รีสตาร์ทธุรกิจรับโควิดระลอกใหม่ 2564

รีสตาร์ทธุรกิจรับโควิดระลอกใหม่ 2564

ห่วงโซ่ของของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของมหันตภัยร้ายโควิด-19 ที่ยังคงลุกลามไม่หยุด

การเข้ามาของไวรัสโควิด-19 ได้ทำลายห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวในและต่างประเทศ ไปจนถึงนโยบายขององค์กรต่างๆ ที่ให้พนักงานงดการเดินทางไปต่างประเทศและต่างจังหวัดโดยไม่จำเป็น! ตลอดจนการ “Lock Down” ประเทศ จนถึงการ “Shut Down” ร้านค้า ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ทั่วประเทศ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ มากมาย นับตั้งแต่...

โลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีจะทำลาย (Disrupt) รูปแบบธุรกิจแบบเดิมๆ ธุรกิจดั้งเดิมที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคได้ อาทิ การเรียนการสอนออนไลน์ แรงงานคนจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและหุ่นยนต์มากขึ้น กระทบโดยตรงกับแรงงานและผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างๆ และเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ธุรกิจเหล่านั้นปรับตัวให้ทันโลกที่หมุนเร็วขึ้น

การซื้อขายออนไลน์จะเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะวิกฤติบังคับให้ผู้บริโภคจำต้องเดินข้ามกำแพงแห่งความเคยชินเดิมในการจับจ่าย ซึ่งในที่สุดก็จะคุ้นชินและกลายเป็น New normal เทคโนโลยีจะเชื่อมให้ผู้ผลิตต้นทางติดต่อได้โดยตรงกับผู้ซื้อปลายทาง เช่นเดียวกับความคิด From-farm-to-table จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร พ่อค้าคนกลางจะถูกลดบทบาทความสำคัญลง แต่แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์และการส่งสินค้าจะเติบโตขึ้น อาทิ การโพสต์ขายสินค้าในกลุ่มสมาชิกต่างๆ ในไลน์หรือเฟซบุ๊ค

ซื้อสินค้าและบริการด้วยเหตุผล เพราะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและวิกฤติครั้งนี้ทำให้เรารู้ว่าอะไรที่มีความจำเป็นในชีวิตและอะไรเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยด้วยเหตุผลจะเป็นที่นิยมมากกว่าอารมณ์ อาทิ การซื้อที่อยู่อาศัยจะเน้นความคุ้มค่ามากกว่าความสวยงามและราคาที่เกินจริง สินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยจะถูกลดลงและเปลี่ยนมาเป็นเงินออม เช่น สินค้าเครื่องประดับราคาแพง ร้านอาหารและคาเฟ่

สังคมปลอดเชื้อ จะเป็นแนวคิดและแนวทางปฏิบัติในที่สาธารณะ จะมีมาตรการป้องกันและตรวจหาเชื้อโรคเพื่อป้องกันการระบาดของโรคอื่นๆ ในอนาคต เช่น การรณรงค์เรื่องความสะอาดถูกสุขอนามัยในที่สาธารณะ การตรวจเช็คป้องกันคนไม่สบายในการร่วมกิจกรรมสาธารณะ หรือเดินทางด้วยขนส่งมวลชนสาธารณะและระหว่างประเทศ การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อในสถานที่สาธารณะจะมีความเข้มข้นขึ้น กิจกรรมรวมตัวในที่สาธารณะ เช่น คอนเสิร์ต การชุมนุม จะมีมาตรการสาธารณสุขใหม่ๆ มารองรับ

นับเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจร้านอาหารที่ต้องส่งเสริมการให้บริการผ่านการซื้อและบริการจัดส่งถึงบ้านแทนการรับประทานในร้านตามปกติ ซึ่งในเรื่องการจัดส่งถึงบ้าน ร้านอาหารที่อยู่ในหมวด QSR จะมีข้อได้เปรียบด้านประสบการณ์มากกว่าร้านอาหารทั่วไป

กิจกรรมบริการจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่น บริการนวด การเสริมสวย การพบแพทย์หรือรับยาออนไลน์ โดยผ่านการนัดหมายเวลาเพื่อป้องกันการรวมตัวกันโดยไม่จำเป็น เพราะนอกจากเวลาจะเป็นสิ่งที่มีค่าแล้ว ความเสี่ยงในการรวมตัวกันจะถูกลดโดยการนัดหมายด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย

++ ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่อย่างไร

Lean Process ผู้บริหารต้องพิจารณาลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สภาพคล่อง” คือ เส้นเลือด! วิเคราะห์กระบวนการตามแนวทางของ ระบบ Lean อย่างเข้มข้น รัดเข็มขัดด้วยการรีดไขมันหรือความสูญเสีย (Waste) พนักงานทุกคนต้องตั้งคำถามว่า...มีการใช้ทรัพยากรใดอยู่บ้างที่ไม่ได้นำ คุณค่า” ไปสู่ลูกค้า

Lean Organization  ลดขนาดองค์กรให้เล็กลง ปรับโครงสร้างควบรวมธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น และลดจำนวนแรงงานในสถานประกอบการเป็นการเดินทางของธุรกิจวิถีใหม่ กอปรทั้งภัยคุกคามการจ้างงาน จากการเร่งตัวของเทคโนโลยีก้าวหน้าในรูปแบบต่างๆ ที่เป็น “Disruptive Technology” จะเข้ามาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์ เช่น AI, Robots, Smartphone, Internet of things, Automation ฯลฯ

การจ้างงานเป็นรายชั่วโมง! Hourly Wage Employ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและธุรกิจค้าปลีกบริการอย่างร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นธุรกิจที่มีช่วงเวลาที่ลูกค้ามารับบริการเป็นช่วงๆ เช่น ช่วง 7 โมงเช้าถึง 9 โมงเช้า จากนั้นลูกค้าก็จะเบาบาง และมาแน่นอีกครั้งช่วง 11.30-13.30 น. และจะว่างจนถึงเย็นก็จะพีคอีกช่วง 18.00-20.00 น. ดังนั้น การจ้างงานเป็นรายชั่วโมงจึงทำให้เกิดการยืดยุ่นและมีประสิทธิภาพ ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ที่กระทรวงแรงงานจะประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงในเร็วๆ นี้

หมดยุคขยายสาขา! ธุรกิจร้านอาหารหันมาใช้บริการ Cloud kitchen นอกจากการลงทุนโรงครัวจะไม่มี ค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงานก็ยังลดลง เพราะไม่ต้องมีพนักงานในส่วน Front-house เหมือนร้านอาหารปกติอีกต่อไป มีเพียงพนักงานประกอบอาหารฝั่ง Back-house

หมดยุคเก่งด้านเดียว! ความถนัดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางรอดของคนทำงานในยุคนี้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้างาน หรือ เด็กจบใหม่ ก็ต้องพัฒนาตัวเองไปสู่ทักษะที่หลากหลายหรือ Multi Skill กันทั้งนั้น พนักงานให้บริการหน้าร้าน ก็ต้องทำงานด้านแคชเชียร์ได้ เป็นเชฟในครัวได้ การเป็นเชฟก็คงไม่มีการแยก ต้องทำได้ทั้งอาหารไทย จีน ญี่ปุ่น และอินเตอร์

การลดสินค้าคงคลัง เป็นอีกทิศทางสำคัญ ควรตัดใจสะสางสินค้าสำเร็จรูป วัตถุดิบ และสินทรัพย์อื่นที่ไม่จำเป็น จากนั้นตั้งเป้าหมายในการลดสต็อกทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่วัตถุดิบ งานระหว่างกระบวนการ จนถึง สินค้าสำเร็จรูปก่อนส่งมอบลูกค้า กระชับความร่วมมือกับผู้ส่งมอบ ทบทวนนโยบายการสั่งซื้อตามความต้องการตลาดที่แท้จริง เพื่อลดการเก็บวัตถุดิบ ยืดระยะเวลา Credit ที่ทำให้ “ห่วงโซ่อุปทาน” ยังรอดไปด้วยกันได้

องค์กรต้องถามตนเองว่า รูปแบบธุรกิจในปัจจุบันยังสามารถแข่งขันได้ในยุคหน้าหรือไม่ และจะหาโอกาสหรือช่องทางการขยายตัวอย่างไร คำถามท้าทายด้าน คน” ของทุกองค์กรคือ จำนวนคนที่เหมาะสมต่อองค์กรในระยะยาวคือเท่าใด? ต้องมีการพัฒนาทักษะความรู้เพิ่มเติมอะไรบ้าง? เพื่อการวางแผนกำลังคนตั้งแต่ตอนนี้

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้จากบุคลากรที่องค์กรต้องพัฒนาให้มีความรู้เท่าทันท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรม 4.0 เช่นนี้ เช่น หุ่นยนต์ Automation Sensors กล้องอัจฉริยะตรวจจับความผิดปกติ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่องานต้นแบบ ยังมีเทคโนโลยีสนับสนุนด้านอื่นๆ อีก เช่น Platform Online ต่างๆ ระบบสารสนเทศในการจัดการองค์กร AI (ปัญญาประดิษฐ์) AR(Augmented Reality) VR (Virtual Reality) Data Analytics เป็นต้น