‘สยาม’กับการรับมือลัทธิล่าอาณานิคม

‘สยาม’กับการรับมือลัทธิล่าอาณานิคม

ตะวันตกได้เข้ามาติดต่อกับไทยแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เด่นชัดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231

         ขณะนั้นยุโรปอยู่ภายใต้  “ยุคแห่งการสำรวจ” (the Age of Discovery)  ที่เริ่มขึ้นประมาณต้นศตวรรษที่สิบห้าจนถึงกลางศตวรรษที่สิบเจ็ด นำโดยโปรตุเกสเป็นชาติแรกของยุโรป ในแห่งการสำรวจนี้ ชาติต่างๆในยุโรปได้เริ่มมีการรับเอาลัทธิล่าอาณานิคม (colonialism) เป็นนโยบายแห่งชาติ  การติดต่อระหว่างฝรั่งเศสกับสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีจุดมุ่งหมายเพื่อแข่งขันกับชาติต่างๆในยุโรปในทางการค้า เผยแพร่คริสตศาสนาและมีอิทธิพลเหนือชาติต่างๆในเอเชีย  ฝรั่งเศสมุ่งหมายให้กรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งในในดินแดนที่นับถือคริสต์และอยู่ภายใต้การอารักขาของตน (a French Protectorate) โดยไม่ถือว่าเป็นอาณานิคม (colony)                                                               

          รัฐในอารักขาหมายถึง รัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมและปกป้องโดยรัฐอื่นและไม่มีความเป็นอิสระ (dependent territory) ในการต่างประเทศ แต่ยังคงมีความเป็นอิสระในการดำเนินการปกครองภายในรัฐ ซึ่งแตกต่างจากการเป็นอาณานิคมที่รัฐที่เป็นเจ้าอาณานิคมจะส่งคนของตนมาปกครองและควบคุมและครอบครองทรัพยากรและทรัพย์สินสาธารณะภายในอาณานิคมของตน   แต่หลังจากสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในปี พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาได้ทรงขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ทำให้กรุงศรีอยุธยารอดพ้นจากการตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส  ในทำนองเดียวกันกับก่อนหน้านี้ที่ญี่ปุ่นมีนโยบายต่างประเทศต่อต้านและขับไล่อิทธิพลตะวันตกออกไปในปี พ.ศ. 2182 (ค.ศ. 1639) และได้ดำเนินนโยบายปิดประเทศหรือ “โดดเดี่ยวในการต่างประเทศ (isolationism)” ต่อมาเป็นเวลาถึงสองร้อยปี โดยระหว่างนั้น ญี่ปุ่นเลือกที่จะติดต่อทำการค้ากับดัทช์และจีนเท่านั้น    

            จากยุคสำรวจของยุโรประหว่างต้นศตวรรษที่สิบห้าจนถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด ต่อมาในปลายศตวรรษที่สิบแปด ชาติต่างๆในยุโรปรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่ ยุคล่าอาณานิคม (Colonialism)  เต็มตัว มีการต่อสู้แข่งขันกันในการเข้ามายึดครองและควบคุมทั้งกิจการการทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งทรัพยากรของรัฐต่างๆ อิทธิพลของชาติต่างๆในยุโรปในตอนสมัยรัชกาลที่สามปรากฏให้เห็นในรูปของการเข้ายึดครองรัฐต่างๆเป็นอาณานิคม 

            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2369-2394 (ค.ศ. 1826-1851) อังกฤษมีอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังต่อไปนี้คือ บริเวณที่เรียกว่า บริติชมาลายา อันได้แก่  นิคมช่องแคบ” (Straits Settlements) ที่เริ่มเกิดขึ้น พ.ศ. 2369 (ค.ศ. 1826) อันประกอบไปด้วยปีนังที่ตกเป็นอาณานิคมตั้งแต่ ค.ศ. 1786 (พ.ศ. 2329)  สิงคโปร์ ค.ศ. 1819 (พ.ศ. 2362)  มะละกา ค.ศ. 1824 (ค.ศ. 2367)   และบริติชบอร์เนียว ได้แก่  ลาบวน ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391)               ส่วนดินแดนที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้แก่ กัมพูชา ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406)     

          จากสภาวการณ์ดังกล่าวนี้เอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรใกล้จะเสด็จสวรรคต ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำรัสสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคตว่า “...การต่อไปภายหน้า...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...”

            ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ทรงศึกษาหาความรู้เข้าใจในรูปแบบการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญในระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา จนพระองค์ทรงมีความเข้าพระทัยว่า ในการปกครองของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง และมีรองประธานาธิบดีที่มาจาการแต่งตั้ง  ประธานาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่งได้ไม่เกินสองสมัยหากได้รับเลือกตั้งอีกครั้ง และผู้คนในประเทศยอมรับกติกาการปกครอง ไม่ใช้กำลังแก่งแย่งชิงอำนาจกัน   และเริ่มมีความเข้าใจในรูปแบบการปกครองของอังกฤษแม้นมีพระมหากษัตริย์ครองราชย์ แต่มีรัฐสภาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจทางการเมือง นอกจากรูปแบบการปกครองของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พระองค์ยังรับรู้รูปแบบการปกครองแบบจักรพรรดิราชภายใต้นโปเลียนของฝรั่งเศสด้วย  

                  ด้วยความตระหนักถึง ภัยจากความยิ่งใหญ่ของ “ฝรั่ง” และสถานะของ “สยาม” ซึ่งอ่อนแอกว่าพม่าและจีนเกินกว่าที่จะคิดสู้รบปรบมือกับชาติตะวันตก อย่างที่พม่าและจีนผู้มั่นใจและทระนงในความยิ่งใหญ่ของตนได้ตัดสินใจกระทำจนนำไปสู่การเสียเอกราชหรือสิทธิ์สำคัญต่างๆ”   หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเสด็จสวรรคต ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯกำลังจะเสด็จจึ้นครองราชย์  พระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงพันโทดับบลิว. เจ. บัตเตอร์วอร์ท (W. J. Butterworth) ผู้ว่าการเกาะปีนังหรือเกาะปรินซ์ ออฟ เวล (Prince of Wales Island) ในปี พ.ศ. 2394 เพื่อแจ้งข่าวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นนน และพระองค์ได้ทรงใช้คำลงท้ายใต้พระปรมาภิไธยว่า “newly elect President or Acting King of Siam”

 จากย่อหน้าข้างต้น ผู้เขียนมีคำถามสองข้อให้ผู้อ่านลองคิดวิเคราะห์

คำถามแรก   ทำไมพระองค์ทรง เลือกที่จะมีพระราชหัตถเลขาไปยังพันโทดับบลิว. เจ. บัตเตอร์วอร์ท (W. J. Butterworth) ผู้ว่าการเกาะปีนัง

คำถามที่สอง การที่พระองค์ทรงใช้คำลงท้ายพระราชหัตถเลขาฉบับดังกล่าวว่า “newly elect President or Acting King of Siam” มีนัยอย่างไรต่อผู้รับสารดังกล่าว

 (ผู้อ่านที่สนใจจะมีส่วนร่วมในการตอบคำถามข้างต้น สามารถส่งไปที่ facebook ของผู้เขียนได้ chaiyan chaiyaporn เพื่อจะได้ช่วยๆกันทำความเข้าใจพระราชหัตถเลขาฉบันนี้”)