มองคนละมุม 'เครื่องแบบนักเรียน'

มองคนละมุม 'เครื่องแบบนักเรียน'

เรื่องเครื่องแบบนักเรียนกลายมาเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจอีกครั้งด้วยข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการแต่งเครื่องแบบนักเรียนของกลุ่มนักเรียนเลว

ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับระเบียบการแต่งกาย การควบคุมเสื้อผ้าหน้าผมของนักเรียนที่มีมานานนั้นก็เป็นประเด็นที่ต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นที่ถกเถียงมาอย่างยาวนาน และสังคมไทยยังไม่สามารถก้าวผ่านไปได้

เหตุผลหนึ่งที่สังคมประชาธิปไตยแท้เต็มใบมีความเจริญก้าวหน้าได้เพราะการยอมรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลของกันและกัน ฟังมุมมองของผู้เห็นต่างและหาจุดร่วมเพื่อแก้ไขก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ร่วมกัน โดยไม่ทำให้ฝ่ายไหนรู้สึกถูกทิ้งไว้ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนนี้ ที่มีทางออกปลายอุโมงค์หากสังคมหันหน้าเข้าหากัน รับฟังเหตุผลของอีกฝ่ายอย่างเป็นกลางเปิดใจไร้อคติ

แท้จริงแล้ว กระทรวงศึกษาฯได้ออกกฎใหม่เมื่อเดือน พ.ค. ปีนี้เอง ที่ผ่อนคลายความเข้มของเครื่องแบบและทรงผม กล่าวคือ อนุโลมให้ไว้ผมสั้นหรือยาวได้ ห้ามย้อมหรือดัด ยังคงเครื่องแบบนักเรียนไว้ และเปิดทางให้แต่ละโรงเรียนสามารถออกระเบียบเฉพาะตามความเหมาะสมได้ ซึ่งถือเป็นก้าวเริ่มที่ดี เพราะกรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว การเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปก็ยังดีกว่าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย

เครื่องแบบนักเรียนที่มีหน้าที่บ่งบอกสถานะความเป็นนักเรียนซึ่งเริ่มขึ้นที่ยุโรปนั้นก็ยังคงทำหน้าที่ของมันในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศต้นแบบการศึกษาอย่างอังกฤษที่ยังบังคับใส่เครื่องแบบในโรงเรียนรัฐ เช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทยเป็นต้น ขณะที่บางประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานน้อยหน่อย อย่างสหรัฐและแคนนาดาก็ให้ทางเลือกแก่นักเรียนในการแต่งกาย หรืออย่างฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเสรีอย่างมาก ก็ยกเลิกเครื่องแบบตั้งแต่ปี 2511

เช่นเดียวกับตราโรงเรียน เครื่องแบบของบางโรงเรียนนั้นบ่งบอกที่มาเอกลักษณ์และเอกสิทธิ์ ทั้งในไทยและต่างประเทศที่พอมองแล้วก็รู้ทันทีว่านักเรียนแต่งตัวแบบนี้นั้นมาจากโรงเรียนอะไร อาทิ เครื่องแบบพระราชทานของบางโรงเรียนในไทย หรือรูปแบบของเครื่องแบบ เนคไท และสีต่างๆ ของโรงเรียนในเมืองนอก

ทางออกที่ละมุนละม่อมที่สุดคือการเปิดใจคุยกันและผ่อนปรนกฎเกณฑ์หรือการบังคับใช้กฎต่างๆ ภายในโรงเรียนโดยมีกระทรวงศึกษาฯเป็นโต้โผ หรือใช้เส้นทางในการเรียกร้องความยุติธรรมผ่านองค์กรที่ทำหน้าที่รักษาความสมดุลของความยุติธรรม อย่างศาล หากมองว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ นั้นลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่มีตามรัฐธรรมนูญ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นที่มีการฟ้องร้องเรื่องสีผมของนักเรียน ซึ่งต่อมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎเรื่องของสีผมนักเรียน

หากมองอย่างรอบด้านจะพบว่าข้อเรียกร้องให้เปิดเสรีในร่างกายในรูปแบบของทรงผมเครื่องแบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่เมืองไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งล้วนมีทางออกที่นานาประเทศใช้กันให้ไทยเลือกมาประยุกต์มากมาย ตั้งแต่ จับเข่าคุยกัน ถอยคนละก้าว ผ่านศาล หรือจนกระทั่งการทำประชามติในระดับโรงเรียน หรือระดับใหญ่ใหญ่กว่านั้นเพื่อหาทางออกที่ทุกคนยอมรับได้

ประเทศไทยก็สามารถเรียนรู้จากทางออกนี้ได้ และค่อยปรับเข้าหากันทีละนิดจนเกิดสมดุลที่ลงตัว เป็นสมดุลที่เหมาะสมระหว่างสิทธิเสรีภาพ หน้าที่ในฐานะนักเรียน และเอกลักษณ์ประวัติศาสตร์ของโรงเรียน