ไบเดนกับความเน่าเหม็นของทรัมป์

ไบเดนกับความเน่าเหม็นของทรัมป์

บทความนี้เขียนก่อนนายโจ ไบเดนจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐต่อจากนายโดนัลด์ ทรัมป์เมื่อเที่ยงคืนวันพุธเวลากรุงเทพฯ

          ข้อมูลมาจากหลากหลายแหล่งรวมทั้งรายงานของสื่อว่า นายไบเดนจะสั่งให้รัฐบาลทำอะไรทันทีหลังเสร็จพิธีสาบานตน  เนื่องจากสหรัฐกำลังเผชิญกับวิกฤติแสนสาหัส คำสั่งส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การแก้วิกฤตินั้นโดยเฉพาะด้านการระบาดของโควิด-19และด้านเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ดี มี 2 ฉบับที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม นั่นคือ รัฐบาลอเมริกันจะกลับเข้าร่วมข้อตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศแห่งนครปารีส และจะให้ยุติการสร้างท่อส่งน้ำมันขนาดใหญ่จากแคนาดาไปยังทางตอนใต้ของสหรัฐ

            เมื่อเทียบกับด้านการระบาดของโควิด-19ที่ทำให้ชาวอเมริกันตายแบบใบไม้ร่วงและด้านเศรษฐกิจที่มีคนตกงานและอดอยากนับสิบล้านคน ด้านสิ่งแวดล้อมดูจะไม่สร้างปัญหาใหญ่ที่ต้องการความใส่ใจแบบเร่งด่วน  แต่นายใบเดนเห็นว่าสำคัญมากเนื่องจากในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นายทรัมป์ได้รื้อถอนนโยบายและมาตรการสำคัญ ๆ ด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมออกไปจำนวนมาก  นอกจากนั้น การถอนตัวออกจากข้อตกลงแห่งนครปารีสตามคำสั่งของนายทรัมป์ยังทำให้สถานะผู้นำโลกของสหรัฐถูกทำลายอย่างย่อยยับอีกด้วย  นายไบเดนปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรื้อฟื้นสถานะนั้นให้กลับคืนมาอันเป็นเสมือนการล้างความเน่าเหม็นที่นายทรัมป์ทำให้เกิดขึ้นบนเวทีโลก

            มองจากนโยบายที่นายไบเดนแถลงออกมาและบุคลากรที่เขาเสนอแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหลัก ๆ ในองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม อาจสรุปได้ว่า นายไบเดนจริงใจในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม  อย่างไรก็ดี มีคำถามว่า หลังจากล้างความเน่าเหม็นที่นายทรัมป์ทำไว้แล้ว บทบาทของสหรัฐจะทำให้ภาวะด้านสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ทั้งในระดับประเทศสหรัฐเองและในระดับโลก  สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่คำตอบ

            ในช่วงเวลาเกือบปีที่ความสนใจของชาวโลกไปรวมกันอยู่ที่การระบาดของโควิด-19 องค์การสหประชาชาติออกมาย้ำเตือนอีกว่า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังดำเนินอยู่นั้นจะไม่เพียงพอสำหรับป้องกันมิให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นต่อไปจนทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ต่อไปได้อย่างยากลำบากยิ่ง  การประเมินขององค์การสหประชาชาติครั้งล่าสุดมิได้รวมนโยบายของสหรัฐ  แต่มองได้ว่าการรวมสหรัฐเข้าไปหลังนายไบเดนนำสหรัฐกลับเข้าร่วมข้อตกลงแห่งนคนปารีสจะไม่ทำให้ข้อสรุปเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญแม้นโยบายของนายไบเดนจะทำให้ภาวะด้านสิ่งแวดล้อมภายในสหรัฐดีกว่าสภาพที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีต่อไปอีก 4 ปีก็ตาม  ปัจจัยที่นำไปสู่ข้อสรุปเช่นนี้ได้แก่หลักยึดของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังมุ่งไปที่การบริโภค หรือการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด

            อนึ่ง คอลัมน์นี้เคยอ้างถึงข้อมูลที่ชี้บ่งว่า ชาวอเมริกันราว 25% ไม่ยึดหลักที่จะต้องบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องชีวิตจึงจะประสบความสำเร็จ หรือเป็นผู้ที่รู้จักพอ  ชุมชนอามิสที่ปฏิเสธเทคโนโลยีร่วมสมัยรวมทั้งไฟฟ้าและเครื่องจักรกลเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุด  นอกจากนี้ ยังมีชุมชนของคนต่างความคิดที่ไม่เดินตามหลักยึดของคนส่วนใหญ่ผุดขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย  ชุมชนเหล่านี้ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีร่วมสมัย แต่ใช้มันตามความจำเป็นเท่านั้นอันเป็นเกณฑ์พื้นฐานของการดำเนินชีวิตของพวกเขา  แต่ชุมชนเหล่านี้ยังมีจำนวนน้อยเกินไปที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

            เมื่อความคิดที่จะบริโภคเพิ่มขึ้นต่อไปยังไม่เปลี่ยน สิ่งที่นโยบายของนายไบเดนและของชาวโลกส่วนใหญ่จึงได้แก่การหวังจะใช้เทคโนโลยีใหม่แก้ปัญหา กล่าวคือ แสวงหาเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เช่น พลังงานจากแสงแดด จากกระแสลมและจากการใช้วัสดุที่เคยโยนทิ้ง  เท่าที่ผ่านมา เทคโนโลยีใหม่ยังช่วยได้ไม่มากนัก  นอกจากนั้น เทคโนโลยีใหม่ยังมักมีคำสาปติดมาอีกด้วยดังคอลัมน์นี้ชี้ให้เห็นแล้วหลายครั้ง  ด้วยเหตุนี้ จึงพอสรุปได้ว่านายไปเดนอาจขจัดความเน่าเหม็นที่นายทรัมป์ทำไว้บนเวทีโลกได้ แต่จะไม่ทำให้โลกและสหรัฐมีโอกาสอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น