เปิดหน้ากากอเมริกัน

เปิดหน้ากากอเมริกัน

สหรัฐประสบวิกฤติหลายครั้งตั้งแต่ผมไปเรียนที่นั่นเมื่อปี 2507  แต่ไม่มีวิกฤติครั้งไหนร้ายแรงเท่าวิกฤติจากโควิด-19 โดยมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง

วิกฤติจากโควิด-19 มีผลร้ายทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมือง  ปัจจัยที่ทำให้มันเกิดขึ้นเกี่ยวพันกันแบบสลับซับซ้อนมากจนยากแก่การสรุปว่าอะไรเป็นปัจจัยนำ  ด้วยเหตุนี้จึงขอชี้ให้เห็นบางประเด็นซึ่งอาจนำไปใช้ในการพิจารณาต่อ

            ขอเสนอว่าด้านสังคมเป็นปัจจัยหลักเนื่องจากความคิดอยู่ในด้านนี้  ความคิดขับเคลื่อนให้เกิดพฤติกรรมซึ่งล้วนมีผลตามมา เช่น ย้อนไปในสมัยก่อตั้งประเทศเมื่อปี 2319 ชาวอเมริกันชั้นผู้นำไม่นับคนผิวดำที่ถูกนำไปจากแอฟริกาว่าเป็นคน  ความคิดเบื้องต้นนั้นสร้างปัญหามาถึงปัจจุบันแม้ตามกฎหมายคนผิวดำจะได้รับสิทธิ์เท่าเทียมกับคนผิวขาวมากว่า ๕๐ ปีแล้วก็ตาม 

คนผิวขาวจำนวนมากยังรังเกียจผิวทำให้คนผิวดำมีโอกาสต่ำกว่า มีฐานะต่ำกว่าและมีสุขภาพด้อยกว่า  คนผิวดำจึงติดโควิด-19และตายในอัตราที่สูงกว่าคนผิวขาว  คนผิวดำไม่ค่อยไว้วางใจคนผิวขาวเพราะพวกเขาเคยถูกใช้เป็น “หนูตะเภา” ในการทดลองยา  คนผิวดำจำนวนมากจึงประกาศว่าจะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

            ก่อนเขียนต่อไป ขอหมายเหตุตรงนี้ว่า หลังจากอาศัยอยู่ในสหรัฐเป็นเวลารวมกัน 50 ปี ผมมีโอกาสสัมผัสโดยตรงทั้งการรังเกียจผิวและความเมตตากรุณาอันสูงส่งของคนอเมริกัน

            ความคิดเรื่องเสรีภาพทำให้ชาวอเมริกันนับร้อยล้านคนไม่ยอมสวมหน้ากากป้องกันการระบาดของโควิด-19ตามคำแนะนำของแพทย์  ผู้นำจำนวนมากโดยเฉพาะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สนับสนุนแนวคิดนี้จนทำให้มันกลายเป็นประเด็นการเมือง  ผลคือคนอเมริกันป่วยและตายจากโควิด-19สูงที่สุดในโลกและคงจะตายเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งจนกว่าจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันได้อย่างทั่วถึง

            เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักยังผลให้ความอดอยากเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด  ภาพชาวอเมริกันเข้าแถวกันยาวมากเพื่อรับอาหารบริจาคจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในขณะนี้

            สังคมอเมริกันมีความคิดพื้นฐานเรื่องการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็นเป้าหมายเบื้องต้นของการดำเนินชีวิต  แนวคิดนี้เป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจระบบตลาดเสรี ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณบิดเบี้ยวไปสู่ระบบที่มีผู้เรียกว่า “ทุนนิยมสามานย์” ซึ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำพร้อมกับทำลายสิ่งแวดล้อมจนขาดสมดุลสูง  แต่ชาวอเมริกันนับร้อยล้านคนนำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่เชื่อว่าการบริโภคที่เพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุดของพวกเขานั้นทำลายสิ่งแวดล้อม

            ย้อนไป 4 ปี ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนเลือกนายโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเพราะมีความคิดในแนวเดียวกับเขาหลายด้าน  หลังจาก 4 ปี ชาวอเมริกันกว่า 74 ล้านคนลงคะแนนให้เขาอยู่ต่อ  อย่างไรก็ดี มีชาวอเมกันกว่า 81 ล้านคนต่อต้านความคิด พฤติกรรมและนโยบายของเขา จึงลงคะแนนให้คู่แข่ง  แต่แทนที่นายทรัมป์จะยอมรับผลของการเลือกตั้งตามกติกาของระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐใช้มาตั้งแต่ครั้งก่อตั้งประเทศ เขากลับโวยวายมาเกิน 1 เดือนแล้วว่าถูกโกงและพยายามทำทุกอย่างเพื่อเปิดทางกำอำนาจต่อไป ส่งผลให้เกิดวิกฤติการเมืองร้ายแรงซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าอาจนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยที่สหรัฐใช้อยู่

            ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านและรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อจากนายทรัมป์ในตอนปลายเดือนมกราคมปีหน้าเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าควมคุมการระบาดของโควิด-19ได้ ปัญหาส่วนใหญ่จะลดลง  การบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่จึงจะทุ่มเทไปในด้านนี้  อย่างไรก็ดี สหรัฐยังมีแนวคิดพื้นฐานบางอย่างคงเดิมรวมทั้งเรื่องการบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดและเรื่องเศรษฐกิจกระแสหลัก  แนวคิดเหล่านี้หมดสมัยไปนานแล้ว

ท่ามกลางสภาพที่ดูจะไม่มีความยั่งยืนนี้ มีข้อมูลเก่าจากหนังสือที่พิมพ์เมื่อปี 2549 ชื่อ The Chaos Point: The World at the Crossroads (ดาวน์โหลดบทคัดย่อภาษาไทยได้ฟรีที่ www.bannareader.com) ชี้ว่า ชาวอเมริกันราว 25% เข้าใจปัญหาที่มาจากแนวคิดของตนและได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดและการดำเนินชีวิตเข้าสู่แนวเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว  วันใดที่ชาวอเมริกันทำตามแนวคิดใหม่นี้ได้อย่างทั่วถึง วันนั้นสหรัฐจะมีโอกาสอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน