สู่อนาคตที่สดใส

สู่อนาคตที่สดใส

ณ ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเริ่มหดตัวรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป

ในสหรัฐตัวเลขตลาดแรงงาน และยอดขายปลีกเริ่มปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 

ในยุโรปเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายตัวโดยเฉพาะในภาคบริการหดตัวในช่วงปลายปี ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเข้าสู่โซนหดตัว ในญี่ปุ่นยอดค้าปลีกที่เริ่มฟื้นตัวในเดือน ต.ค. เริ่มชะลอลงรุนแรงในเดือน พ.ย. และมีแนวโน้มที่จะหดตัวถึง 2 หลัก จะมีก็แต่เศรษฐกิจจีนที่เศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาสที่สี่และเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ยังขยายตัวได้ในปีนี้ 

แน่นอนว่าสาเหตุหลักของการหดตัวมาจากการระบาดของ COVID-19 ครั้งใหม่โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นถึง 100 ล้านรายในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเกิน 2 ล้านรายทำให้ทางการในหลายประเทศกำหนดมาตรการปิดเมืองที่รุนแรงอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษและประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม หากมองไปข้างหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความหวังที่ดีขึ้น จากปัจจัยสองประการ ได้แก่ (1) นโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐ และ (2) ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน 

ในประเด็นแรก ประธานาธิบดีไบเดนเริ่มเปิดเผยนโยบาย 100 วันแรกของการทำงาน ซึ่งรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ซึ่งรวมถึงการแจกเงิน 2,000 ดอลลาร์ให้กับพลเมืองสหรัฐทุกคน และเพิ่มสวัสดิการการว่างงานเป็น 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์จนถึงเดือน ก.ย. รวมถึงเสนอให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงเป็น 15 ดอลลาร์จาก 7.25 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ทำให้นักเศรษฐศาสตร์และนัก     กลยุทธต่างปรับประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ขึ้น 

ในส่วนของความก้าวหน้าของวัคซีน หลังจากวัคซีนที่พัฒนาโดย AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านสุขภาพในสหราชอาณาจักรอินเดียและที่อื่น ๆ มากขึ้นและกำลังจะได้รับอนุมัติในสหรัฐอเมริกา ข่าวนี้รวมกับการเร่งการกระจายและการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงไบเดนที่ตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดสให้ได้ภายใน 100 วัน ขณะที่ในยุโรปทางการตั้งเป้าที่จะฉีด 70% ของประชากรทั้งหมดภายในกลางปีนี้ ทำให้ความหวังว่าจะเกิด Herd immunity หรือการที่ 70% ของจำนวนประชากรมีภูมิต้านทานต่อโรคก็เรืองรองขี้น 

ด้วยปัจจัยสำคัญทั้งสองประการ คือ (1) การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาลของไบเดน และยิ่งได้ เจ  เน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางหรือ Fed มาเป็นว่าที่ รมว. คลังด้วยแล้ว ตลาดยิ่งมั่นใจขึ้นว่ามาตรการต่าง ๆ จะสามารถทำได้ 

และ (2) ความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับวัคซีน จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าและบริการมากขึ้น (Pent up demand) ซึ่งจะรวมไปถึงการเดินทางเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งหมดนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลก ในอนาคตพุ่งทะยานอย่างฉุดไม่อยู่ 

แม้ว่าเราจะเชื่อว่าแนวคิดนั้นจะเป็นไปได้ แต่ก็หาได้ไร้ซึ่งความเสี่ยงไม่ เรามองว่าแนวคิดที่ว่าการใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่โดยเฉพาะการแจกเงินจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวที่แข็งแกร่งในปีนี้นั้นเป็นการมองโลกในแง่ดีค่อนข้างมาก 

หลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่านโยบายการคลังโดยการแจกเงินจะมีประสิทธิภาพหากเศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤตเช่นในครึ่งแรกของปีที่แล้ว แต่หากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประสิทธิผลการแจกเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการขาดดุลการคลังที่ชดเชยด้วยการขึ้นภาษีในอนาคต หากเป็นเช่นนั้นผู้คนมักจะออมเงิน (เพื่อจ่ายภาษีในอนาคต) หรือจ่ายหนี้เก่ามากกว่าที่จะใช้จ่าย ณ ขณะนี้ (ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "Ricardian Equivalence") 

นอกจากนั้นกฎระเบียบทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น จากแนวทางของว่าที่ผู้นำหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลทางการเงินที่ไบเดนจะตั้งขึ้น เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค (Consumer Financial Protection Bureau) ทำให้เป็นไปได้ว่าในอนาคตนั้น ภาคการเงินสหรัฐจะต้องถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด 

และหากหน่วยงานด้านการกำกับธุรกิจการเงินของสหรัฐเริ่มเข้มงวดขึ้นแล้ว เป็นไปได้สูงที่ผู้กำกับธุรกิจการเงินในประเทศอื่น ๆ จะเพิ่มระดับความเข้มงวดตาม ซึ่งก็จะทำให้อุตสาหกรรมการเงินทำธุรกิจยากลำบากขึ้น 

ขณะเดียวกัน แนวนโยบายด้านการค้าของไบเดน ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย Buy Americanที่เน้นให้ภาครัฐซื้อสินค้าอเมริกันในการจัดซื้อจัดจ้างและเสี่ยงต่อการขัดหลัก WTO หรือแม้แต่แนวนโยบายที่จะขึ้นภาษีให้กับบริษัทอเมริกันที่ไปลงทุนในต่างชาติ ก็มีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งในสหรัฐและต่างประเทศเช่นกัน 

ในส่วนของการตั้งเป้าฉีดวัคซีน แม้ว่าเป้าที่ไบเดนตั้งไว้ว่าจะฉีด 100 ล้านโดสใน 100 วัน (หรือวันละ 1 ล้านโดส) นั้นจะดูฮึกเหิม แต่นักวิชาการด้านสาธารณสุขกล่าวว่า ด้วยอัตราดังกล่าว จะทำให้เกิด Herd immunity ในสหรัฐในกลางปี 2022 แต่หากจะให้เกิด Herd immunity ภายในปีนี้แล้ว จะต้องฉีดให้ได้วันละ 3 ล้านโดส ซึ่งห่างไกลความเป็นจริงในปัจจุบัน (ที่มีการฉีดประมาณ 7-8 แสนโดสต่อวัน) ค่อนข้างมาก 

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น coronavirus ที่กลายพันธุ์ได้ง่ายขึ้นซึ่งอาจดื้อต่อวัคซีนมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าความเชื่อมั่นของประชาชนและธุรกิจจะกลับคืนมา และทำให้การบริโภคและลงทุนในอนาคตเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 

แม้ว่าในระยะใกล้ภาพจะสดใส แต่ความเสี่ยงในอนาคตอาจเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวังที่อาจสูงเกินไปเกี่ยวกับนโยบายการคลัง นโยบายสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น มาตรการภาษีที่อาจไม่เป็นมิตรต่อการลงทุน ความล่าช้าของการฉีดวัคซีนและความเสี่ยงการกลายพันธุ์ของไวรัส เป็นสิ่งที่ต้องจับตามมองในอนาคต 

ก่อนพายุจะมานั้น ฟ้ามักจะใสเสมอ นักลงทุนทั้งหลาย โปรดระมัดระวัง