จีนกับปัญหาไฟแช็ค

จีนกับปัญหาไฟแช็ค

มีหลายคนพูดกับผมว่า เมื่อดูทิศทางของแผนพัฒนารอบ 5 ปี ฉบับใหม่ของจีนแล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่าเป้าหมายของจีนคือทำทุกอย่างเพื่อจะเป็นผู้นำโลก

ส่วนตัวผมรู้สึกว่า ถ้าจีนเป็นผู้นำโลกได้ จีนก็คงดีใจ แต่เป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุดของแผนฉบับใหม่ของจีนไม่ใช่การเป็นผู้นำโลก แต่คือการที่จีนต้องยืนให้ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง ท่ามกลางกระแสที่นับวันโลกตะวันตกยิ่งไม่เป็นมิตรกับจีนมากขึ้น

            ที่ผ่านมา สิ่งที่หนักใจสีจิ้นผิงที่สุดไม่ใช่สงครามการค้า แต่เป็นสงครามเทคโนโลยี จีนเรียกว่าเป็นความพยายามตัดแข้งตัดขาจีน เช่น การห้ามบริษัทสหรัฐฯ ค้าขายกับหัวเว่ย แล้วในที่สุดหัวเว่ยจะผลิตสมาร์ทโฟนได้ อย่างไร หากไม่มีชิ้นส่วนชิป ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีสหรัฐฯ

            ในประเทศจีนนั้น มีปัญหาที่มีชื่อเสียงในวงเศรษฐกิจ เรียกว่า ปัญหาไฟแซ็ค ใครๆ ก็ทราบว่าไฟแช็คส่วนใหญ่ในโลกนั้นเมดอินไชน่า แต่ท่านทราบไหมครับว่า ในการประกอบไฟแช็คนั้น มีชิ้นส่วนเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่อยู่ที่หัวของไฟแช็คและจำเป็นสำหรับการควบคุมความแรงของไฟ ชิ้นส่วนเล็กๆ นี้ที่จีนแม้ในปัจจุบันก็ยังผลิตเองไม่ได้ ต้องนำเข้ามาจากญี่ปุ่น ประเด็นของเรื่องก็คือ แม้สินค้าอย่างไฟแช็ค หากไม่ได้ชิ้นส่วนเล็กๆ ชิ้นหนึ่งจากญี่ปุ่น จีนก็ไม่สามารถผลิตได้

            หัวใจสำคัญของแผน 5 ปี ฉบับใหม่ จึงเป็นการแก้ปัญหาไฟแช็ค กล่าวคือจีนต้องยืนบนลำแข้งของตัวเองให้ได้ในเรื่องเทคโนโลยี ในจีนตอนนี้มีการกลับมาพูดถึงนโยบายผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศหรือต่ออนาคตทางเศรษฐกิจ

            หลายคนอาจถามต่อว่า ในแผน 5 ปี ฉบับเดียวกัน จีนเองก็มียุทธศาสตร์สองหมุนเวียนไม่ใช่หรือ ใจความสำคัญคือจีนจะเน้นเศรษฐกิจภายในเป็นแกนกลาง แต่ในขณะเดียวกันก็จะใช้เศรษฐกิจภายในเป็นตัวดึงดูดเศรษฐกิจภายนอก โดยเฉพาะการนำเข้า เพื่อสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจให้โลกต้องพึ่งพาจีน แล้วเช่นนี้จะขัดแย้งกับแนวทางที่จีนจะพยายามหาทางผลิตของด้วยตนเองเพื่อทดแทนการนำเข้าหรือไม่

            คำตอบก็คือ จีนจะเน้นหาทางฝึกฝนทำเองหรือยังคงนำเข้าต่อไปนั้น อยู่ที่ว่าเป็นเทคโนโลยีอะไร หากเป็นสินค้าที่จีนเริ่มมีเทคโนโลยีใกล้เคียงกับตะวันตกอยู่แล้ว จีนจะต้องเร่งพัฒนาทำเองให้ได้ แต่หากเป็นสินค้าที่ช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างจีนกับตะวันตกยังห่างไกลกันมาก จีนจะต้องส่งเสริมการนำเข้าเทคโนโลยีต่อไป เพื่อจะได้มีตัวอย่างเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุด แต่จะไม่ใช่เพียงการนำเข้าเฉยๆ แต่นำเข้าเพื่อเป้าหมายจะเรียนรู้และทำเองให้ได้ในอนาคต

