กรณีศึกษาจาก 'จีน' จัดการ 'มลพิษ' ขั้นเด็ดขาด

กรณีศึกษาจาก 'จีน' จัดการ 'มลพิษ' ขั้นเด็ดขาด

อีกครั้งที่คนกรุงเทพฯต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ของโลกโดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศปิด

คำถามที่ผมเชื่อว่าทุกคนในกรุงเทพฯต่างสนใจจะฟังนั่นคือ ปัญหาฝุ่นพิษนี้ โดยแท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่เราแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ และถ้าแก้ไขได้แล้ว ดังนั้นใครควรจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหานี้

ปัญหาฝุ่นพิษนี้เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เพราะฝุ่นพิษไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ฝุ่นพิษเกิดขึ้นตลอดทุกวันแต่คนกรุงเทพฯนั้นโชคดีที่มีทำเลอยู่ใกล้ทะเล สภาพอากาศมีการถ่ายเทยกเว้นเฉพาะช่วงอากาศไม่เป็นใจอย่างช่วงนี้เท่านั้น แต่อย่างไรเสียฝุ่นพิษที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาตินี้มีแนวทางแก้ไขได้

ประเทศจีนในอดีตก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นพิษเช่นเดียวกันกับไทย หรืออาจจะหนักกว่ากรุงเทพฯด้วยซ้ำ รัฐบาลจีนให้ความสนใจต่อปัญหาภายใต้ทัศนคติที่คิดว่าปัญหานี้แท้จริงแล้วสามารถแก้ไขได้ ประกายสงครามกับฝุ่นพิษนี้

รัฐบาลจีนเริ่มจากการทำความเข้าใจปัญหา ระบุถึงแหล่งต้นตอที่ทำให้เกิดมลพิษ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะถ่านหิน มลพิษจากครัวเรือนที่มักจะใช้ถ่านหินเพื่อเป็นเชื้อเพลิงสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาวเพราะถ่านหินนั้นมีราคาถูก และมลพิษจากการจราจร โดยเฉพาะจำนวนรถที่เพิ่มมากขึ้นและรถรุ่นเก่าที่เครื่องยนต์มีแนวโน้มคายมลพิษมากกว่ารุ่นใหม่

เมื่อระบุปัญหาได้แล้ว รัฐบาลจึงเริ่มแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ภายใต้ชื่อโครงการ “ทำให้ฟ้ากลับมาฟ้าอีกครั้ง”

รัฐบาลจัดการมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมโดยออกมาตรการต่างๆ จากเบาไปหนัก อาทิ การออกกฎให้โรงงานมีการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพการปล่อยของเสีย ยกระดับให้เครื่องจักรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยหาเงินกู้ทั้งจากภายในประเทศและจากธนาคารโลกแก่โรงงานที่ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เรียกได้ว่าคิดครบวงจร ไม่ใช่แต่ออกและบังคับกฎหมายอย่างเดียว

นอกจากนี้ รัฐยังใช้ยาแรง ปิดโรงงานถ่านหินที่จากเดิมเคยเป็นสัดส่วนกว่า 66% ของพลังงานที่จีนพึ่งพาทั้งหมด และออกมาตรการกีดกันโรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ไม่อนุมัติการตั้งโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ สั่งปิดและไม่อนุมัติการต่อสัญญาโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 103 แห่งที่ไม่สามารถปรับตามมาตรฐานใหม่หรือเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินเป็นพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ลดอุตสาหกรรมหนักและจำนวนโรงงานเหล็กโดยเฉพาะที่อยู่ในบริเวณเมืองใหญ่

เงินกู้ในกองนี้ที่มีกว่า 500 ล้านดอลลาร์เริ่มให้กู้ตั้งแต่ปี 2559 ส่วนหนึ่งก็ปันมาให้กับโรงงานที่มีระบบการกระจายพลังงานความร้อนจากการผลิตสู่ครัวเรือนเพื่อทดแทนการใช้เตาผิงที่ใช้ถ่านหินในครัวเรือนปกติ ซึ่งในปัจจุบันมีการประมาณการว่าเงินลงทุนในส่วนของการจัดการอากาศเสียที่ครอบคลุมไปถึงพลังงานสะอาดนี้มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ หรือหากจะพิเคราะห์ลงไปเป็นรายเมืองแล้ว เฉพาะกรุงปักกิ่งก็ใช้งบลงทุนในส่วนนี้แล้วกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ เรียกได้ว่างบก้อนเดียวแต่แก้ไขได้ถึง 2 ปัญหา

มลพิษจากการจราจรถูกแก้ไขโดยการจำกัดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนในเมืองใหญ่ ลงทุนจัดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมเมืองใหญ่เข้าด้วยกันด้วยรถไฟความเร็วสูง พัฒนาระบบรางในเมืองใหญ่ให้รวดเร็วและทันสมัยด้วยรถไฟใต้ดินเพื่อรณรงค์ให้คนใช้รถสาธาณะมากขึ้น ปรับปรุงกฎเรื่องของน้ำมันและการปล่อยของเสียจากยานพาหนะให้เทียบเท่ามาตรฐานยุโรปภายในปีนี้

ผลลัพธ์ก็เป็นที่น่าประทับใจเพราะท้องฟ้าในหลายเมืองใหญ่ในจีนกลับมากลายเป็นสีฟ้าอีกครั้งตามที่รัฐบาลเคยประกาศสงครามกับฝุ่นพิษจนสามารถเอาชนะได้ในที่สุด ซึ่งไทยในฐานะประเทศประชาธิปไตยก็สามารถเรียนรู้ข้อเด่นข้อด้อยและเอามาปรับใช้ในเหมาะกับบริบทของเราเพื่อท้องฟ้าที่สดใสและสุขภาพที่ดีของคนไทยได้

และผู้ที่สมควรได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้คือ รัฐบาล!