Think ‘WE’ not ‘ME' ในช่วงวิกฤติ

Think ‘WE’ not ‘ME' ในช่วงวิกฤติ

ช่วงวิกฤติ สัญชาตญาณมนุษย์ย่อมดิ้นรนเอาตัวรอด หลายคนเข้าสู่โหมด “ตัวฉัน” (Me) แต่สำหรับองค์กรแล้ว จะอยู่รอดได้ก็ด้วยพลังแห่งความร่วมมือ

เนื่องจากกำหนดเผยแพร่ของบทความชิ้นนี้ ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของดิฉันในวันที่ 16 ธ.ค.พอดิบพอดี  จึงอยากขอถือโอกาสนี้ ส่งผ่านความปรารถนาดีไปยังผู้อ่าน “Tips to Top”  ในกรุงเทพธุรกิจทุกท่าน  ขอให้ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าจะมีความท้าทายมากแค่ไหน เราจะก้าวผ่านมันไปด้วยกัน ด้วยสติ ความห่วงใย ความใส่ใจ ความรับผิดชอบ และด้วยมายด์เซตของความเป็น “เรา” (We) มากกว่าความเป็น “ตัวฉัน” (Me)  

จริงอยู่ที่ในช่วงเวลาวิกฤติ สัญชาตญาณมนุษย์ย่อมจะดิ้นรนเอาตัวรอด หลายคนจะผลักตัวเองไปสู่โหมดตัวฉัน” (Me) กล่าวคือตัวฉันต้องรอด  การคิดแบบนี้อาจไม่ได้ผิดอะไร เพราะเราทุกคนต่างมีความรับผิดชอบที่จะต้องนำพาตัวเองให้อยู่รอดเพื่อไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น  

แต่สำหรับองค์กรแล้ว องค์กรที่จะอยู่รอดได้จะต้องสามารถสร้างพลังแห่งความร่วมมือทั้งจากพนักงาน และจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า พันธมิตร ลูกค้า และสังคม  มีกรณีตัวอย่างมากมายที่องค์กรที่ชนะใจลูกค้า หรือพนักงานในยามวิกฤต กลับยิ่งเติบโตและเข้มแข็ง

ในทางกลับกันถ้าทุกคนคิดถึงแต่ตัวเองและพยายามปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง มีมายด์เซตของความใจแคบ (Scarcity Mindset) คิดถึงแต่ตัวฉันก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ต่าง เลวร้ายลงไปอีก และหากองค์กรไม่สามารถอยู่รอดได้ ทุกคนก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน  

เพราะโลกในยุคนี้คือยุคของการ Collaborate  หรือการร่วมมือกัน  ปัญหาของโลกยุคใหม่มีความสลับซับซ้อน และมักจะไม่สามารถแก้ได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่งแต่เพียงลำพัง เราจึงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละคนมาเสริมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และนี่คือเหตุผลที่หลายองค์กรมีความต้องการสร้างวัฒนธรรมแห่งการร่วมมือกัน และสร้างทีมเวิร์คให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น หรือที่เรียกว่า “One Team, One Goal”

จากประสบการณ์ของ PacRim ที่ได้ทำงานร่วมกับองค์กรจำนวนมากในประเทศไทย ในด้านของการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร เราพบว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างวัฒนธรรมแห่งการร่วมแรงร่วมใจกัน จำเป็นต้องยกระดับความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) และวุฒิภาวะ (Maturity)ของคน ในองค์กร  ซึ่งจะต้องมีมายด์เซตที่เปิดกว้าง  (Abundance Mindset) และมีกรอบความคิดในแบบชนะ-ชนะ (Win-Win) จึงจะสามารถเรียนรู้ทักษะในการ Collaborate ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการทำความเข้าใจผู้อื่น ความสามารถในการสื่อสาร การฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ (Empathic listening) เห็นคุณค่าของความแตกต่างและสามารถผสานจุดแข็ง (Synergize) ของทีมเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน  

การสร้างวัฒนธรรมแห่งการร่วมแรงร่วมใจกัน จำเป็นต้องยกระดับความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) และวุฒิภาวะ(Maturity)ของคน ในองค์กร  ซึ่งจะต้องมีมายด์เซตที่เปิดกว้าง  (Abundance Mindset) และมีกรอบความคิดในแบบชนะ-ชนะ (Win-Win) จึงจะสามารถเรียนรู้ทักษะในการ Collaborate

