ตลาดทุนจะช่วย SME ได้อย่างไรบ้าง

ตลาดทุนจะช่วย SME ได้อย่างไรบ้าง

ช่วงที่ผ่านมา เริ่มเกิดความหวังว่าเศรษฐกิจโลกมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าคาด

หลังบริษัทผลิตวัคซีน 3 แห่ง ประกาศผลการทดสอบวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ส่งผลให้ประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้ว และน่าจะมีอีกหลายประเทศตามมา

ตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับข่าวดีเรื่องวัคซีนกันถ้วนหน้า ในระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 5% หลายตลาดหุ้นปรับขึ้นมากกว่า 10% เช่น โปรตุเกส (+13%) รัสเซีย (+11%) สเปน (+10%) ตลาดหุ้นในเอเชียก็บวกค่อนข้างมาก เช่น เกาหลีใต้ (+12%) อินโดนีเซีย (+11%) ไต้หวัน (+9%)

ที่มาแรงที่สุด คือตลาดหุ้นไทย ที่ปรับขึ้นถึง 15% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราซบเซากว่าตลาดหุ้นอื่นๆ อยู่นานเกือบตลอดทั้งปี จึงทำให้เกิดแรงซื้อและเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก อีกทั้งหุ้นเกือบทั้งหมดในตลาดหุ้นไทย คือหุ้น Cyclical หรือหุ้นที่เคลื่อนไหวตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของนักลงทุน

ที่น่าสนใจ คือนักลงทุนแทบไม่สนใจสถานการณ์      โควิด-19ที่ยังแพร่ระบาดหนักทั่วโลก โดยมียอดติดเชื้อสูงถึงวันละ 6-7 แสนคน เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะสภาพคล่องจำนวนมหาศาลที่ยังคงถูกอัดฉีดเข้ามาในตลาดการเงินโดยธนาคารกลางทั่วโลก จนสร้างแรงกดดันให้นักลงทุนต้องมองภาพการลงทุนที่ยาวขึ้น และถือครองสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้น

สำหรับประเทศไทย การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของของตลาดหุ้น ในมุมหนึ่งอาจทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดูดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ และถึงแม้จะเริ่มมีการผลิตวัคซีนแล้ว ก็น่าจะใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 18 เดือน ก่อนที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) จะฟื้นกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด

ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือธุรกิจ SME โดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยว ที่อาจไม่มีสายป่านยาวพอที่จะรอได้นานขนาดนั้น ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือ SME เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ของธนาคารออมสิน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ ของ บสย. มาตรการพักชำระหนี้ ของแบงก์ชาติ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะดูแล SME ได้ทั้งหมด

หลายคนเริ่มตั้งคำถามมาที่ฝั่งตลาดทุนว่ามีแนวทางอะไรที่จะช่วยเหลือ SME ได้บ้าง?

ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องท่วมระบบอย่างในปัจจุบัน ตลาดทุนมีศักยภาพเหลือล้นในการเป็นแหล่งทุนสำหรับภาคธุรกิจ แต่อุปสรรคใหญ่ที่สุดคือความไม่คุ้นเคยของนักลงทุนไทยในการลงทุนในกิจการ SME และที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีการออกกองทุนเพื่อไปลงทุนในหุ้นกู้ หรือหุ้นทุน ของ SME

ถ้าภาครัฐต้องการใช้ตลาดทุนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยเหลือสภาพคล่องแก่ SME อาจจำเป็นต้องมีการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้แก่ผู้ลงทุนในกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้น เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุน และอาจต้องมีกลไกรัฐในการช่วยค้ำประกันความสูญเสียจากการลงทุนในหุ้นกู้ SME ในระดับหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงของกองทุนให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

แนวคิดเบื้องต้น คือการจัดตั้งกองทุนรวมแบบปิด อายุ 10 ปี เพื่อระดมทุนจากสถาบันการเงินและประชาชนทั่วไป โดยนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดย SME ที่มีประวัติดี แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากวิกฤติโควิด-19

กองทุนนี้จะถูกออกแบบให้เป็นประเภท “กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น” โดยนำเงินที่ระดมทุนได้ส่วนหนึ่งไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล Zero-coupon อายุ 10 ปี – วิธีนี้จะทำให้ผู้ลงทุนได้รับเงินลงทุนเบื้องต้นคืนทั้งหมดหลังครบกำหนดอายุกองทุน – หลังจากนั้นจึงนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในหุ้นกู้ของ SME

หัวใจสำคัญ คือการคัดสรรหุ้นกู้เพื่อเข้าลงทุน โดยกองทุนอาจจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ธุรกิจ SME มาช่วยประเมินความเสี่ยง

ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับตอนครบกำหนดอายุกองทุน จะขึ้นอยู่กับศักยภาพของ SME ที่กองทุนเข้าลงทุน ว่าจะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาแข็งแรงเหมือนช่วงก่อนโควิดหรือไม่

การจัดตั้งกองทุนรูปแบบนี้น่าจะสร้างแรงจูงใจได้พอสมควร เพราะนักลงทุนไม่ต้องกังวลว่าจะสูญเสียเงินต้น และยังได้ผลตอบแทนขั้นต่ำสุดในรูปของเม็ดเงินภาษีที่ประหยัดอีกด้วย ถ้ารัฐยอมให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้