ปีค.ศ. 2021 เศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนศูนย์กลางมาที่เอเชีย?

ปีค.ศ. 2021 เศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนศูนย์กลางมาที่เอเชีย?

โควิด-19 ยังเป็นปัญหาอันดับหนึ่งทั่วโลก และในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง แม้ว่าเจอวิกฤติโรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ยัง

 แม้ว่าเจอวิกฤติโรคระบาด เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ยังดูเหมือนบรรยากาศของการลงทุนในตลาดหุ้นคึกคัก 

ดัชนีหุ้นในตลาดอเมริกาพุ่งแรงส่งท้ายปีค.ศ. 2020 แม้ยอดผู้เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ยังคงที่กว่า 3,000 คนต่อวัน เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในยุโรป ข้ามมาถึงแคนาดาและอเมริกาแล้ว การฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ของโรคนี้ หากจะให้ได้ผลป้องกันการระบาดทั้งอเมริกา ต้องทำให้ได้ถึง 3,000,000 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันสามารถทำได้เพียง 200,000 คนต่อวัน ผู้เจ็บป่วยเข้าห้องฉุกเฉินและไอซียูเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลและบุคลากรหลายแห่งประสพปัญหาหนัก แทบจะรับไม่ไหว

สัปดาห์นี้งบประมาณ$9แสนล้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านสภาฯและทำเนียบขาวแล้ว เงินกำลังสะพัดเข้าสู่ระบบเริ่มจากการส่งเงินโดยตรงให้ประชาชนคนละ 600 ดอลลาร์(ยกเว้นผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 75,000ดอลลาร์ต่อปี) และขณะนี้กำลังมีการกดดันให้อนุมัติเพิ่มขึ้นจาก 600ดอลลาร์เป็น2,000 ดอลลาร์เงินจำนวนนี้ยิ่งทำให้ปริมาณเงินในตลาดเพิ่มขึ้น ดัชนีหุ้นไม่ตก ใครมองที่ตัวเลขนั้นอย่างเดียวก็ไม่เข้าใจว่า คนอเมริกันจำนวนมากกำลังลำบากสาหัสสากัน

งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจก็คือการยืมเงินของอนาคตมาใช้ ยอดหนี้ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเป็นปัจจุบัน 28ล้านล้านดอลลาร์(เมื่อประธานาธิบดีทรัมพ์เข้ามารับตำแหน่งสี่ปีที่แล้ว ยอดหนี้อยู่ที่ 19.9ล้านล้านดอลลาร์) แปลว่าชาวอเมริกัน 330ล้านคนแบกภาระหนี้(ภาษีอีกหลายชั่วคน)ปัจจุบันคนละ 85,000 ดอลลาร์ 

ผลผลิตทั้งอเมริกา GDPปีละ 21.9ล้านล้านดอลลาร์ (เทียบกับจีนที่15.9ล้านล้านดอลลาร์ ประเมินว่าจีนน่าจะแซงอเมริกาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกได้ไม่เกินภายในไม่เกินห้าปี)

ปีค.ศ. 2020 จีนพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19และปรับกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจได้ผลดี คาดว่าการเติบโตเศรษฐกิจจีน เป็นเศรษฐกิจใหญ่แห่งเดียวที่สามารถโตขึ้น 2% และประเมินว่าปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก 8.4% ขณะที่เศรษฐกิจใหญ่ต่างๆ หดตัวลง สหรัฐอเมริกาจีดีพีปี 2019 ขึ้น 2.2% แต่ปี 2020 ลดลง 3.6% สำหรับปีหน้า 2021 คาดว่าจะโตขึ้น 3.6%

น่าจับตาดูเรื่องการลงทุนปีหน้าโดยเฉพาะธุรกิจและอุตสาหกรรมที่จีนปูพื้นฐานในประเทศไว้ดี และที่สำคัญคือนอกจากจีนทำนโยบาย Belt Road Initiative (BRI)ได้ดีมากพอสมควรแล้ว จีนยังสามารถช่วยผลักดันให้RCEPเกิดขึ้นได้จริง

Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งเซ็นสัญญาร่วมกันในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาโดยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศและพันธมิตรทางเศรษฐกิจสำคัญอีกห้าประเทศ ครอบคลุมประชากร 30% ของโลกหรือ 2.2พันล้านคน และ30%ของเศรษฐกิจทั่วโลก Global GDP $26.2ล้านล้าน การที่จีนเป็นตัวเอกและมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ร่วมด้วยทำให้ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมีหลักการและกติกา ที่สมาชิกทุกคนสามารถปฏิบัติร่วมกันโดยมีประสิทธิภาพ โดยเน้นที่การลดขั้นตอนยุ่งยาก ลดหรือกำจัดกำแพงภาษีของการค้าขายระหว่างกัน

RCEP เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือการรวมตัวของสมาชิก15 ประเทศในภูมิภาคเดียวกันสร้างกลุ่มเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งน่าจะดึงศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกมาเอเชีย และครั้งนี้สหรัฐอเมริกาไม่ได้ถูกรับเชิญเข้ามาร่วมด้วย จึงเปรียบเสมือนอเมริกากำลังโดนลดความสำคัญลง 