ซึ่งก่อนที่เราจะมี  Abundance mindset  หรือคิดแบบ Win-Win ได้ เราจะต้องแคร์ก่อน เราจะต้องใส่ใจในความรู้สึกของผู้อื่น หรือใส่ใจในผลกระทบต่อภาพใหญ่ และเข้าใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ขององค์กร หรือสังคม โดยถ้าสังคมอยู่ไม่ได้ เราก็จะเดือดร้อน ถ้าองค์กรอยู่ไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ ถ้าครอบครัวไม่มีความสุข เราก็จะยากจะมีความสุข  เนื่องจากเราทุกคนอยู่บนโลกแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เราจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิผลและมีความสุข

ความยาก คือ การรู้จัก "ให้" ก่อนที่จะ "รับ" หรือมีความสุขของการเป็นผู้ให้ สิ่งนี้จะเกิดได้จากการที่เรามีความรู้สึกมั่นคงในใจ ไม่ได้รู้สึกขาด หรือไปเปรียบเทียบ แข่งขันกับผู้อื่นตลอดเวลา เช่นถ้าเธอฉลาด ฉันก็ต้องเป็นคนโง่” “ถ้าเธอรวย ฉันก็จะต้องจน” “ถ้าเธอเป็นคนดี ฉันก็ต้องเป็นคนเลว  ฯลฯ  ถ้าเราคอยแต่จะเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่นตลอดเวลา เราจะไม่มีทางที่จะพอใจกับสิ่งที่เรามี และเราจะรู้สึกว่าเราไม่มีอะไรที่จะให้ใคร 

ในทางตรงข้าม คนที่คิดถึง “ตัวเรา” มากกว่า “ตัวฉัน” (Think We, not Me) จะมีความมั่นคงในจิตใจ และมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของตนเองสูง สามารถมองเห็นจุดแข็งและพัฒนาจุดแข็งของตนเองเพื่อนำไปช่วยสร้างประโยชน์ต่อบุคคลอื่นและส่วนรวมได้ ขณะที่ยังมองเห็นคุณค่าของบุคคลอื่นที่มีข้อดี ข้อด้อย แตกต่างจากตนเอง

และด้วยใจที่เปิดกว้างนี่เอง จึงทำให้เขาสามารถทำงานและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่าง หลากหลาย ได้อย่างมีประสิทธิผล และมีความสุข  ซึ่ง จุดนี้คือก้าวสำคัญของการพัฒนาวุฒิภาวะจากระดับของการพึ่งพาตนเอง (Independent) ไปสู่ระดับของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependent)

หลักการที่กล่าวข้างต้นนี้มาจากหลักการของ “7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผลสูง” (7 Habits of Highly Effective People) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักการที่ไม่มีวันล้าสมัย (Timeless Principles)  ดิฉันจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เมื่อเร็ว ๆนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์การศึกษาทั่วไป ได้ร่วมมือกับ PacRim Education นำเอาหลักการของ 7 Habits มาบรรจุไว้ในหลักสูตรวิชาเลือกให้นิสิตจุฬาฯ สามารถเรียนได้ภายใต้ชื่อวิชา “เรียนให้รู้อยู่ให้เป็น” (Learning & Embracing Life Skills) ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่บางครั้งถูกมองว่าเป็น  “Me Generation” ที่ชอบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ได้สามารถพัฒนาพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางด้านของทักษะชีวิต ความมั่นใจ วุฒิภาวะ  และ Abundance Mindset  เพื่อให้สามารถทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และมีความสุขกับชีวิต  อันจะส่งผลให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้นสำหรับทุกๆคน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยามวิกฤต เราควรจะต้องดำเนินชีวิต กิจการ และการเงิน ด้วยความรอบคอบ แต่ใจของเรานั้นจะคับแคบไม่ได้ เราควรต้องใจกว้างมีใจคิดแบ่งปัน ช่วยเหลือ และยินดีต่อชัยชนะของทีมงาน และผู้อื่นๆ ให้มากเท่าๆ กับตัวเรา 

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในห้วงเวลาแห่งวิกฤตนี้ ผู้อ่านและแฟนคลับของ PacRim ทุกท่านจะสามารถใช้เป็นโอกาสในการเสริมสร้างความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และสามารถพัฒนาคาแรกเตอร์ (Character) และวุฒิภาวะ (Maturity) ของทุกท่าน ทีมงาน และคนรอบข้างให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ 

ด้วยการคิด “WE”  ไม่ใช่ “ME”  แล้วเราจะอยู่รอด ได้อย่างสวยงามในโลกยุคใหม่

________________________________________

พรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร PacRim Group : “Trusted Partner to Accelerate Transformation and Performance Improvement”

ติดตามอ่าน “Tips to Top” ได้ทุกวันพุธที่  3  ของเดือนทางกรุงเทพธุรกิจ