พูดภาษาเดียวกันให้ได้ก่อน

พูดภาษาเดียวกันให้ได้ก่อน

คนรุ่น 60s แบบผมถือเป็นคนรุ่นรอยต่อ ของอะไรหลายอย่าง ได้เห็นการเมืองทุกรูปแบบทั้งเผด็จการ ประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมที่ปฏิรูปไม่เสร็จ

ก่อนปีใหม่ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ไปพักฟื้นที่โรงแรมย่านสุรวงศ์ หลังไปแอดมิดอยู่โรงพยาบาลนานเกือบสองสัปดาห์ ไม่ใช่ไปกักตัวนะครับเพราะไปก่อนโควิดระบาดรอบใหม่ ด้วยต้องมีการปรับปรุงบ้านและห้องนอน เลยต้องใช้เวลาพอสมควร การมาอยู่ในใจกลางเมืองตรงนี้ เหตุผลหนึ่งต้องการใกล้ที่ทำงานคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชนิดถ้าไม่ขับรถไปก็เดินไปได้ไม่กี่ก้าว

มองออกนอกหน้าต่างโรงแรมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเมือง จะว่าไปก็เปลี่ยนแปลงไปไม่มาก แต่ได้เห็นปัญหาหนึ่งคือ การอนุญาตก่อสร้างที่อาจละเลยสุนทรียภาพทางสายตา หรือไม่แน่ใจว่าได้ถามไถ่คนแถวๆ นี้กันดูบ้างหรือไม่ เพราะอาคารสูงบางแห่งมองไปแล้วขัดหูขัดตา เคยได้ยินบางคนปากร้ายๆ บ่นกันว่าเป็น “ความอัปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม” ฟังดูเหมือนผมเป็นคนหัวโบราณต้านการเปลี่ยนแปลง ไม่หรอกครับเมื่อก่อนอยู่ที่ทำงานมองไกลๆ ไม่ค่อยเห็นชัด มาวันนี้มาประชิดใกล้มากๆ ยิ่งเห็นว่ามันน่าเกลียดน่าชังเสียเหลือเกิน

ด้วยความเป็นคนรุ่นมนุษย์เอ็กซ์แบบผม (Generation X) ผมว่าคนรุ่นซิกตี้ส์ (60s ) แบบผม “ถือเป็นคนรุ่นรอยต่อ” ของอะไรหลายอย่าง ได้รับความคิดปรัชญาการดำเนินชีวิตของคนในรุ่นก่อนที่ผ่านมหาสงครามความยากลำบาก กระทั่งกลายเป็น “เจ้าสัว” ที่คนรุ่นนี้อิจฉาในความสำเร็จ เพราะเรียนปริญญาเอกแล้วต้องมาเป็นลูกจ้างเจ้าสัว ได้เห็นการเมืองทุกรูปแบบทั้งเผด็จการ ประชาธิปไตย กระบวนการยุติธรรมที่ล้มเหลวและยังปฏิรูปไม่เสร็จ

ถึงกระนั้นบอกได้เลยว่า ยังไม่เคยสัมผัส “ความเป็นประชาธิปไตยในแบบอุดมคติ” ที่คนปัจจุบันบางกลุ่มเหมือน “หลอกตัวเขาเองและคนที่เขาชักจูงใจว่ามีอยู่จริง” (จะว่าไป“คนกลุ่มนี้”ทั้งคนเบื้องหน้าเบื้องหลังแทบไม่มีราคาให้พูดถึงแล้ว เพราะหมดอำนาจต่อรองอันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งท่อน้ำเลี้ยงขาดสะบั้นและแรงหนุนกองหนุนสร่างซาไม่เหลือหรอ) ซึ่งเชื่อว่าฝ่ายที่ได้เปรียบอยู่ในเวลานี้คงรับรู้ได้เท่าๆ กับผม จึงอาจเป็นไปได้ว่า “ข้อเสนอจะแปดนิ้ว ยี่สิบนิ้ว” และ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เหมือนจะกลายเป็น “เรื่องเพ้อเจ้อ” ไปโดยปริยาย