ยุโรปซึ่งกำลังต่อสู้วิกฤตโควิด-19 และการกระทบกระทั่งระหว่างหลายประเทศในเรื่องของการค้า รวมทั้งการแยกตัวออกมาของสหราชอาณาจักรจากประชาคมยุโรป และปัญหาใหญ่อื่นๆ ส่วนอินเดียเองก็กำลังปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันกับสถานการณ์ โดยเน้นที่การเพิ่มคุณภาพของการใช้ทรัพยากรมนุษย์ ให้เพิ่มผลผลิตสูงขึ้น ผันแปรจากอุตสาหกรรมเบื้องต้นเช่นการเกษตรมาเป็นนวัตกรรมต่างๆ คล้ายกับการก้าวกระโดดของจีน จากการทำไร่สวนมาเป็นโรงงานผลิตอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ฯลฯ

ความหวังของอเมริกาก็คือปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแนวทางใหม่ โดยประธานาธิบดีBidenและคณะจะบุกเบิกการสร้างงานแบบมีวิสัยทัศน์ พัฒนาพลังงานหมุนเวียน เยาวชนเป็นจำนวนมากจะมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจ มีส่วนร่วมในการเมือง มีความรับผิดชอบและรู้หน้าที่พลเมือง แม้ว่าหนทางจะลำบากเพราะกว่าจะปลอดภัยจากโรคระบาด และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่แทบจะล่มสลายในปัจจุบัน ยอมรับสภาพความเป็นจริงของหนี้สินสาธารณะ และหันมาเป็นหลักของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเน้นการค้นคว้าประดิษฐ์และพัฒนาเชิงรุก ที่ทำให้อเมริการุ่งเรืองมาหลายทศวรรษ คาดว่าจะทำให้สี่ปีภายใต้ความเป็นผู้นำที่มีประสบการณ์และธรรมาภิบาล จะนำมาสู่ความมั่นใจต่อเนื่องหรือการให้โอกาสอีกครั้งหนึ่งจากหลายประเทศในโลก ที่น่าจะเลือกตามแนวทางอย่างอเมริกาอยู่ 

สี่ปีแห่งความเสื่อมของอเมริกาก็คงจะได้รับการแก้ไข ผู้นำประชาธิปไตยทุนนิยมตลาดเสรี และมหาอำนาจอันดับหนึ่งทางการทหาร ก็ยังคงมีอิทธิพลโน้มน้าวเชิงบังคับ เศรษฐกิจโลกยังพึ่งพาเงินตราสกุลดอลล่าร์ การศึกษาระดับสูงและการค้นคว้าวิจัย นวัตกรรมต่างๆ รวมทั้งโอกาสในการหาเงินทุนเริ่มต้นและขยายธุรกิจยังคงอยู่ในอเมริกาเป็นจำนวนมาก 

ความมั่นคงของการเมืองภายในอเมริกาและความสามารถในการควบคุมโรคระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุดจะเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการรักษารูปแบบของเศรษฐกิจปัจจุบันไว้ได้ หากชาวอเมริกันไม่สามัคคีกันและขัดแย้งเรื่องการควบคุม โควิด-19 ความเสียหายจะเกินกว่าชีวิตและทรัพย์สินภายในอเมริกาเท่านั้นแต่จะสั่นคลอนความมั่นคงทั่วโลก

เมื่อสมาชิกRCEPทั้ง 15 ประเทศเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีการประเมินว่าอาจทำยอดเศรษฐกิจในกลุ่มสูงถึง 100ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในค.ศ. 2050 อำนาจการต่อรองของอเมริกา ยุโรปและอินเดีย ก็อาจจะลดลงบ้าง แต่โดยความเห็นส่วนตัวของผมแล้วคิดว่าการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากของนวัตกรรมปัจจุบันจะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มการประสานงานข้ามภูมิภาค แทนที่จะจำกัดตามภูมิศาสตร์ 

ภูมิภาคRCEPคงจะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญมากของเศรษฐกิจโลก แต่ประชากรอีก 70%ของโลก ก็คงเป็นส่วนสำคัญที่RCEPต้องหาทางประสานงาน  RCEPหรือเอเชียอาจกลายเป็นแม่พิมพ์ให้กลุ่มอื่นใช้เป็นตัวอย่าง หรืออย่างน้อยก็เป็นทางเลือกเสริมกับศูนย์กลางปัจจุบันคืออเมริกาและยุโรป

ในวาระปีใหม่นี้ ขออวยพรให้กับท่านผู้อ่านและครอบครัว มีความปลอดภัยจากโรคร้ายต่างๆ และประสบความสำเร็จกับการประกอบหน้าที่ ทำธุรกิจ ลงทุน ช่วยเหลือสังคม และกิจกรรมอื่นๆที่ท่านให้ความสำคัญ ภูมิใจมากครับที่ได้ข่าวดีจากมาตุภูมิอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องความร่วมมือกันในการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ถึงแม้ผมอยู่ไกล ภูมิลำเนาปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา ก็ยังติดตามข่าวโดยใกล้ชิด และคิดถึงบ้านของเราเสมอ ทั่วโลกชื่นชมกับชาวไทยและประเทศไทยมากครับ