ความสุขปีใหม่อย่างยั่งยืน

ความสุขปีใหม่อย่างยั่งยืน

คำอวยพรวันปีใหม่มักมีคำว่า ความสุข อยู่ด้วยเสมอ ทำให้นึกขึ้นว่าควรเขียนถึงเรื่องความสุข จึงขอนำเนื้อหาในเรื่องนี้ที่เคยเขียนถึงมาสื่อสารต่อ

“...ปาฏิหาริย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำหรือบินอยู่บนอากาศ แต่ปาฏิหาริย์ของชีวิตคือการเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง “ธรรมดา” เช่น ตื่นมาอาบน้ำ แปรงฟัน ขับรถไปทำงาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิมๆ ตอนเย็นกลับบ้านก็เห็นหน้าภรรยา หรือสามีคนเดิม ใส่ชุดธรรมดา หน้าตาเราหรือก็ธรรมดาๆ.....

พวกเราส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดาๆ มีชีวิตธรรมดาๆ กันทั้งนั้น แต่ถ้าความ“ธรรมดา” นี้หมดไปล่ะ เช่น อยู่ดีๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็งไป มีเรื่องนอกบ้าน ไปติดยา ไปคบเพื่อนไม่ดี หรือสามี หรือภรรยาเราตาย ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน เราประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เป็นอัมพาต เรื่องที่เคยธรรมดาก็จะ “ไม่ธรรมดา” ไปในทันที และในเวลานั้นเองเราจะหวนมาคิดเสียดายความเป็น “ธรรมดา” จนใจแทบจะขาด.....

สิ่งธรรมดาคือสิ่งพิเศษ ขอให้เรามีความสุขกับความ “ธรรมดา” ที่มี และใช้ชีวิตกับสิ่งรอบตัวของเรา ประหนึ่งว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล เพราะสิ่งธรรมดาๆ แท้จริงแล้วคือสิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรา.....”

เจ้าของคำพูดข้างต้นคือท่าน Thích Nhất Hạnh (ทิก เญิ้ต ทั่ญ) พระภิกษุชาวเวียดนามนิกายเซ็น (Zen Buddhist monk) ของมหายาน ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวโลกอย่างสูง

ปัจจุบันท่านอายุ 94 ปี เคยพำนักอยู่ที่ Plum Village Monastery ในฝรั่งเศส ปัจจุบันพักอยู่ที่ Từ Hiếu Temple ใกล้เมืองเว้ของเวียดนาม คำว่า “ทิก” ใช้เรียกพระ ส่วน “เญิ้ต ทั่ญ” คือชื่อทางธรรมของท่าน หนังสือกว่า 130 เล่มที่ท่านเขียน (100 เล่ม เป็นภาษาอังกฤษ) คือคำสอนการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะสำหรับคนในโลกตะวันตก 

สิ่งที่ท่านเน้นคือสันติภาพ การขจัดความรุนแรง ความรัก ความเห็นอกเห็นใจกัน การช่วยเหลือ การเอาชนะความโกรธ การลดความเจ็บปวด การลดความทนทุกข์ทรมาน ฯลฯ โดยไม่ใช้คำพระ

เนื่องจากท่านมีความสามารถในการใช้ภาษาอย่างแตกฉาน ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส จีน บาลี สันสกฤต ญี่ปุ่น โดยเฉพาะอังกฤษ ท่านจึงเดินทางไปต่างประเทศอยู่ตลอดระยะเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมาเพื่อบรรยายเผยแพร่คำสอนพระพุทธศาสนา ท่านเคยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย Princeton และเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายที่มหาวิทยาลัย Columbia

ในยุคสงครามเวียดนาม ท่านมีบทบาทสำคัญร่วมกับพระภิกษุที่รักสันติภาพอีกหลายรูปต่อต้านสงคราม จนต้องลี้ภัยไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี กว่าจะเดินทางเข้าเวียดนามได้อีกครั้งก็ปี 2548

อีกท่านหนึ่งที่เป็นพระภิกษุนิกายมหายานที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างยิ่งจากชาวโลก (ยกเว้นรัฐบาลจีน) ผู้เขียนหนังสือจำนวนมากมาย และเดินทางบรรยายธรรมเผยแพร่คำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นระยะเวลายาวนานทั่วโลก และอยู่ในลักษณะคล้ายกับท่าน Thich ซึ่งลี้ภัยจากเวียดนาม ส่วนท่านลี้ภัยจากทิเบต

ท่านคือ “เทนซิน เกียตโซ ดาไลลามะ ที่ 14” แห่งทิเบต ปัจจุบันท่านอายุ 85 ปี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพใน 2532 ทั้งสองมีวัตถุประสงค์ที่งดงาม อุทิศตนเองเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาและความสุขของชาวโลกอย่างน่าชื่นชมยิ่ง

องค์ดาไลลามะเป็นปราชญ์ที่โลกยกย่องทั้งในเรื่องวัตรปฏิบัติอันงดงาม และการถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านทรงกล่าวถึงเรื่องความสุขว่าในขั้นพื้นฐานความสุขที่ยั่งยืนมิได้เกิดจากปัจจัยภายนอก เฉพาะในเวลาสั้นๆ เท่านั้นที่คนอาจมีความสุขจากการได้บริโภคมากขึ้น หรือได้รับบริการจากสินค้าที่สร้างความสะดวกสบาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะกลับไปมีความสุขในระดับปกติที่ตนเองคุ้นเคย ตัวอย่างเช่น ถูกล็อตเตอรี่ ความสุขจะพุ่งขึ้นในเวลาอันสั้นและกลับไปสู่ระดับปกติ ทั้งหมดนี้มิใช่ความสุขที่ยั่งยืน

ความสุขที่ยั่งยืนเกิดจากปัจจัยภายใน ซึ่งได้แก่ สภาพจิตใจ การฝึกหัดจิตให้เป็นไปทางบวกจะทำให้บรรลุถึงสภาพจิตใจที่พึงปรารถนา มีอยู่ 3 ลักษณะอันจะอำนวยให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนดังต่อไปนี้ ลักษณะแรก คือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างมีความเมตตากรุณา (compassion) ซึ่งหมายถึงสภาพจิตใจอันไม่มีความก้าวร้าว กล่าวคือมีสภาพจิตที่ต้องการให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ศัตรูหรือแม้แต่สัตว์

ลักษณะที่สอง คือการใส่ใจในเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่าตนเอง ซึ่งหมายถึงการแสวงหาความหมายของชีวิต (spirituality) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง เนื่องจากทุกศาสนาต้องการให้ผู้นับถือมีความสุข แต่ความจริงของชีวิตก็คือ ทุกคนไม่ว่าจะเชื่อในพระเจ้าหรือไม่ก็ตาม สามารถกระทำความดี มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างมีความเมตตากรุณาและดูแลสนใจห่วงใยผู้อื่นซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของชีวิตที่มีความหมายได้ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อลงมือกระทำก็จะทำให้เราเย็นลง มีความสุขและความสงบในชีวิตมากขึ้นอย่างแน่นอน

ลักษณะที่สาม ต้องมีจิตใจที่อ่อนปรับตัวได้ (supple mind) ความทุกข์เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกคนต้องประสบเพราะเป็นธรรมชาติของชีวิต คนเอเชียยากจนจนใกล้ชิดกับความทุกข์มากกว่าคนในโลกตะวันตก ซึ่งถึงแม้จะมองว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่มักมองว่าตนเองเป็นเหยื่อของสิ่งเลวร้ายที่มองไม่เห็น 

แต่ความจริงก็คือความทุกข์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือความแก่และความตาย) ถ้ามองหาสิ่งที่จะโทษเมื่อเกิดความทุกข์และมองว่าเป็นสิ่งผิดธรรมชาติและไม่เป็นธรรม เราก็จะหาความสุขไม่ได้ อย่างไรก็ดี หากมีจิตที่อ่อนปรับตัวได้ก็จะสามารถมองโลกในลักษณะอื่นได้ ความสุขก็จะมีมากขึ้น

การมีสภาพจิตใจที่ตระหนักว่าความทุกข์เป็นธรรมชาติ จะทำให้เราสามารถเผชิญกับมันและวิเคราะห์หาสาเหตุได้ จนทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น

สิ่งที่ท่านดาไลลามะทรงเน้นก็คือ การมีสภาพจิตที่เป็นบวกและหลีกเลี่ยงการคิดในทางลบเสมอ เช่น การมีความโกรธและความกลัว เพราะสองสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคสู่การมีความสุขในชีวิต การมีสภาพจิตทางบวก (เช่น ความรัก ความเห็นอกเห็นใจอย่างมีเมตตากรุณา ความอดกลั้นและความมีใจคอที่กว้างขวาง) เปรียบเสมือนยาที่จะไปกำจัดทัศนคติ ความรู้สึกและพฤติกรรมซึ่งเป็นอันตราย

การจะมีสภาพจิตดังกล่าวได้มิได้เกิดขึ้นข้ามวันข้ามคืน หากเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยจากการฝึกฝนปฏิบัติทางจิตอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสำคัญก็คือหากต้องการมีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นต้องตั้งใจอย่างมุ่งมั่นและลงมือปฏิบัติ

บุคคลผู้ปรารถนาความสุขที่ยั่งยืน ต้องเข้าใจว่า ความสุขเกิดจากข้างใน มิใช่มาจากปัจจัยภายนอก ความโกรธและความเกลียดชังเป็นอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการมีความสุข เพราะมันบั่นทอนความสงบแห่งจิตใจ อีกทั้งทำลายวิจารณญาณของเราและนำไปสู่การกระทำที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นและทำให้โกรธยิ่งขึ้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ การคิดในเชิงบวกโดยมีความเห็นอกเห็นใจอย่างมีความเมตตากรุณา การสนใจในเรื่องการแสวงหาความหมายของชีวิตและการมีจิตใจที่อ่อนปรับตัวได้ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะฝึกปฏิบัติจิตก็จะทำให้มีชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

ความสุขที่แท้จริงนั้นอยู่ใกล้ตัว โดยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากวิธีการคิด การฝึกจิตและการปฏิบัติของตัวเราเอง ตราบที่เห็น “สิ่งธรรมดาคือสิ่งพิเศษ” และตระหนักว่าความสุขที่ยั่งยืนนั้นเกิดจากปัจจัยภายในแล้ว ความสุขเกิดขึ้นได้เสมอ