้ว ได้แก่ การนำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ Paris Agreement ซึ่งเป็นความตกลงเกี่ยวกับการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังได้มีคำสั่งยกเลิกโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL รวมถึงระงับแผนการขุดเจาะน้ำมันในมหาสมุทรอาร์กติก
  4. ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางสังคม เพื่อสร้างความสามัคคีในชาติ โดยมีแผนดำเนินการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ เช่น ยกเลิกนโยบายปิดกั้นผู้อพยพจากประเทศมุสลิม และให้ชาวอเมริกันสามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ในทางสัญลักษณ์ จะเห็นได้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีความหลากหลายทั้งด้านเพศสภาพ เชื้อชาติ และสีผิว ซึ่งเป็นการแสดงออกว่า ปธน. โจ ไบเดน ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการดำเนินนโยบายเหล่านี้ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะถึงแม้ว่าพรรคเดโมแครตจะครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา แต่การผลักดันนโยบายบางอย่างต้องอาศัยคะแนนเสียงข้างมากและเด็ดขาด หรือ Supermajority อย่างเช่น วงเงิน American Rescue Plan ที่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาอย่างต่ำ 60 เสียง ทั้งนี้ เราเชื่อว่ามาตรการที่เกี่ยวกับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจะสามารถผ่านสภาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทั้ง 2 พรรคการเมืองให้ความสำคัญเหมือนกัน

อีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะตามมาหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีก็คือ “เงินเฟ้อ” ที่จะปรับเพิ่มขึ้น ในประเด็นนี้ เราประเมินว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นเกินกรอบเป้าหมายชั่วคราว สะท้อนจากที่ Fed เปลี่ยนเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ค่าเฉลี่ยแทนการวัดเงินเฟ้อ ณ จุดเวลาหนึ่งๆ นั่นหมายถึง Fed จะยอมให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายที่ 2% ได้ในช่วงเวลาหนึ่งโดยไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยมาสกัด ซึ่งในข้อเท็จจริงมีความเป็นไปได้ เนื่องจากกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา เงินเฟ้อในเศรษฐกิจหลักล้วนต่ำกว่าเป้าหมาย เมื่อแรงอัดฉีดสภาพคล่องมหาศาลของรัฐเกิดประสิทธิภาพ ย่อมมีโอกาสที่เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นได้เพราะฐานเดิมต่ำมาก

นโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ข้างต้น ประกอบกับความเสี่ยงที่ยังจัดการได้ จะหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดี เป็นผลบวกต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวม ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ต่ออย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกของปี ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์มากคือ กลุ่มรักษ์โลกและความยั่งยืน เช่น พลังงานทางเลือก และธุรกิจจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ได้อานิสงค์โดยตรงจากนโยบายของ ปธน.โจ ไบเดน