ธุรกิจโรงแรมและที่พักกับการรอคอยที่ไร้ความหวัง (จบ)

ธุรกิจโรงแรมและที่พักกับการรอคอยที่ไร้ความหวัง (จบ)

ความหวังว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง นักท่องเที่ยวทั่วโลกฝันที่จะมาเที่ยวเมืองไทย !

ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศเริ่มดีขึ้นโรงแรมที่ไม่ห่างจากกรุงเทพมากเช่น หัวหิน กาญจนบุรี เขาใหญ่ ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางด้วยรถยนต์ได้มีอัตรา Occupancy Rate เพิ่มสูงขึ้น มีรายได้สามารถจ้างแรงงานเพื่อประคองธุรกิจได้บ้าง ปัญหาที่สำคัญที่สุดของโรงแรมคือภาระหนี้สินที่มีกับสถาบันการเงินยอดสินเชื่อที่สูงกว่า 400,000 ล้านบาท ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากสถาบันการเงินทั้งการพักหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้มีมาตรการผ่อนปรนกับสถาบันการเงิน ทำใมีหนี้ NPL เฉลี่ยประมาณ 5% แต่ NPL ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง 459 ราย และขนาดเล็ก 6,990 ราย ยอด NPL ได้สูงเกินกว่า 5% ไปแล้ว ยอดหนี้ที่ต้องระวังหรือ Special Mention (SM) สูงถึง 18% มีแนวโน้มที่จะเป็น NPL อย่างแน่นอน

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวและคนไทยในประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและผู้ประกอบการที่เป็น Supply Chain ของภาคการท่องเที่ยวต้องเผชิญกับฝันร้ายที่กลายเป็นจริงอีกครั้ง โรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่งได้ประกาศปิดกิจการ เพราะทนต่อการขาดทุนไม่ไหว บางรายประกาศขายกิจการในราคาถูก การช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมและธุรกิจที่เป็น Suppy Chain แบบเดิม เช่นการปรับโครงสร้างหนี้ การพักชำระหนี้ที่เป็นรูปแบบที่สถาบันการเงินทำกันในขณะนี้คงไม่สามารถช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมได้ สถาบันการเงินก็ประสบความยากลำบากในการช่วยเหลือ

โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่เป็นของรัฐ ที่ยังต้องปฏิบัติงานภายใต้กฎระเบียบเดิม เครื่องมือในการวิเคราะห์สินเชื่อแบบเดิม หนังสือสั่งการของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ออกมาแบบกว้าง ๆ

ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังพิจารณามาตรการที่เรียกว่า 'Ware Housing' หรือ 'โกดังเก็บหนี้' ด้วยการจำศีลแช่แข็งธุรกิจไว้อย่างน้อย 2 ปี สำหรับธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แล้วตั้งกองทุนมารับพอร์ตหนี้ธุรกิจจากสถาบันการเงินไปบริหารแทน ให้สถาบันการเงินปรับเทอมการชำระหนี้ ยืดเวลาออกไปไกล ๆ โดยไม่ต้องตั้งสำรอง ให้รัฐเข้ามาช่วยจ่ายดอกเบี้ยช่วงที่จำศีล ให้สิทธิ์แปลงหนี้เป็นทุนได้

รูปแบบที่นิยมทำกันคือการขายโรงแรมเข้าไปอยู่ใน Ware Housing เมื่อสถานการณ์กลับมาปรกติก็สามารถมาซื้อสินทรัพย์คืนได้ คล้ายกลับการโอนสินทรัพย์ชำระหนี้ให้สถาบันการเงิน ที่มีค่า carrying cost แล้วใช้สิทธิ์ซื้อคืนภายใน 3 ปี แต่กรณีนี้สถาบันการเงินจะต้องมีภาระในการถือสินทรัพย์ไว้ หรือกองทุน Ware Housing รับซื้อหนี้ในราคาส่วนลด(Discount) ตามแต่จะตกลงกัน เป็นผลดีต่อสถาบันการเงินที่ NPL ปรับตัวดีขึ้น

รูปแบบที่มีการจัดตั้งกองทุนโดยภาครัฐ ธปท. ต้องเข้ามาช่วยผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ทั้งกาารับรู้ทางบัญชี การจัดชั้นหนี้ และการตั้งสำรอง ระหว่างเอาหนี้เก็บในโกดังรัฐอาจชดเชยดอกเบี้ย ยกเว้นการเก็บค่าน้ำค่าไฟ รูปแบบกองทุนที่จัดตั้งขึ้นคล้ายกับ AMC ของรัฐ มีการแชร์ความเสี่ยงทั้งผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน ที่ภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือ

เมื่อเดือนกันยายน 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เสนอข่าว เรื่องการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์(รีท) รูปแบบใหม่ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขายโรงแรมขายให้กับกองรีท เหมือนเป็นหลักประกันฝากไว้กับกองรีทเพื่อให้เจ้าของดึงสภาพคล่องกลับมาใช้ก่อนได้ มีข้อตกลงขายโรงแรม คืน ตามราคาและระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (REIT with buy back obligation) โดยกองทรัสต์ มีลักษณะคล้ายหุ้นกู้และมีการขายในราคาตลาด ต่อนักลงทุน ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมที่น่าสนใจ

การช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมตามมาตรการที่ผมเสนอมาเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ที่จะต้องใช้เวลาในการออกกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ระหว่างนี้สถาบันการเงินควรมีมาตรการช่วยเหลือเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจโรงแรม ช่วยต่อลมหายใจด้วยวงเงินเสริมสภาพคล่อง โดยรัฐเข้าประกันหนี้ 100% เพราะการอำนวยสินเชื่อโรงแรมในเมืองไทย เป็น Asset Base Lending ที่มีโรงแรมเป็นหลักประกันความเสี่ยง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจ่ายค่าแรงงาน ค่าน้ำค่าไฟ และบำรุงรักษาโรงแรมให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ทรุดโทรมจนมีราคาลดลง

ผมมีความหวังว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง นักท่องเที่ยวทั่วโลกฝันที่จะมาเที่ยวเมืองไทย เมื่อพายุร้ายเบาบางลงธุรกิจโรงแรมจะกลับมาเฟื่องฟูอย่างแน่นอน...