เศรษฐกิจโลก: ปัจจุบันไม่ได้แย่ อนาคตไม่ได้ดี

เศรษฐกิจโลก: ปัจจุบันไม่ได้แย่ อนาคตไม่ได้ดี

ปัจจุบันตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดูแย่ลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว ทั้งตัวเลขการจ้างงาน การบริโภคและภาคอสังหาฯ

          ในยุโรป กิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวในปลายปี และในญี่ปุ่น ที่นักเศรษฐศาสตร์บางฝ่ายมองว่าอาจเห็นตัวเลขการจับจ่ายหดตัวถึงระดับ 2 หลักในไตรมาสนี้ จะมีก็แต่จีนที่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่สี่ที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยังเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ยังเติบโตได้ในปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าสาเหตุหลักเป็นผลจากการปิดเมืองอีกครั้งหลังการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 โดยจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนจะเข้าสู่ระดับ 100 ล้านคน และผู้เสียชีวิตเกินระดับ 2 ล้านคนอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันยังอยู่ในระดับสูงและลดลงเพียงเล็กน้อยจากจุดสูงสุดก่อน ทำให้ทางการทุกที่ยังต้องปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ หรือแม้แต่ญี่ปุ่น และสหรัฐ ต่างประกาศมาตรการฉุกเฉินและปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น แม้ว่าระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันก็ตาม

ส่วนในอนาคต นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างมีความหวังที่ดีขึ้น จากสองปัจจัยหลัก คือ (1) แนวนโยบายของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐท่านใหม่ และ (2) ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีน โดยในประเด็นแรกนั้น หลังจากไบเดนได้เริ่มเผยแนวนโยบายใน 100 วันแรกที่รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่มูลค่าถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ที่รวมถึงการแจกเงินให้กับชาวสหรัฐทุกคนรวม 2,000 ดอลลาร์ และเพิ่มเงินสวัสดิการว่างงานเป็น 400 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ไปจนถึงเดือน ก.ย. และยังเสนอจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงเป็น 15 ดอลลาร์จากประมาณ 8 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ก็ยิ่งทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตอย่างร้อนแรงในปีนี้

ในส่วนของวัคซีน หลังจาก AstraZeneca ที่วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้รับการอนุมัติมากขึ้น ทั้งในอังกฤษ อินเดียและประเทศอื่น ๆ รวมถึงกำลังจะได้รับการอนุมัติในสหรัฐ ทำให้มีการเร่งฉีดและแจกจ่ายต่อเนื่อง ทำให้ประเทศเจริญแล้วและกำลังพัฒนาหลายประเทศ ตั้งเป้าจะฉีดประชากรของตนให้ได้มากที่สุด โดยในยุโรปตั้งเป้าจะฉีดให้ได้ 70% ของประชากรทั้งหมดภายในกลางปีนี้

ด้วยปัจจัยสำคัญทั้งสอง ทำให้หลายฝ่ายมองภาพเศรษฐกิจโลกในปีนี้ด้วยความหวังว่า เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะฟื้นขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลของไบเดน ทั้งการแจกเงิน การเพิ่มสวัสดิการให้ผู้ด้อยโอกาส และการเร่งโครงการโครงสร้างพื้นฐาน สอดผสานกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ได้รับวัคซีนแล้ว จะทำให้ความต้องการสินค้า บริการ ท่องเที่ยว เดินทางเพิ่มขึ้น และทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกทะยานขึ้นอีกครั้ง

แต่ผู้เขียนเห็นต่าง โดยเห็นว่าในโลกปัจจุบัน เศรษฐกิจไม่ได้แย่มากนัก หากพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเร็วต่าง ๆ เช่น Google mobility ตัวเลขการทำธุรกรรม Online รวมถึงตัวเลข GDP รายสัปดาห์ที่คำนวณโดย OECD พบว่า ในปัจจุบันลดลงเป็นระดับประมาณครึ่งหนึ่งหรือน้อยกว่าเมื่อเทียบการปิดเมืองในช่วงเดือน เม.ย. ปีก่อน ทั้งในยุโรป สหรัฐ หรือแม้แต่ในไทยเอง แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันจะมากกว่าในการระบาดครั้งแรก 2-3 เท่าก็ตาม

สาเหตุที่การระบาดรอบนี้ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแย่มากนักเป็นเพราะเหตุผล 3 ประการ คือ (1) ในครั้งนี้ ประชาชนเริ่มลดความกังวลลง เนื่องจากทราบว่าจะป้องกันการระบาดได้อย่างไร จึงรู้จักระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่ยังสามารถออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจบ้าง

(2) นโยบายของภาครัฐในการชั่งน้ำหนักระหว่างการป้องกันการระบาดและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเลือกที่จะปิดกิจกรรมเศรษฐกิจเท่าที่จำเป็น และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที ทำให้สามารถบรรเทาผลกระทบได้ดีระดับหนึ่ง และ

(3) แนวนโยบายของภาคเอกชนในการปรับตัว โดยเอกชนหันไปใช้การทำงาน Online มากขึ้น ทั้งการประชุม สัมมนา รวมถึงการทำงานโดยใช้ระบบ Crowd computing

แต่แม้เศรษฐกิจภาพใหญ่จะไม่ได้แย่มาก แต่ในภาคธุรกิจแต่ละกลุ่มได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม ท่องเที่ยว อสังหาฯ รวมถึงค้าส่งค้าปลีกในพื้นที่ที่มีการระบาดสูงจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งจะกระทบต่อแรงงานในภาคธุรกิจและพื้นที่ดังกล่าว

แม้เศรษฐกิจปัจจุบันไม่แย่มากนัก แต่เศรษฐกิจในอนาคตก็จะไม่ดีมากนัก จาก 3 ปัจจัยด้วยกัน คือ หนึ่ง ในซีกโลกตะวันตกนั้น หลายฝ่ายให้ความหวังกับนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงเกินไป หลักฐานเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่า นโยบายการคลังแบบแจกเงินจะได้ผลดีหากเศรษฐกิจแย่จริง ๆ แต่หากเศรษฐกิจไม่ได้แย่มากแล้ว การแจกเงินอย่างมหาศาลไม่ได้ทำให้ผู้คนอยากที่จะจับจ่ายมากนัก แต่มักจะเลือกที่เก็บเงินหรือจ่ายคืนหนี้เก่ามากกว่า (ศัพท์เศรษฐศาสตร์เรียกว่า Ricardian Equivalence) ดังนั้น การแจกเงินอย่างมหาศาลในกรณีรัฐบาลไบเดน (หากสามารถทำได้) ไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนมาตรการกระตุ้นการคลังของสหภาพยุโรปจำนวน 7.5 แสนล้านยูโรนั้น ก็ไม่น่าจะมีการเบิกจ่ายได้เร็วมากนัก เพราะยังต้องผ่านความเห็นชอบของสภาในแต่ละประเทศ

สอง ในฝั่งของจีน แม้ว่าเศรษฐกิจในปีที่แล้วยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่การที่จีนยังคงเป็นระบบสังคมนิยมที่พึ่งพารัฐวิสาหกิจในระดับสูง ทำให้ประสิทธิภาพของการเติบโตเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับต่ำ (เห็นได้จากสัดส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์หรือ ROA ของรัฐวิสาหกิจจีนที่ 3.5% ต่ำกว่าบริษัทโดยรวมที่ 5.2%) และหากจีนไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจและลดการพึ่งพิงรัฐวิสาหกิจให้ได้ ก็จะฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจในระยะต่อไป

และ สาม ในฝั่งของยุโรปและญี่ปุ่น ยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งจากสังคมสูงวัยและหนี้สาธารณะที่ยังสูง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งจากเชื้อโคโรน่าไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ได้ง่ายขึ้น และอาจดื้อต่อวัคซีนได้ในอนาคต รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจต่อเศรษฐกิจว่าจะกลับมาหรือไม่หากมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น  ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ ขณะที่ความเสี่ยงดอกเบี้ยระยะยาวที่อาจเริ่มปรับเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ซึ่งจะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนและภาคธุรกิจ ประเด็นเหล่านี้ที่จะกดดันทำให้เศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้มาก

โลกปัจจุบันไม่ได้แย่ โลกอนาคตไม่ได้ดี ท่านทั้งหลาย ปรับความคาดหวังแล้วหรือยัง

*บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่