เมียนมาหลังเลือกตั้ง

เมียนมาหลังเลือกตั้ง

การเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมา เมื่อ 8-10 พ.ย. นับเป็นชัยชนะทางการเมืองครั้งสำคัญของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย นำโดย อองซาน ซูจี

พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy-NLD) ที่นำโดยนางอองซาน ซูจี ได้รับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ส.และ ส.ว.ในสภาผู้แทนราษฎร (Pyithu Hluttaw) และวุฒิสภา(สภากลุ่มชาติพันธุ์) (Amyotha Hluttaw) ตามลำดับเป็นจำนวนมากถึงประมาณร้อยละ 60 ของสภา ขณะที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party-USDP) พรรคคู่แข่งหลัก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเมียนมาพ่ายขาดลอย ได้ที่นั่งแค่หลักสิบหลักหน่วยในสภาเท่านั้น

การที่พรรค NLD ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ได้ที่นั่งมากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งก่อนเมื่อปี 2559 อาจเพราะประชาชนหวั่นเกรงต่อท่าทีของกองทัพเมียนมาที่พยายามแทรกแซงทางการเมืองก่อนหน้านั้น จึงพากันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเชิงยุทธศาสตร์ให้พรรค NLD ซึ่งเป็นหลักพรรคเดียวที่เป็นคู่แข่งกับกองทัพ เพื่อหวังให้พรรค NLD ได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อีกหนึ่งสมัย ทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณว่าชาวบ้านไม่ต้องการกลับไปสู่วงจรเดิมที่อาจนำไปสู่การปกครองภายใต้รัฐบาลทหารอีกแล้ว

แม้ว่าพรรค NLD จะได้รับเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่ในแทบทุกรัฐ แต่มี 2 รัฐที่ผู้สมัครของพรรค NLD เป็นรอง ทั้งสองรัฐนี้เป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว คือ รัฐยะไข่ (Rakhine) ที่วุ่นวายสามสี่เส้าระหว่างกองทัพ ชาวพุทธ มุสลิมโรฮีนจาและชาวพื้นเมืองผู้เรียกร้องเอกราช 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งในรัฐได้ถึง 9 เขต ที่จัดการเลือกตั้งได้ชาวบ้านก็มักเลือกผู้สมัครของพรรค Arakan National Party (ANP) ซึ่งเรียกร้องเอกราชและต่อต้านชาวมุสลิม คาดว่าในปี 2564 กระแสเรียกร้องเอกราชในรัฐยะไข่จะรุนแรงยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับแรงกดดันเรื่องสิทธิมนุษยชนจากชาติตะวันตก

อีกรัฐหนึ่งคือ รัฐฉาน (Shan) ที่ปรากฏความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม โดยเฉพาะทางตอนเหนือที่กองกำลังติดอาวุธเชื้อสายไทยใหญ่ กะฉิ่นและปะหล่อง ยังคงสู้รบกับรัฐบาล แม้ว่ากองทัพเมียนมาจะประกาศหยุดยิงเพียงฝ่ายเดียวเมื่อ 1 มิ.ย.63 แต่ความรุนแรงยังคงมีอยู่สูง ประชาชนแบ่งเป็นฝักฝ่ายโดยถ้าไม่เลือกผู้สมัครจากพรรค NLD ก็จะเป็นผู้สมัครของพรรค Shan National League for Democracy (SNLD) ซึ่งเรียกร้องผลประโยชน์ของชาวไทยใหญ่เป็นหลัก 

นอกจากนี้ยังมีการลอบสังหารผู้นำของแต่ละฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เมื่อ 22 มิ.ย.63 ก็เกิดเหตุลอบยิง ส.ว.พรรค NLD ซึ่งพึ่งได้รับเลือกตั้งเสียชีวิต คาดว่าในปี 2564 รัฐฉานยังคงไม่มีเสถียรภาพ และรัฐบาลยังคงไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ กับกลุ่มต่างๆ

การครองเสียงข้างมากในสภาของพรรค NLD จะทำให้ได้เป็นรัฐบาลต่อไปอีกสมัยหนึ่ง โดยรัฐบาลใหม่จะเข้าทำหน้าที่ใน มี.ค.64 โดยจะมีการคัดเลือกประธานาธิบดีคนใหม่แทนที่นายวินมินท์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีรักษาการณ์ตั้งแต่ปี 2561 

การคัดเลือกดังกล่าวมี 2 ขั้นตอนคือ สภาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและสมาชิกรัฐสภาสายทหาร ต่างเลือกตัวแทนในโควตาของกลุ่มตน รวม 3 คน มาให้รัฐสภาลงมติในขั้นสุดท้าย ผู้ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดี ทั้งนี้ ด้วยคะแนนเสียงที่มีน่าจะทำให้ตัวแทนของพรรค NLD ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีค่อนข้างแน่นอน แม้ว่าปัจจุบัน ยังไม่แน่ชัดว่านางอองซานซูจี ซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุดในพรรคฯ จะเลือกผู้ใดเป็นตัวแทน 

ผู้ที่ได้รับการจับตามองว่าน่าจะมีโอกาสมากที่สุดคือ นาย เพียว มินเต็ง มุขมนตรีภาคย่างกุ้ง วัย 51 ปี ซึ่งเคยเป็นผู้นำนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมื่อปี 2531 เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน มีความใกล้ชิดกับนางซูจีและประสานประโยชน์กับจีนได้เป็นอย่างดี แต่ผู้อาวุโสภายในพรรค NLD ไม่ค่อยชอบหน้า ทั้งอาจทำให้ความขัดแย้งระหว่างพรรค NLD กับกองทัพเมียนมาขยายตัว

กองทัพเมียนมายังคงรักษาอิทธิพลทางการเมืองไว้ ผ่านทางรัฐสภาซึ่งสงวนที่นั่งร้อยละ 25 ไว้ให้ตัวแทนของกองทัพ และกระทรวงด้านความมั่นคงที่กองทัพเป็นผู้แต่งตั้ง รมว.กห. รมว.มท.และ รมว.กระทรวงกิจการชายแดน ประเพณีปฏิบัติที่กองทัพมักเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังโดยตรงในพื้นที่ขัดแย้ง น่าจะทำให้โอกาสการปะทะกันระหว่างกองทัพกับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงมีอยู่สูง 

เช่นเดียวกับความขัดแย้งกับชนพื้นเมืองในรัฐต่างๆ ซึ่งเป็นผลทำให้ถูกชาติตะวันตกกดดันด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป ถึงกองทัพจะพยายามประสานประโยชน์กับรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ด้วยอุดมการณ์พื้นฐานที่ยึดถือต่างกัน น่าจะต้องขบกัดกันเป็นระยะ โดยเฉพาะเรื่องการพยายามแก้รัฐธรรมนูญของพรรค NLD

นอกเหนือจากปัญหาที่กล่าวขั้นต้น รัฐบาลเมียนมายังคงต้องแก้ไขปัญหาที่สำคัญอื่น โดยเฉพาะปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ 1 ต.ค.63 มีผู้ติดเชื้อมากกว่าวันละ 1,000 คนทุกวัน จนทำให้ปัจจุบันเมียนมามีผู้ติดเชื้อประมาณ 95,000 คนและเสียชีวิต 2,000 คน และอาจกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 ที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank-ADB) คาดการณ์ไว้ค่อนข้างดีที่การเติบโตของจีดีพีที่ร้อยละ 6