ทักษะเพื่ออนาคต

ทักษะเพื่ออนาคต

การมีนวัตกรรมเป็นของตัวเองย่อมสร้างความได้เปรียบอย่างยั่งยืน

ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคตไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของโลกดิจิทัลเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญอีกหลายด้านเช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม (Co-operation) ทักษะในการสื่อสาร (Communication) ซึ่งได้เกริ่นไว้ใน “ Think out of The Box ” ฉบับวันอังคารที่แล้ว

มาต่อกันในทักษะที่สาม นั่นคือเนื้อหาสาระหรือ (Context) ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้มีคนเข้ามาหาตัวเราเพื่อพบปะพูดคุยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไป หรือเรื่องงาน ซึ่งเราจะเห็นคนบางคนมีบุคลิกลักษณะที่ชวนให้มีคนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วยเสมอ

บุคลิกดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ย่อมมาจากคนที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นอยู่เสมอ และยังรู้จักเรียบเรียงความคิดเพื่อถ่ายทอดต่อให้ผู้อื่นฟังได้ง่ายๆ ทำให้คนที่มาแลกเปลี่ยนความคิดด้วยเกิดความสบายใจและอยากพูดคุยด้วยบ่อยๆ

ทักษะประการที่สี่คือความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ซึ่งต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการสังเคราะห์ความคิดที่ดี ไม่ใช่การคิดสะเปะสะปะไปทุกอย่างจนขาดแนวทางที่ชัดเจน

เพราะความคิดของคนปกติทั่วไปจะเป็นการคิดแบบกระจัดกระจาย ไม่ได้เชื่อมโยงความคิดในแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน การคิดเชิงวิพากษ์จะทำให้เราคิดเรียงลำดับก่อนหลังและเล็งเห็นผลว่าหากคิดและทำเช่นนี้แล้วผลที่ได้จะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นเป็นทอด ๆ

ทักษะที่ห้าคือ มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอาศัยประสบการณ์และการบ่มเพาะมายาวนาน แม้บางคนจะชอบใช้ทางลัดด้วยการทำตามอย่างคนอื่นซึ่งเห็นผลเร็วกว่าเพราะ ไม่ต้องลงทุนลงแรงคิดค้นอะไรใหม่ ๆ แต่การเลียนแบบคนอื่นจะสร้างความสำเร็จได้ในระยะสั้นเท่านั้น

การมีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นของตัวเอง ย่อมสร้างความได้เปรียบอย่างยั่งยืนมากกว่าเพราะย่อมได้รับโอกาสใหม่ๆ ก่อนคนอื่น ในขณะที่คนเลียนแบบทำได้เพียงเป็นผู้ตามในลำดับที่ 2, 3, 4 ...ซึ่งไม่ใช่ตัวเลือกแรกของผู้บริโภคแน่นอน

เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารที่มีทักษะในการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ย่อมมีความสามารถในการนำองค์กรด้วยสิ่งแปลกใหม่ และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ได้เสมอและไม่หวั่นแม้จะมีบริษัทอื่นเลียนแบบเพราะเขาย่อมมีแนวทางใหม่เป็นของตัวเองได้ตลอดเวลา

ทักษะที่หกคือ มีความสามารถในการสร้างความเชื่อมั่นหรือ Confident เพราะหากเราไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว โอกาสที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าหรือนักลงทุนก็คงน้อยลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ก่อนที่จะขายความเชื่อมั่นให้กับใครเราจึงต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งและเชื่อมั่นในตัวเองให้ได้เสียก่อน

เราจะเห็นความเชื่อมั่นในตัวเองของเด็กรุ่นใหม่ที่สะท้อนตัวตนออกมาเป็นธุรกิจใหม่ๆ ที่สำเร็จได้เพราะความเชื่อมั่นของตัวเอง จนหล่อหลอมกลายเป็นความมุ่งมั่นที่พร้อมเอาชนะปัญหาและอุปสรรคมากมายได้สำเร็จ

โดยเฉพาะในทุกวันนี้ที่เรากำลังประสบกับภาวะวิกฤติมากมาย ทั้งโรคโควิด-19 และความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้เจ้าของธุรกิจและผู้บริหารจำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่ ซึ่งทักษะแห่งอนาคตทั้ง 6 ประการนี้จะเป็นแนวทางสำคัญให้เราปรับตัวรอดได้

แม้จะเป็นภาวะที่ยากลำบาก แต่เราก็ย่อมหาหนทางที่ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในที่สุดหากมองหาแก่นแท้ของตัวเองให้เจอและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงให้เร็วที่สุด