ประเทศไทย เมืองหลวงโลก 4 ด้าน

ประเทศไทย เมืองหลวงโลก 4 ด้าน

โลกอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ โดยเฉพาะการกระชากเปลี่ยน (disruption) ทางเทคโนโลยี ที่เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง

          การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวยังได้ทำลายอุตสาหกรรมดั้งเดิม เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตและการบริโภค ตลอดจนเปลี่ยนแปลงรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังเป็นตัวเร่ง ชะลอ หยุด และเปลี่ยนแนวโน้มต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความปกติใหม่ที่ไม่เหมือนกับโลกที่เราเคยอาศัยอยู่ในอดีต

ประเทศต่างๆ กำลังปรับทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ เศรษฐกิจฐานความรู้ มากขึ้น เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจอัตโนมัติ เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาไปในทิศทางนี้เช่นเดียวกัน อย่างไรตาม โครงสร้างเศรษฐกิจ คุณภาพประชากร ฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยยังขาดความพร้อม และต้องใช้เวลาพัฒนาอีกมาก

ขณะที่หน้าต่างแห่งโอกาสของไทยกำลังปิดลง เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และความเสี่ยงติดกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งจะทำให้อำนาจต่อรองของไทยในเวทีระหว่างถดถอยลงเรื่อย ๆ

ดังนั้นในระยะสั้น-กลาง ผมนำเสนอมา 30 กว่าปีและขอย้ำในที่นี้อีกว่าเราจำเป็นต้องเร่งพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจรายได้สูง โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานจุดแกร่งของประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศให้โดดเด่นในระดับโลก ซึ่งผมเรียกว่า Thailand’s Niches หรือเมืองหลวงโลก 4 ด้าน   

 

  1. เมืองหลวงอาหารโลก (Food Capital)

ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นเมืองหลวงอาหารโลก เพราะเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย โดยมีสินค้าที่ส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลกหลายชนิด อาทิ ทูน่า ข้าว ไก่ สับปะรด กุ้ง และผลไม้เขตร้อน ในขณะที่เมนูอาหารของไทยมีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นด้านรสชาติ มีความหลากหลาย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาหารหลายชนิดเป็นที่รู้จักทั่วโลก อาทิ ต้มยำกุ้ง ก๋วยเตี๋ยวผัดไท โดยเฉพาะแกงมัสมั่นที่ได้รับการจัดอันดับเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก

การพัฒนาประเทศไทยเป็นเมืองหลวงอาหารโลก ควรเน้นการพัฒนาในเชิงคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตอาหารของไทย ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยและสุขอนามัยในการผลิตและขนส่งอาหาร คุณประโยชน์ด้านโภชนาการ การป้องกันและรักษาโรค เอกลักษณ์และนวัตกรรม กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ของผลิตภัณฑ์ การพัฒนามาตรฐานเมนูอาหารและร้านอาหารไทย รวมทั้งการเชื่อมโยงกิจกรรมด้านอาหารกับจุดแข็งด้านอื่นของประเทศ

 

2.เมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก (Tourism Capital)

            ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก เนื่องจากมีความหลากหลายของทรัพยากรการท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติที่สวยงาม ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และหลากหลาย อาหารอร่อย ผู้คนมีอัธยาศัยดี ต้อนรับคนต่างชาติ และมีใจบริการ สังคมไทยมีอิสรเสรี และการท่องเที่ยวมีความคุ้มค่า  ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้ไทยเป็นที่หมายสำคัญของการท่องเที่ยวของโลก แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งมีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองน่าเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น การท่องเที่ยวจึงสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่าร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ

            แม้วิกฤตโควิดทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงัก แต่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวหลังการระบาดผ่านพ้นไป ผมได้เสนอให้ตั้งเป้ามาราว 30 กว่าปีแล้วให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย 200 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงระดับประเทศรายได้สูง โดยการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอาเซียน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนักท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ การปรับปรุงโลจิสติกส์ด้านการท่องเที่ยว การดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากประเภท เป็นต้น

