การจัดการ 'โควิด' ของมหาลัยในสิงคโปร์

การจัดการ 'โควิด' ของมหาลัยในสิงคโปร์

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลโดยตรงให้ภาคการศึกษาต้องปรับตัวเร็วเพื่อป้องกันโรค ขณะเดียวกันต้องดำเนินธุรกิจหลัก คือจัดการเรียนการสอนต่อไปให้ได้

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดเลือกหรือถูกบังคับให้ปิดสถาบันการศึกษา หรือต่างมีมาตรการทั้งเชิงรุกและเชิงรับเพื่อรับมือกับตัวเลขของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน สถาบันการศึกษาในประเทศสิงคโปร์นั้นกลับยืนหนึ่งที่ยังมั่นคงยืนยันว่า ไม่มีนักศึกษาหรือบุคลากรทางการศึกษาที่ติดโรคเลย

นอกเหนือจากการเรียนการสอนและกิจกรรมทั้งหมดที่ถูกปรับมาในรูปแบบออนไลน์ SUI-LEE WEE จาก The New York Times ได้นำเสนอถึง นโยบาย 3 ประการที่ทำให้สถาบันการศึกษาในสิงคโปร์ปลอดโรคที่ไทยและโลกสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาถึงแนวทางสู่ความสำเร็จและสิ่งที่ต้องแลกมาสู่ความสำเร็จนั้นได้

นโยบาย 3 ประการที่ทำให้รอบรั้วมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ ที่มีจำนวนนักศึกษารวมกว่า 50,000 คนรอดพ้นการจากแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้คือ

1. การจำกัดพื้นที่ (Containment) โดยจำกัดพื้นที่ให้นักศึกษาใช้ชีวิตตามพื้นที่ที่กำหนด โดยไม่ข้ามเขตกัน อาทิ นักศึกษาที่อยู่หอก็ถูกจำกัดอยู่แต่บริเวณหอพักและโดยรอบเท่านั้น ภายใต้บทลงโทษและการกำกับดูแลเฝ้าระวังและควบคุมอย่างละเอียดผ่านกล้องและเทคโนโลยีที่ทันสมัย

2. การลดความแออัด (Decongestion) โดยจำกัดจำนวนผู้ที่สามารถใช้พื้นที่ในช่วงเวลานั้นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนกลางที่เลี่ยงไม่ได้ เช่น โรงอาหารหรือพื้นที่ส่วนกลางที่จำกัดจำนวนผู้ใช้สูงสุด และที่สำคัญคือการมีมาตรการสนับสนุนนโยบายนี้ เช่น มีบริการส่งอาหาร มีแอปพลิเคชั่นแจ้งให้ทราบว่าความแออัดในพื้นที่ต่างๆในมหาวิทยาลัยอยู่ในระดับใด ซึ่งแอพนี้ก็ถูกพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยและยังถูกนำออกไปใช้ในระดับประเทศอีกด้วย

3. การติดตามบุคคล (Contact tracing) อาทิ การตรวจวัดอุณหภูมิในทุกจุด การเช็คอินเช็คเอาท์เวลาเข้าออกสถานที่ต่างๆ การติดตามบุคคลผ่านกล้องวงจรปิดและแอปพลิเคชั่น

นอกเหนือจากนโยบาย 3 ประการข้างต้นแล้ว ผลสำเร็จของตัวเลขการแพร่เชื้อเป็นศูนย์นี้ มาจาก พฤติกรรมของนักศึกษารวมไปถึงพลเมืองของสิงคโปร์เองที่มีวินัย และที่สำคัญ มีความเชื่อฟังและเคารพกฎเกณฑ์ หรือหากไม่ปฏิบัติตามแล้วก็จะมีบทลงโทษขึ้นจริง จึงทำให้มาตรการที่ถูกออกในทางทฤษฎีนั้นเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างดีเลิศ

ในเชิงโครงสร้างเพราะเป็นประเทศขนาดเล็ก ประชากรเพียง 6 ล้านคนซึ่งถือว่าไม่มาก ทำให้มหาวิทยาลัยในสิงคโปร์นั้นมีความแตกต่างกับอีกหลายมหาวิทยาลัยทั่วโลก ที่นักศึกษามักจะพำนักอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยดังนั้นจึงทำให้การจัดปาร์ตี้สังสรรค์นั้นเป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งตรงข้ามกับสิงคโปร์ที่นักศึกษามักจะพำนักที่บ้าน

นอกเหนือนี้ มาตรการสิ่งละอันพันละน้อยก็ยังช่วยอุดรูรั่วอย่างเกิดประสิทธิผล อาทิ การตรวจเช็คกรองโรคในช่วงเปิดเทอมฟรี หรือแม้กระทั่งการส่งรายงานการตรวจอุณหภูมิตนเองของนักศึกษาวันละ 2 ครั้งเป็นต้น

นอกเหนือจากในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ผลลัพธ์ภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยในระดับประเทศที่สามารถจัดการรับมือการแพร่ระบาดจนทำให้ตัวเลขการแพร่ระบาดในสิงคโปร์นั้นอยู่ในระดับต่ำมากนั้นก็มาจากการงบประมาณที่มากมาย การตรวจหาไวรัสเชิงรุก การให้การรักษาแก่พลเมืองและผู้พำนักถาวร การแยกผู้ป่วยออกจากฝูงชน และมาตรการ Social distancing และบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นของรัฐบาล

จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์ที่ดูแล้วน่าประทับใจนี้ต้องแลกมาด้วยอิสรภาพบางประการ เพราะเกิดขึ้นมาจากมาตรการที่รัดกุมและบทลงโทษที่เข้มงวด มหาวิทยาลัยในไทยสมควรพิจารณาข้อดีและนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย