ส่องคลื่นลมเศรษฐกิจไทย ในทะเลแห่งความแปรปรวน

ส่องคลื่นลมเศรษฐกิจไทย ในทะเลแห่งความแปรปรวน

หากเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็นดังเรือ ก็กล่าวได้ว่าเรือลำนี้ได้ข้ามผ่านมรสุมใหญ่จากการระบาดระลอกแรกของโควิด 19 มาได้ แต่ก็ผ่านมาได้อย่างลำบาก

         การข้ามผ่านมรสุมใหญ่ของเรือลำนี้ ต้องอาศัยการประคับประคองจากตัวช่วยมากมาย และเรือเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากทั้งแรงลมส่ง (tailwind) และแรงลมต้าน (headwind) โดยเฉพาะมรสุมที่มีกำลังรุนแรง นั่นคือการระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19  ที่ยังไม่รู้ว่าจะอ่อนกำลังลงเมื่อใด

หากส่องกล้องมองไปยังเส้นทางข้างหน้าจะเห็นว่า ถึงแม้จะมี “แรงลมส่ง” อย่างเช่น มาตรการการคลัง และการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่จะช่วยผลักใบเรือให้แล่นได้เร็วขึ้น แต่ก็มี แรงลมต้าน” กำลังแรงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด 19 ที่ยืดเยื้อทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงความเปราะบางของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs ในช่วงที่มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐทยอยหมดลง ซึ่งจะมาฉุดรั้งการเดินหน้าไปสู่ฝั่งฝันของเรือลำนี้ที่ชื่อว่าเศรษฐกิจไทย

เมื่อเริ่มมองเห็นว่าเรือของเราจะเจอกับอะไร ก็ต้องมีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ หาวิธีใช้ประโยชน์จากแรงลมส่งและลดผลกระทบจากแรงลมต้าน เพื่อประคับประคองให้เรือของเราแล่นต่อไปให้ได้ในช่วง 2 ปีข้างหน้าที่ท้าทายนี้

ครึ่งปีแรก มรสุมโควิดลูกเดิมหวนคืน

       ยังไม่ทันหมดปี 2563 มรสุมลูกใหญ่ที่ชื่อว่าโควิด 19 ก็หวนกลับมาใหม่อีกครั้ง และกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากมาตรการควบคุมการระบาดที่ถึงแม้ไม่ได้เข้มงวดเท่าครั้งที่แล้ว แต่ยังคงส่งผลกระทบต่อหลายภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการอย่างธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการบินที่เพิ่งจะมีความหวังฟื้นตัวจากผลกระทบของมรสุมลูกก่อน

นอกจากนี้ มาตรการพักชำระหนี้ที่เป็นเหมือนการอุดรูรั่วของเรือชั่วคราวแม้มีการต่ออายุมาตรการแต่ระดับของหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจก็อาจยังคงปรับเพิ่มขึ้นและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจังจะช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืนได้ เหมือนการถอดชิ้นส่วนออกมาซ่อมแซมให้เรือแข็งแรงในระยะยาว

ยังโชคดีที่ยังมีแรงลมส่งที่จะดันให้เรือแล่นต่อไปได้ นั้นคือมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นแรงหลักในการประคับประคองเรือเศรษฐกิจไทย ผ่านทั้งมาตรการทางสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและทันกาล ซึ่งจะช่วยให้เราฟันฝ่ามรสุมลูกนี้ไปได้อย่างรวดเร็ว และมาตรการทางการคลังที่จะช่วยพยุงเรือไว้ไม่ให้เสียหลักในระหว่างที่ปะทะกับมรสุม โดยล่าสุดภาครัฐก็ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมอีกหลายโครงการ เช่น มาตรการชดเชยเยียวยารายได้แก่กลุ่มแรงงาน เกษตรกร และอาชีพอิสระผ่าน “โครงการเราชนะ” วงเงินเดือนละ 3,500 บาท ต่อคนต่อเดือน จำนวน 2 เดือน และมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น

ครึ่งปีหลัง ลมส่งวัคซีนเริ่มพัดมา ได้เวลาสตาร์ทเครื่องยนต์ภาคท่องเที่ยว

ในครึ่งหลังของปี 2564 การกระจายของวัคซีนป้องกันโควิด 19 ทั้งในไทยและต่างประเทศจะทำให้ไทยพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เพิ่มขึ้น เหมือนลมเป็นใจเปลี่ยนด้านพัดเรือไปข้างหน้า จึงเป็นเวลาเหมาะสมที่จะจุดเครื่องยนต์หลักคือภาคการท่องเที่ยวที่ดับมานานให้กลับมาทำงานอีกครั้ง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนของวัคซีนทั้งในแง่ประสิทธิภาพและการกระจายให้กับประชากร นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวยังเผชิญกับหลายปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าคุณภาพซึ่งนำมาสู่อุปทานส่วนเกิน เป็นต้น

ในฝั่งของแรงลมต้านนั้น มาตรการทางการเงินที่ออกมาในช่วงก่อนหน้า เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ การผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ และการผ่อนปรนเกณฑ์สินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งจะครบกำหนดในปลายปี 2564 อาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสภาพคล่องของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและอาจพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้ปัญหาสภาพคล่องเป็นลมต้านการล่องไปข้างหน้าของเรือเศรษฐกิจไทย

ปี 65 เรือเดินหน้าเต็มตัว ถึงเวลายกเครื่องเศรษฐกิจ

ปี 2565 เรือเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเดินหน้าได้เกือบเหมือนก่อนโควิด 19 จากแรงส่งภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จากการกระจายของวัคซีนที่ทั่วถึงส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ ภาคการท่องเที่ยวจะยิ่งมีบทบาทสำคัญขึ้นเมื่อบทบาทของการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มลดลงหลัง พ.ร.ก. กู้เงินฯ หมดลง และเรากำลังข้ามผ่านไปยังทะเลใหม่ที่ชื่อว่า “โลกหลังโควิด 19 ที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวทั่วโลกอาจเปลี่ยนไป จากการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสาธารณสุขมากขึ้น จึงอาจต้องใช้เวลานานกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าเดิม เมื่อพึ่งพาปริมาณไม่ได้เหมือนเดิม จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวให้เน้นด้านคุณภาพ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) และการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (long stay) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า

จะเห็นได้ว่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า เรือเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับคลื่นลมที่ผันผวนอย่างมาก ถึงแม้จะมีแรงลมส่ง แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ดังนั้น เราจะต้องมั่นใจได้ว่าเรือลำนี้พร้อมรับมือกับคลื่นลมในเส้นทางข้างหน้า โดยจะต้องหาวิธีลดโอกาสที่จะเผชิญกับมรสุม มี “เกราะป้องกัน” ความผันผวนของคลื่นลม และมี “แผนรองรับ” เมื่อเกิดผลกระทบขึ้น

การรับมือกับคลื่นลมที่หลากหลาย จะทำได้ก็ต้องประสานนโยบายร่วมกับหลากหลายหน่วยงาน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการคลัง และด้านการเงิน โดยเฉพาะความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในขณะที่เครื่องยนต์อื่นยังทำงานไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ในระยะยาวไม่เพียงแค่ภาคท่องเที่ยวที่ต้อง “อัพเกรด” แต่ทั้งเรือลำนี้จำเป็นต้องมี “การปรับโครงสร้าง” เพื่อให้เรือเศรษฐกิจไทยไม่เพียงแล่นได้เร็วขึ้น แต่ยังทนทานต่อคลื่นลมแห่งความไม่แน่นอนที่จะต้องเผชิญต่อไปได้ในอนาคต

 *บทความโดย  ปวีร์ ศิริมัย เศรษฐกร ฝ่ายนโยบายการเงิน และ นนท์ พฤกษ์ศิริ เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาคธนาคารแห่งประเทศไทย บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

161098298618