            แน่นอนครับว่า การพัฒนาเทคโนโลยีหลายอย่างนั้น พูดง่าย แต่ทำยาก แต่จีนมีความได้เปรียบในเรื่องตลาดขนาดใหญ่ จีนสามารถอาศัยตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่รองรับการทดลองทางเทคโนโลยีและนำเอาผลกำไรหมุนกลับไปลงทุนใน R&D เพื่อต่อยอดต่อไป ดังนั้น ในเทคโนโลยีที่จีนต้องการเรียนรู้และทำเอง เช่นในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จีนคงหันกลับมาสนับสนุนบริษัทภายในของตน เพื่อให้พัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีของตนขึ้นมาให้ได้ แทนที่จะนำเข้าสินค้าจากต่างชาติ

            อีกวิธีหนึ่งคือการเลือกสมรภูมิใหม่ๆ ที่จีนมีโอกาสชนะ ยกตัวอย่างเช่น แม้หัวเว่ยไม่มีทางพัฒนาระบบปฏิบัติการ (OS) สำหรับสมาร์ทโฟนให้ดีกว่าระบบปฏิบัติการแอนดรอยหรือไอโอเอสได้ แต่หัวเว่ยอาจกระโดดข้ามไปพัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์สมาร์ทต่างๆ ในโลกยุค Internet of Things ที่ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตแทน

            เช่นเดียวกัน ในเทคโนโลยีชิปดั้งเดิมนั้น บริษัทจีนไม่มีทางแข่งสู้ชิปของอินเทลได้ แต่ในสมรภูมิใหม่อย่างชิป AI เราจะเห็นบริษัทจีนทุ่มสรรพกำลังเต็มที่เพื่อจะมีเทคโนโลยีของตนเอง       

            สำหรับแผนพัฒนารอบ 5 ปี ฉบับใหม่ของจีน หัวใจจึงไม่ใช่การเติบโต แต่คือความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน (การเน้นพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดก็เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงด้านพลังงาน) ตลอดจนความมั่นคงด้านการเมือง (เทคโนโลยี 5.0 หลายอย่างจะถูกนำมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล)

            ในแผน 5 ปี ฉบับใหม่ ยังจะมีบทหนึ่งที่เป็นเรื่องการรับมือปัญหาสังคมผู้สูงวัยโดยเฉพาะ จีนเป็นประเทศที่เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยเร็วและแรงที่สุดในโลก ปัญหาสังคมผู้สูงวัยเป็นภัยคุกคามที่สำคัญทั้งต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของจีน

            สำหรับจีนแล้ว การสร้างความมั่นคงไม่ได้หมายถึงจีนจะต้องยืนบนลำแข้งของตนให้ได้แต่เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการพยายามสร้างอิทธิพลและความเชื่อมโยงกับโลกภายนอกในอุตสาหกรรมที่ทำได้ เพื่อเป้าหมายเสริมอำนาจต่อรองของจีนด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ในแผน 5 ปี ฉบับใหม่ จีนยังยืนยันที่จะเดินหน้าเชื่อมโยงกับโลกต่อไป

ด้านหนึ่งคือเชื่อมกับโลกตะวันตกต่อไปในส่วนที่ทำได้ โดยเฉพาะในสินค้าและเทคโนโลยีที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพื่อให้จีนมีอำนาจต่อรองและยากยิ่งขึ้นที่ตะวันตกจะตัดขาดกับจีน ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่ง จีนก็จะเดินหน้าเชื่อมกับโลกที่เหลือนอกจากตะวันตก โดยเฉพาะเอเชีย ด้วยตรรกะที่ว่าโลกตะวันตกไม่ว่าอย่างไรก็ทอดทิ้งเอเชียไม่ได้ ดังนั้น ถ้าห่วงโซ่การผลิตของจีนเชื่อมโยงผนึกแน่นกับเอเชีย ตะวันตกก็ทิ้งจีนไม่ได้เช่นกัน การเชื่อมกับเอเชียยังเป็นการขยายตลาดและทางเลือกของจีนที่นอกเหนือจากการค้าขายกับตะวันตกอีกด้วย

            หากเรามองแผน 5 ปี ของจีนด้วยเลนส์ใหม่คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการอยู่รอดบนลำแข้งของตนให้ได้ เราก็จะเข้าใจและสามารถวิเคราะห์แผนที่แตกต่างของจีนในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างชัดเจนขึ้นครับ