ประเทศไทยได้อะไร จากเทศกาล 9.9 10.10 11.11 12.12 (1)

ประเทศไทยได้อะไร  จากเทศกาล 9.9 10.10 11.11 12.12 (1)

ประเทศไทย แม้จะไม่ได้ให้ความสำคัญจัดฉลองวันคนโสดเหมือนจีน แต่อีคอมเมิร์ชเจ้าตลาดของไทยแทบทุกราย ก็พร้อมใจกันส่งโปรโมชั่นลดแรงแห่งปีมาฟาดฟัน

จริงๆ แล้วที่มาของโปร 9.9 10.10 11.11 จนลามไปถึง 12.12 นี้ มีที่มาจากเว็บค้าขายยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ที่เล็งเห็นโอกาสในวันที่ 11 เดือน พ.ย. สำหรับชาวจีนแล้วถือว่าเป็นวัน คนโสดแห่งชาติ” แจ็ค หม่า บิ๊กบอสได้สร้างปรากฏการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์ระดับชาติ ด้วยการลดแหลก! เป็นที่จดจำพอๆ กับเทศกาลชอปปิง Black Friday หรือ Cyber Monday ของฝั่งอเมริกาและยุโรป

คนไทยติดแชมป์ช้อปตามเทศกาล 9:9 10:10 11:11 12:12

เมื่อเดือน ก.ย.2563 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เผยรายงานผลสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปี 2562 แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงปลายปี 2563 แล้วก็ตาม แต่รายงานครั้งนี้ได้เปิดเผยข้อมูลการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ในไทยที่น่าจับตามอง ซึ่งผลจากปี 2561 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่า 3.76  ล้านล้านบาท โดยทำการสำรวจจาก 3 กลุ่มผู้ประกอบการได้แก่ B2B (ธุรกิจสู่ธุรกิจ) B2C (ธุรกิจสู่ผู้บริโภค) B2G (ธุรกิจสู่หน่วนงานภาครัฐ) พบว่าในปี 2562 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าเพิ่มมาอยู่ที่ 4.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 กว่า 6.91%

ปัจจัยหลักสนับสนุนธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี นอกเหนือจากการทุ่มเงินทำการตลาด ประชาสัมพันธ์และโปรโมชั่น ปัจจัยหลักที่สำคัญการตั้งราคาขายที่ต่ำสุดๆ จนต่ำกว่าทุน เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจให้เร็ว จบการขายให้เร็ว และสร้างยอดขายสูงสุด

ปี 2563 ประเทศไทย แม้จะไม่ได้ให้ความสำคัญจัดฉลองวันคนโสดเหมือนที่จีน แต่อีคอมเมิร์ชเจ้าตลาดของไทยแทบทุกราย ก็พร้อมใจกันส่งโปรโมชั่นลดแรงแห่งปีมาฟาดฟัน พิชิตใจขาช้อปกันอย่างพร้อมเพรียง

เริ่มจากผู้เล่นรายใหญ่อย่าง Lazada (ของ Alibaba) มีโปรหั่นราคา!  หั่นเสียจนสินค้าบางชิ้นเริ่มต้นที่ 0 บาท และแจกคูปอง 1,111 บาท แจกทุก 11 โมง ตั้งแต่วันที่ 1-11 พ.ย. 2563

ส่วน Shopee ก็ตามติด Lazada ด้วยการแจกคูปอง 1,111 บาท และส่งสินค้า Flash Sale ราคาเริ่มต้นแค่ 9 บาท ในวันที่ 11.11 ถึง 3 รอบ

ทางฝั่ง JD Central อีคอมเมิร์ซน้องเล็ก ก็ร่วมจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าสูงถึง 90% ในเทศกาลนี้ด้วย เรียกว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยนั้นแข่งกันดุเดือดไม่แพ้อีคอมเมิร์ซจีนกันเลย

อีคอมเมิร์ซไทยอยู่ในมืออีมาร์เก็ตเพลสต่างชาติิ

หากพิจารณาตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีมาร์เก็ตเพลส (e-Marketplace) เจ้าใหญ่ในไทยทั้ง 3 แพลตฟอร์มคือ Lazada, Shopee และ JD พบว่า Lazada ที่มี Alibaba Group เป็นบริษัทแม่ และ JD Central ที่เกิดขึ้นจากการร่วมทุนของ JD (Jingdong) กับกลุ่ม Central ของไทย ต่างเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ลงทุนเป็นชาวจีน

ส่วน Shopee เป็นของ Garena ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ประเทศสิงคโปร์ แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ Tencent จากจีน เห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับการไหลทะลักเข้ามาทำธุรกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซของนายทุนชาวจีนและเพื่อนบ้านที่มีความพร้อมด้านเม็ดเงินและทรัพยากรอื่นๆ

ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จากการคำนวณจำนวนทั้งหมดของสินค้าที่อยู่บนอีมาร์เก็ตเพลส 3 แพลตฟอร์มใหญ่ พบว่าในปี 2561 มีสินค้ารวม 74 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปี 2562 มีมากถึง 174 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า โดยสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 77% มาจากต่างประเทศโดยเฉพาะ “จีน” ส่งผลให้จำนวนสินค้าจากประเทศไทยเองกลับมีสัดส่วนอยู่บนแพลตฟอร์มน้อยกว่ามาก ในปี 2563 สินค้าที่อยู่บนอีมาร์เก็ตเพลส 3 แพลตฟอร์มใหญ่ของไทย มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 85% เป็นสินค้าที่มาจากจีน

จะเห็นว่า ตลาดอีมาร์เก็ตเพลส  เราไม่ได้แข่งในเกมที่ไทยเป็นผู้กำหนดกติกา หากแต่เป็นเกมของต่างชาติที่มาใช้ไทยเป็นสมรภูมิแข่งขัน โดยกลุ่มอีมาร์เก็ตเพลส ที่ 3 ผู้ยิ่งใหญ่ Shopee-Lazada-JD กำลังมีอำนาจเหนือตลาดอย่างเบ็ดเสร็จแม้จะไม่ผูกขาด! ตามนิยาม คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าว่า...ถ้าผูกขาดต้องเป็นผู้เล่นรายเดียว!!??