 

3.เมืองหลวงสุขสภาพโลก (Wellness Capital)

            ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเมืองหลวงสุขสภาพของโลก เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสุขภาพ โดยเฉพาะโลกหลังการระบาดของโควิด-19 ผู้คนจะให้ความสำคัญกับการป้องกันและดูแลสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการแพทย์ โดยระบบสาธารณสุขของไทยถูกจัดเป็นอันดับ 6 ของโลก เพราะได้รับการวางรากฐานและอิทธิพลจากระบบการแพทย์ที่ดีที่สุดในโลกตั้งแต่ในอดีต และกลุ่มคนที่เรียนเก่งที่สุดในสังคมไทยมักนิยมเรียนแพทย์

ประเทศไทยมีผู้ป่วยเข้ามารับบริการทางการแพทย์นับล้านคนในแต่ละปี เป็นอันดับ 1 ด้าน medical hub ของโลก เพราะบริการทางการแพทย์ของไทยมีคุณภาพ มีราคาย่อมเยา มีบริการที่น่าประทับใจ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ในขณะเดียวกัน ไทยยังมีชื่อเสียงในบริการด้านศัลยกรรม ความงาม การชะลอวัย การป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพ รวมทั้งบริการสุขภาพทางเลือก อาทิ การนวดแผนไทย แพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย

            ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสุขสภาพ โดยการสร้างความหลากหลายให้ครอบคลุมทุกมิติของสุขสภาพ การพัฒนาความเป็นวิทยาศาสตร์และมาตรฐาน การบูรณาการผลิตภัณฑ์และบริการสุขสภาพกับบริการการแพทย์สมัยใหม่และบริการอื่น ๆ  การพัฒนาบุคลากรสุขสภาพ การส่งเสริมธุรกิจสุขสภาพ การวิจัยและพัฒนาด้านสุขสภาพ การจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านสุขสภาพ การสร้างเมืองสุขสภาพ เป็นต้น   

 

4.เมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก (Elderly Healthcare Capital)

เหตุผลที่ประเทศไทยควรเป็น “เมืองหลวงอภิบาลคนชราโลกเนื่องจากโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่เป็นสังคมหลังเกษตรกรรมและเป็นครอบครัวเดี่ยว ทำให้ลูกหลานไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุ และต้องส่งไปให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุช่วยดูแล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง และอาจไม่ได้รับการดูแลที่ดีเพราะคนขาดใจบริการ  ขณะที่ประเทศไทยมีบริการทางการแพทย์และพยาบาลที่ดีเลิศ แต่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า และคนไทยยังมีใจบริการ มีความสุภาพอ่อนโยน มีน้ำจิตน้ำใจ และเคารพผู้อาวุโส

ประเทศไทยจึงควรกำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่คนทั่วโลกอยากมาเกษียณ เพื่อดึงดูดคนชราที่มีกำลังซื้อเข้ามาอาศัยในประเทศไทย แต่เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของคนเหล่านี้ด้วย ผมจึงเสนอว่า ในระยะแรก เราควร Jump Start โดยดึงดูดคนต่างชาติจากทั่วโลก 1 ล้านคน ที่มีอายุประมาณ 50 ปี  และเป็นคนที่เก่งที่สุดในสาขาที่ประเทศนั้น ๆ เก่งที่สุดในโลก เพื่อเข้ามาทำงานและเกษียณในประเทศไทย

วิกฤตโควิดเป็นวาระที่ประเทศไทยควรจะกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยเส้นทางการพัฒนาควรอยู่บนฐานจุดแกร่งของประเทศ และมีเอกลักษณ์อัตลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อฟื้นฟูและเตรียมการสำหรับการนำพาประเทศให้พุ่งทะยานหลังวิกฤตผ่านพ้นไป