อุปมาอุปไมยง่ายๆ การจะดึงดันตั้งโต๊ะเจรจาหรือต่อรองอะไรกัน ตามหลักการจะทำได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีกำลังหรือ “มีของ” มาแลกอันเป็นที่ต้องการของทั้งสองฝ่าย เวลานี้ ถ้ายังจะไปเจรจา ไปนั่งโต๊ะพูดคุยกับฝ่ายที่่เรียกได้ว่า “ต้องล่าถอยกระเซอะกระเซิง” ดูจะแปลกๆ จึงอยากให้ทบทวนดูทั้งข้อเรียกร้องและวิธีการผลักดันเคลื่อนไหวของพวกเขาว่า หลายเรื่องเป็นภัยต่อความมั่นคงปลอดภัยของแผ่นดิน หมิ่นเหม่ต่อการทำลายสถาบันครอบครัวและวัฒนธรรมอันดีงามหรือไม่

หลายเรื่องควรจะใช้เวลานี้เป็นโอกาสของรัฐบาลในการปรับตัวแก้ปัญหา ใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นบทเรียนศึกษาหาทางสร้างเสริมทัศนคติที่พึงมีให้กับคนรุ่นใหม่อย่างเร่งรัดและตอบโจทย์ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง โดยที่ “ผู้ต้องคดีเหล่านี้” ไม่ใช่ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่เราพึงให้ความสำคัญหรือให้ความสนใจอีกต่อไป โดยเฉพาะการเรียกร้องให้มี “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีอันตรายและเสี่ยงต่อการกระทบต่อโครงสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธรรมาภิบาลของสังคมหลายประการ

เนื่องด้วยเห็นชัดเจนว่า ข้อเรียกร้องล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายที่เสียเปรียบทางการเมือง เพื่อต้องการกลับมามีอำนาจในแบบเดิมๆ เป็นหลักใหญ่ นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมคาดเดเองว่า ฝ่ายค้านก็คงมองเกมออก จึงมีแนวโน้มที่จะไม่ส่งคนเข้าร่วมเจรจาต่อรองใดๆ

ประเมินทั้งสถานการณ์ที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่านับครั้งไม่ถ้วน กระทั่งต้องบอกว่า ผมเองรู้สึกสงสาร “นายทุนสายป่านยาวของบางพรรคการเมือง” ที่ถูกหลอกต้มตุ๋นเปื่อยแล้วเปื่อยอีก ทั้งที่คนส่วนใหญ่เคารพยกย่อง ผมเองก็มองว่า “เขาเป็นคนเก่ง ฉลาดหลักแหลม ถ้าเอามาใช้ในทางเป็นคุณกับชาติบ้านเมือง เป็นทีมไทยแลนด์ได้” เราอาจเห็น คนแบบ “แจ๊กหม่า อาลีบาบา ” “หัวเว่ย (Huawei)” เกิดขึ้นอีกหลายคนในประเทศนี้

ใครก็พอคาดเดาได้ว่า การเคลื่อนไหวของม็อบที่ผ่านๆ มา มีข่าวลือที่ผมไม่อาจยืนยันได้ว่า มีคนพยายามไปไถเงินมาไม่น้อย กระทั่งทำให้ “สื่อ” บางสื่อคลายความน่าเชื่อถือไปพอสมควร เพราะหลายคนเวลานี้ อาศัยช่องทางของ “สื่อ” ทำตัวเป็น “กูรู ” ขนาด “ผู้ทรงคุณวุฒิ” “นักการเมือง” ก็ไม่เว้น แถลงข่าวกันรายวัน ใครคลั่งไคล้ใครก็แชร์กันส่งต่อกันอลเวง คงจำได้ช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ เรื่องจะล็อกดาวน์เล่นเอาประชาชนมึนเพราะ “กูรูเห็นไม่ตรงกัน”

วันนี้ดีหน่อย พูดภาษาเดียวกันแล้วเริ่มเดินหน้าประเทศไทยตามที่แนะนำไปกันเถิดผองเพื่อนทั้งหลาย