ความทุกข์การเรียนออนไลน์ !

ความทุกข์การเรียนออนไลน์ !

มาตรการปิดโรงเรียน เป็นมาตรการที่ทั่วโลกใช้สร้าง social distancing เพื่อรับมือและลดการแพร่ระบาดของ COVID-19

COVID-19 นำความท้าทายใหม่มาให้ทุกวงการ รวมถึงวงการศึกษา วันนี้พ่อแม่ที่มีลูกเล็ก และลูกไปโรงเรียนไม่ได้ ต้องหันมาเรียนออนไลน์ คงเข้าใจความท้าทายใหม่นี้ดี

มาตรการปิดโรงเรียน เป็นมาตรการที่ทั่วโลกใช้สร้าง social distancing เพื่อรับมือและลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่นเดียวกับประเทศไทยนับแต่การระบาดรอบแรกในปีก่อน ที่บางช่วงโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน

ล่าสุดจากการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการออกคำสั่งปิดโรงเรียนในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงจนถึงปลายเดือน ม.ค. 2564 ทั้งนี้รวมโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครด้วย

เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์จากที่บ้านโดยเฉพาะในเด็กเล็ก จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ในการช่วยจัดการ เตรียมการเรียนการสอน หลายครั้งนำความท้าทายหรือทุกข์ใจมาสู่ครอบครัวไม่น้อย ตัวอย่างเช่น

• พ่อแม่หลายคนไม่สามารถดูแลช่วยเหลือลูกในการเรียนได้ เพราะยังต้องออกจากบ้านไปทำงานตามปกติ

• พ่อแม่ที่ทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home ก็ประสบปัญหาที่ต้องทั้งทำงานของตัวเอง และช่วยลูกเรียนหนังสือไปด้วย

• การเรียนออนไลน์ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น คอมพิวเตอร์ ครอบครัวใดมีลูกหลายคน ก็ต้องมีหลายเครื่อง หรือปริ้นเตอร์ บางบ้านไม่มีปริ้นเตอร์ ไม่สามารถพิมพ์แบบเรียนหรือแบบฝึกหัดที่ครูส่งมาให้ลูกทำได้

• อุปกรณ์หรือวิธีการใช้งานโปรแกรมต่างๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ปกครองต้องอยู่ด้วยตลอด เพื่อคอยแก้ปัญหาหน้างานที่เกิดได้เสมอ เช่น อินเตอร์เน็ตหลุด ต้องเข้าโปรแกรม zoom ใหม่ เด็กเล็กหลายคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

• ปู่ย่าตายายหรือพี่เลี้ยง ที่ไม่มีประสบการณ์หรือคุ้นเคยเรื่อง IT หรือคอมพิวเตอร์ แม้อยากช่วยดูแล ก็ไม่สามารถช่วยได้

• บ้านหรือที่พักอาศัยหลายคนไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน ไม่มีพื้นที่เพียงพอ มีเสียงดังรบกวน 

• เด็กหลายคนที่ชีวิตประจำวันอาศัยทรัพยากรจากโรงเรียนในการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น อาหารกลางวัน นม สันทนาการ ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้

ผลกระทบของการเรียนออนไลน์ยังทำให้เด็กหลายคนรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา ขณะเดียวกันพ่อแม่หลายบ้านก็รู้สึกเครียดขึ้น หากบ้านใดกำลังรู้สึกเช่นนี้ อยากให้กำลังใจว่าไม่แปลก เพราะหลายบ้านก็รู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน 

มีตัวอย่างงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเรื่องผลกระทบของการเรียนออนไลน์ ในผู้ปกครองชาวอเมริกัน 405 คน ที่มีลูกอย่างน้อย 1 คนอายุต่ำกว่า 12 ปี และครึ่งหนึ่งของผู้ปกครองมีลูกอายุระหว่าง 2-5 ปี พบว่า 40% ของผู้ปกครองรู้สึกเครียดจากการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ โดย 25% ให้ข้อมูลว่า บ้านมีอุปกรณ์หรือสภาพไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์

ไม่ใช่แค่ผู้ปกครองเท่านั้นที่เครียดขึ้น เด็กหลายคนก็เครียดขึ้นด้วย ผลสำรวจของ Washington Post จากผู้ปกครองที่มีลูกต้องเรียนออนไลน์ 60 คน พบว่าลูกตัวเองเครียดขึ้น บ้างก้าวร้าวขึ้น บ้างเบื่ออาหาร บ้างปวดหลัง บ้างมีปัญหาเจ็บตาหรือตาอ่อนล้า

มีงานวิจัยในประเทศจีน สำรวจนักเรียนในมณฑลหูเป่ยที่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาดตั้งแต่วัน 24 ม.ค. 2563 โดยเก็บข้อมูลนักเรียนเกรด 2 ถึง 6 จำนวน 2,330 คน ระหว่าง 28 ก.พ.-5 มี.ค. 2563 พบว่ามีนักเรียนมากถึง 40% ที่เผชิญความเครียดและวิตกกังวล

นายแพทย์ Matthew Biel ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก โรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ชี้ว่า เด็กเล็กเช่นในวัย 7 ขวบ ยังต้องการได้รับความสนใจ เช่นหากตัวเองยกมือ ก็อยากให้คุณครูเห็น ซึ่งการเรียนผ่านอินเตอร์เน็ตทำได้ยาก นอกจากนี้เด็กๆ ยังต้องการการคุยเล่น เดินเล่น หรือสนุกกับเพื่อนได้ กลุ่มเด็กที่น่าเป็นห่วงสุดในสถานการณ์นี้ ได้แก่ เด็กที่มีพัฒนาการช้า เด็กที่ไม่ชอบเข้าสังคม หรือเด็กกลุ่มพิเศษ

การประเมินผลกระทบของ COVID-19 ต่อการศึกษาในระดับโลกพบว่า COVID-19 ส่งผลให้นักเรียนอายุ 10 ปีในประเทศรายได้กลางและรายได้ต่ำมากถึง 53% เผชิญปัญหาต้องออกจากโรงเรียน ไปโรงเรียนไม่ได้ ไม่สามารถเรียนหนังสือได้ โดยในช่วงที่ระบาดรุนแรงมากสุด มีนักเรียนถึง 1,600 ล้านคนที่ไม่สามารถไปโรงเรียน

ในจำนวน 1,600 ล้านคนพบว่า มากกว่าครึ่งของนักเรียนกลุ่มนี้ โรงเรียนปิดนานกว่า 7 เดือน และแม้รัฐบาลเกือบทุกประเทศพยายามผลักดันให้มีการเรียนการสอนแบบทางไกลหรือออนไลน์ จากการสำรวจของ UNICEF, UNESCO และธนาคารโลกพบว่า มีน้อยกว่าครึ่งของนักเรียนกลุ่มนี้ที่เข้าถึงการเรียนแบบทางไกลหรือเรียนออนไลน์ ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าถึงล้วนอยู่ในประเทศกลุ่มรายได้กลางและสูง

ทั้งนี้ ในประเทศรายได้ต่ำ มีเพียง 10% ของนักเรียนที่ที่บ้านมีอินเตอร์เน็ต หลายพื้นที่ในหลายประเทศ การเชื่อมต่อสัญญานอินเตอร์เน็ตยังมีคุณภาพต่ำและราคาแพง กระทั่งในลาตินอเมริกา ยังมีนักเรียนเพียง 50% เท่านั้น ที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่บ้าน 

ต้องบอกว่า ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์เพื่อเรียนออนไลน์ ไม่ได้มีแต่ในครัวเรือนรายได้น้อยเท่านั้น แม้ในครัวเรือนรายได้กลางและสูง หลายครอบครัวก็ไม่ได้มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพียงพอรองรับสำหรับเด็กทุกคนในครอบครัว หลายครอบครัว เด็กๆ ต้องแบ่งอุปกรณ์กันใช้

จากการประเมินของธนาคารโลก COVID-19 ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาที่นักเรียนได้รับสูญเสียไปราว 0.6 ปี หากคำนวณเป็นผลกระทบเชิงรายได้ในอนาคตที่นักเรียนกลุ่มนี้จะได้รับ คิดเป็นต้นทุน 872 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือเทียบเท่า 16,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดช่วงชีวิตการทำงาน COVID-19 ยังส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ทั้งในมิติผลการศึกษา ทั้งต่อเด็กผู้หญิง และบุคคลผู้พิการหรือทุพลภาพ

ทั้งนี้อยากชวนคุณพ่อคุณแม่ให้กำลังใจคุณครูด้วย เพราะไม่ใช่แค่ฝั่งนักเรียนหรือผู้ปกครองเท่านั้นที่เครียดขึ้นหรือขาดแคลนอุปกรณ์ ฝั่งคุณครูก็เช่นกัน คุณครูจำนวนมากและโรงเรียนหลายแห่งไม่ได้มีความพร้อมด้านอุปกรณ์หรือทักษะทางดิจิทัล ครูหลายคนใช้โปรแกรมเช่น Google Classroom, Zoom หรือ Teams ไม่คล่อง ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความสามารถของครูในการถ่ายทอดหรือสอนผ่านออนไลน์ เพราะต้องยอมรับว่า หากเทียบกับการสอนที่โรงเรียนแบบเห็นหน้าค่าตาลูกศิษย์แล้ว การสอนออนไลน์โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นการยากกว่าสำหรับคุณครูที่จะดึงความสนใจของเด็กได้ตลอดการเรียนการสอน

สำหรับรัฐบาล ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐควรมีหน้าที่สร้าง จัดหา หรือเตรียมสิ่งจำเป็น เพื่อช่วยให้ผู้ปกครอง นักเรียน และคุณครูสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในเรื่องอุปกรณ์หรืออินเตอร์เน็ต รัฐบาลควรมีแผนระยะยาว เพราะยังไม่แน่ชัดว่าวิกฤตจะจบลงเมื่อไร และต้องมีการปิดโรงเรียนอีกหรือไม่

ในต่างประเทศ การสลับจัดการเรียนการสอนโดยยังให้โรงเรียนเปิดทำการได้ และให้สอนในสนามหญ้าหรือสถานที่เปิดโล่งของโรงเรียน เพื่อยังสามารถรักษา social distancing และลดความเสี่ยงติดเชื้อ ขณะเดียวกันเด็กยังสลับไปโรงเรียนได้ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

นอกจากนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับนักเรียนที่พึ่งพาทรัพยากรจากโรงเรียน เช่น อาหาร เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตของนักเรียนในกลุ่มนี้ 

สุดท้าย สำหรับคุณพ่อคุณแม่ แม้การที่โรงเรียนปิด และให้เด็กเรียนออนไลน์จะสร้างความทุกข์ใจและผลกระทบหลายประการ แต่ก็มีข้อดีหลายอย่าง เช่น ทำให้พ่อแม่ต้องมีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ได้ใกล้ชิดลูกมากขึ้น พ่อแม่มีโอกาสเห็นสิ่งที่ลูกเรียน เห็นเนื้อหาและวิธีการสอนของคุณครูแต่ละท่าน ที่ปกติอาจไม่มีโอกาสได้เห็น 

ประการสำคัญสุด อยากชวนคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านตระหนักว่า การศึกษาของลูกเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทั้งระหว่างนักเรียน คุณครู และผู้ปกครอง และนี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เราต้องทำงานหนักหน่อย 

เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