กลาง-อีสาน-ใต้ ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น สะท้อนอะไร?

กลาง-อีสาน-ใต้ ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น สะท้อนอะไร?

ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำเดือนพฤศจิกายน 2563 ตัวเลขจากกระทรวงการคลัง เผยถึงเศรษฐกิจรายภาค ดังนี้

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 21.7 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.0 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าชะลอตัวที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 55.3 และ 76.5 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 54.1 และ 75.9 ตามลำดับ สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคกลาง ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทั้งจากการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชนรวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน พบว่าจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -11.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวร้อยละ -31.0 ต่อปี

นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวสูงที่ร้อยละ 2,400.4 ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 12,334 ล้านบาท จากโรงงานทำผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กลาส ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 51.0 และ 87.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.7 และ 85.7 ตามลำดับ สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทั้งจากการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่กลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวร้อยละ -7.1 ต่อปี สอดคล้องกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ร้อยละ 72.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 339.6 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน พบว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -5.8 -3.5 และ -7.1 ต่อปี ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวร้อยละ -12.0 -24.5 และ -13.7 ตามลำดับ สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวร้อยละ 15.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.1 ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 51.8 และ 87.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 50.0 และ 85.7 ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคตะวันออกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะด้านการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 8.0 และ 11.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -11.1 และ 4.7 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการขยายตัวร้อยละ 12.7 ต่อปี ด้วยจำนวน 3,976 ล้านบาท จากโรงงานผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมในจังหวัดชลบุรี เป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนซึ่งสะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 42.1 ต่อปี สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ชะลอตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -12.5 และ -19.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวร้อยละ -25.0 และ -21.4 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 55.2 และ 105.2 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 53.7 และ 103.1 ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคใต้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะด้านการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อปี นอกจากนี้ เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 362.2 ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 6,031 ล้านบาท จากการผลิตไม้อัดจากไม้ยางพาราในจังหวัดตรัง เป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 49.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 48.1 ต่อปี สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ที่ชะลอตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -7.5 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ -15.7 ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 49.4 และ 85.8 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.2 และ 84.0 ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคตะวันตกทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.9 ต่อปี สำหรับ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจาก จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 11.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าชะลอตัวที่ร้อยละ -7.7 ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 51.0 และ 87.1 ตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.7 และ 85.7 ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคเหนือทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ -11.9 จากเดือนก่อนหน้าที่ชะลอตัวร้อยละ -21.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 53.7 จาก 52.5 ในเดือนก่อน สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน พบว่า เงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ขยายตัวได้ร้อยละ 1,578.1 ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 3,380 ล้านบาท จากโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นสำคัญ สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี

น่าสนใจว่า นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ชี้แจงว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน 2563 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล จากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่า "ความเชื่อมั่น" น่าจะยังดี แต่คงต้องรอตัวเลขเศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนธันวาคม 2563 เนื่องจากโควิดระบาด อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคชะลอตัวอีกครั้ง