Resilience อีกแนวคิดที่มาแรงในยุคโควิด

Resilience อีกแนวคิดที่มาแรงในยุคโควิด

Resilience หรือ Resilient Organization ถูกยกมาเขียนและพูดถึงกันมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์และผลจากโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก

        จากสถานการณ์และผลจากโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก และผลกระทบที่มีต่อองค์กรต่างๆ ทำให้คำว่า Resilience หรือ Resilient Organization ได้ถูกยกมาเขียนและพูดถึงกันมากขึ้นในทางด้านวิชาการและสื่อทางด้านการบริหารจัดการต่างๆ และคาดว่าคำๆ นี้ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งคำฮิตติดปากผู้บริหารองค์กรต่างๆ ไปในไม่ช้า

        การนำคำว่า Resilience มาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรนั้นมีมานานแล้ว แต่วิกฤติจากโควิดในครั้งนี้ ทำให้แนวคิดดังกล่าวได้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ คำแปลตรงตัวของคำว่า Resilience จากอังกฤษเป็นไทยนั้นไม่สามารถสื่อให้เห็นถึงความหมายที่ซ่อนอยู่อย่างแท้จริง (ถ้า Google ดูจะพบว่าคำๆ นี้แปลเป็นไทยได้ว่า “ความยืดหยุ่น”) แต่ถ้าไปดูคำแปลจากอังกฤษเป็นอังกฤษจะมีความหมายว่า ความสามารถของวัตถุในการกลับคืนสู่รูปร่างหรือตำแหน่งเดิม เมื่อเผชิญกับแรงบีบหรือแรงดึง

        ดังนั้น เมื่อนำคำๆ นี้มาใช้ในการบริหารองค์กร ก็จะหมายถึงความสามารถขององค์กรในการตอบสนองต่อวิกฤติหรือสถานการณ์ที่ผิดปกติที่เกิดขึ้น และสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติดังกล่าวได้อย่างดี ซึ่งก็น่าจะเป็นนัยยะที่ทำไมถึงได้มีการนำคำๆ นี้มาใช้ในการบริหารองค์กรในยุคปัจจุบันกันมากขึ้น

        ทั้งนี้เนื่องจากโควิดนั้นส่งผลกระทบต่อทุกองค์กร ทุกคนทั่วโลก มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปตามแต่ละอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่จะสะท้อนภาพความสามารถของผู้บริหารและตัวองค์กรเอง คือเมื่อวิกฤติผ่านพ้นไปแล้ว (ในอุตสาหกรรมเดียวกัน) องค์กรไหนที่จะสามารถฟื้นตัว กลับสู่ภาวะปกติ หรือแม้กระทั่งเติบโตออกมาจากวิกฤติในครั้งนี้ได้บ้าง ความสามารถดังกล่าวก็คือ Resiliency นั้นเอง เป็นความสามารถในการรับมือต่อวิกฤติที่เข้ามากระทบและสามารถก้าวพ้นวิกฤติดังกล่าวออกมาได้ดีกว่าคู่แข่ง

        วิกฤติโควิดในครั้งนี้จะไม่ใช่วิกฤติครั้งสุดท้ายที่โลกจะเผชิญ แต่ก็เป็นการยากที่จะพยากรณ์ได้ว่าวิกฤติระดับนี้จะมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อไร แต่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนในอนาคต องค์กรต่างๆ จึงต้องพยายามพัฒนาตนเองให้เป็น Resilient Organization ให้ได้ เพื่อให้เมื่อในอนาคตข้างหน้ามีวิกฤติมากระทบ ก็จะทำให้องค์กรสามารถก้าวออกมาจากวิกฤติดังกล่าวได้อย่างสง่างาม

        คำถามสำคัญต่อมาคือ ทำอย่างไรถึงจะสามารถพัฒนาองค์กรให้เป็น Resilient Organization ได้ จริงอยู่องค์กรขนาดใหญ่จะได้เปรียบองค์กรขนาดเล็ก แต่สำคัญคือองค์กรที่พร้อมจะได้เปรียบองค์กรที่ไม่พร้อม และความพร้อมนั้น พื้นฐานสำคัญอยู่ที่สี่ปัจจัยพื้นฐานของการบริหารองค์กร

        เริ่มต้นจากผู้นำจะต้องพร้อม โดยผู้นำจะต้องเป็นผู้ริเริ่มและทำให้ทั้งองค์กรตระหนักว่า วิกฤติหรือการเปลี่ยนแปลงจะกลายเป็นเรื่องปกติต่อไปในอนาคต และเตรียมทั้งองค์กรให้พร้อมต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งจะต้องมีวิสัยทัศน์ ความคิด และความกล้าที่จะสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ จากวิกฤติที่เกิดขึ้น

        ตามด้วยระบบจะต้องพร้อม ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงวิกฤตินั้น สำคัญคือการดำเนินงานจะต้องไม่หยุดชะงักและไปต่อได้ ดังนั้นการมีระบบในการทำงานที่ดี และยืดหยุ่นที่พร้อมจะปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ

        อันดับสามคือเรื่องของคนจะต้องพร้อม คนในองค์กรนอกจากจะต้องมีทักษะ ความรู้ ที่เหมาะสมแล้ว ยังจะต้องมี Resilient Mindset ด้วย นั้นคือต่อให้เผชิญกับวิกฤติหรือการเปลี่ยนแปลงเพียงไร ก็พร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะลุกขึ้นยืน (เมื่อล้ม) และมองหาโอกาสใหม่ๆ จะวิกฤติที่เกิดขึ้น

        สุดท้ายและสำคัญมากคือวัฒนธรรมองค์กรที่พร้อม ที่จะเป็นรากฐานสำคัญต่อทั้งองค์กรในการก้าวผ่านวิกฤติและเติบโตอีกครั้งหนึ่ง

        ถ้าทั้งสี่ปัจจัยข้างต้นพร้อม ไม่ว่าองค์กรจะเผชิญกับวิกฤติใดๆ ก็ตาม องค์กรก็พร้อมจะก้าวผ่านและเติบโตขึ้นไปได้เรื่อยๆ และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน (Sustainable Organization) อย่างแท้จริง