ธุรกิจโรงแรมและที่พักกับการรอคอยที่ไร้ความหวัง (ต่อ)

ธุรกิจโรงแรมและที่พักกับการรอคอยที่ไร้ความหวัง (ต่อ)

สถาบันการเงินทุกแห่งที่เป็นเจ้าหนี้คงต้องหาทางให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมยังอยู่ในมือคนไทย ไม่ถูกชอปปิ้งราคาถูกโดยต่างชาติ !

ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีการประเมินการสูญเสียรายได้ของธุรกิจโรงแรมก่อนการระบาดของโควิด 19 รอบสองคาดว่าจะติดลบประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ความหวังที่รอคอยฤดูการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึง มกราคม 2564 ถูกทำลายลงเนื่องจาก

การแพร่ระบาดครั้งนี้รุนแรงและกระจายไปทั่วประเทศ นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เป็นความหวังเดิมเคยคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ประมาณ 4.02 ล้านบาท ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากมีการยกเลิกการ Booking เป็นจำนวนมาก ทั้งปี 2563 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยจะลดลงไม่ต่ำกว่า 40%

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับหลายธุรกิจ นอกจากธุรกิจโรงแรม ยังมีธุรกิจรถเช่า ไกด์นำเที่ยว แหล่งชอปปิ้ง ร้านค้าและร้านอาหาร การท่องเที่ยวภายในประเทศจะมีการท่องเที่ยวเฉพาะวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวแบบครอบครัว มีการใช้จ่ายอย่างประหยัด จึงไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจโรงแรมมีรายได้เพิ่มเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 7 ล้านคน แรงงานประมาณ 1.8 ล้านคน ที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมอาจเสี่ยงต่อการเลิกจ้างได้

สำนักวิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลหนี้ครัวเรือน เพียงสิ้นไตรมาส 3/2563 มูลค่าสูงถึง 13.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.82 แสนล้านบาท จากไตรมาสก่อน สูงสุดในรอบ 18 ปี คาดว่าสิ้นปี 2563 จะสูงเหนือระดับ 90% ต่อ GDP มีโอกาสเพิ่มขึ้นในปี 2564 ทะลุ 14 ล้านล้านบาท การมีภาระหนี้สูงขนาดนี้จึงไม่มีอารมณ์ท่องเที่ยว คนรวยที่มีเงินเหลือจากการท่องเที่ยวต่างประเทศที่เป็นความหวังจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวก็หวดผวาต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 จนไม่กล้าออกจากบ้าน ทำให้ธุรกิจโรงแรมและที่พักลำบากมาก โรงแรม 90% ได้ประกาศปิดชั่วคราว คาดว่าโรงแรมไม่ต่ำกว่า 20% ต้องปิดถาวร เพราะไม่อาจแบกรับต้นทุนได้ โรงแรมบางแห่งได้ทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือน กรกฎาคม 2563 การแพร่ระบาดระลอกสองที่กำลังรุนแรงขณะนี้ คาดการณ์ว่าจะมีโรงแรมปิดถาวรเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวที่มีการคาดการณ์ว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 ก็คงจะต้องรอคอยต่อไป

สำหรับโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้แก่โรงแรมที่ตั้งอยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี และพังงา ททท คาดการณ์ว่า รายได้จะหายไป 1.5 ล้านล้านบาท ได้พยายามประคับประคองกิจการให้อยู่รอดเพื่อรักษาแรงงานไว้ด้วยการลดราคาเพื่อชักจูงให้คนไทยไปใช้บริการโดยเฉพาะคนไทย 10 ล้านคน ที่นิยมไปเที่ยวต่างประเทศ การระบาดของโควิด19 ทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทยไม่ได้ผล

ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เดินทางไปที่อำเภอหัวหิน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็เงียบเหงาไม่คึกคักเหมือนทุกปี เดินผ่านร้านอาหารชายหาดโดยเฉพาะร้านค้าเล็ก ๆ ที่เป็น SMEs ได้ยินแต่เสียงบ่นถึงความยากลำบาก บางรายต้องขายทรัพย์สินเพื่อความอยู่รอด บางรายต้องไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงถึง 20% ต่อเดือน ผมก็นึกถึง Helicopters Loan ที่ต่างประเทศทำแล้วได้ผลดีกว่า Helicopters Money ที่แจกเงินอย่างเดียวเหมือนที่เกิดในประเทศไทย ฟังเสียงบ่นของคนหาเช้ากินค่ำแล้วเชื่อว่าจะมีปัญหาสังคมเกิดขึ้นแน่นอน

ประสบการณ์ที่เคยอำนวยสินเชื่อให้ธุรกิจโรงแรมตอนยังทำงานที่แบงก์ โรงแรมที่กู้เงินมาก มี Debt Equity Ratio สูงกว่า 1 ถ้าประสบปัญหาจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ความรุนแรงของการระบาดโควิด 19 ครั้งนี้ สถาบันการเงินได้พยายามช่วยเหลือด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ แต่โรงแรมไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลายเป็น NPLเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลสินเชื่อ และระบบ NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยอดสินเชื่อธุรกิจโรงแรม ในปี 2563 ไตรมาส 1 จำนวน 363,969 ล้านบาท ไตรมาส 2 จำนวน 401,881 ล้านบาท ไตรมาส 3 จำนวน 428,806 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2562 ถึง 23% จำนวน NPL เพิ่มจากต้นปี 2563 ทุกไตรมาส จาก 3.7% เป็น 3.8% และ 4.4% คาดว่า ไตรมาส 4 จะเพิ่มสูงกว่า 5%

สถาบันการเงินทุกแห่งที่เป็นเจ้าหนี้คงต้องหาทางให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ธุรกิจโรงแรมยังอยู่ในมือคนไทย ไม่ถูกชอปปิ้งราคาถูกโดยต่างชาติ ตอนต่อไปจะนำเสนอแนวทางแก้ไขหนี้ของธุรกิจโรงแรมและที่พักจากประสบการณ์และข้อคิดเห็นจากเจ้าของโรงแรม น่าสนใจครับ.....