พัฒนานอกวิชาการ

พัฒนานอกวิชาการ

คนที่ขาดความคิดเชิงตรรกะจะปรับตัวยาก และถูกคนรุ่นใหม่แซงหน้าไปเรื่อยๆ

ทุกวันนี้หากมีโอกาสสอบถามเด็กรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบมาสัก 5-10 ปีว่า ได้ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาในการทำงานยุคปัจจุบันนี้มากน้อยเพียงใด คำตอบที่ได้มักจะคล้ายคลึงกันนั้นคือ “น้อยมาก” เพราะทฤษฎีหรือวิชาการที่เรียนรู้มานั้นไม่ค่อยทันกับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกธุรกิจในทุกวันนี้สักเท่าไรนัก

เช่นเดียวกับคนที่เรียนจบมานานกว่าเช่น 10-20 ปีที่ให้คำตอบคล้ายกันว่า ความรู้ในด้านวิชาการนั้นสู้เรื่องของความคิดเชิงตรรกะที่สมเหตุสมผล รวมถึงเรื่องทัศนคติเชิงบวกไม่ได้เลย ซึ่งสถาบันการศึกษาบ้านเรา ที่สร้างสมดุลเรื่องเหล่านี้ได้ดีย่อมบ่มเพาะบัณฑิตให้เติบโตมาเป็นคนคุณภาพในสังคมจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกสถาบันที่ทำเช่นนั้นได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเรายังเคยชินกับการนำเอาเนื้อหาความรู้ในอดีตมาสอนนิสิตนักศึกษาปัจจุบัน เพื่อหวังให้เขานำเอาความรู้ที่ได้ไปใช้งานในอนาคต ซึ่งแนวคิดแบบนี้อาจถูกต้องและเหมาะสมกับยุคก่อนหน้านี้ที่สังคมยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

ลองจินตนาการถึงยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว ที่สถาบันการศึกษาในวันนั้นต่างก็ใช้องค์ความรู้ที่ได้รับมาจากผู้ทรงภูมิปัญญาในอดีต เมื่อลูกศิษย์ลูกหาได้รับการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ แล้วก็สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ทันทีเพราะโลกในยุคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

วิวัฒนาการที่เกิดขึ้นจากยุคพ่อมาสู่ยุคลูกแทบจะไม่มีการเปลี่ยนสาระความรู้ใดๆ ความรู้จากรุ่นพ่อ จึงสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อรุ่นลูกมากมาย การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ ที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง จนในหนึ่งชั่วอายุคนแทบจะไม่เจอการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่พลิกชีวิตของแต่ละคนให้เปลี่ยนแปลงได้เลย

ตรงข้ามกับทุกวันนี้ที่ความรู้ในอดีตเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วในบางสาขาวิชาชีพแทบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เพราะภูมิทัศน์ทางธุรกิจ สังคม และอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทฤษฎีต่างๆ ที่เคยใช้ได้ผลกลับกลายเป็นสูญเปล่าเพราะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาแทนที่

เหลือเพียงความคิดเชิงตรรกะที่นิสิตนักศึกษาได้รับทางอ้อมจากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น ที่ช่วยให้เขาปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนอื่น ขณะที่คนที่ขาดความคิดในเชิงตรรกะจะปรับตัวได้ยากและถูกคนรุ่นใหม่แซงหน้าไปเรื่อยๆ 

การพัฒนาความคิดเชิงตรรกะสามารถทำได้ทุกช่วงทุกวัย ไม่จำกัดว่าต้องบ่มเพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น ขอเพียงมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้ควบคู่ไปได้นั่น คือ ประการแรก การทำงานเป็นทีมหรือ Co-operation ซึ่งโลกในยุคปัจจุบันสะท้อนให้เราเห็นแล้วว่า คนที่ประสบความสำเร็จล้วนต้องอาศัยทีมงานที่แข็งแกร่ง และต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างเหนียวแน่น ซึ่งในทุกวันนี้ครูบาอาจารย์ก็พยายามสอนให้เด็กรุ่นใหม่ทำงานเป็นทีมได้ตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อปลูกฝังแนวคิดดังกล่าว

สำหรับบางคนที่ถนัดในการทำงานด้วยตัวคนเดียวก็ต้องปรับทัศนคติให้เปิดรับการทำงานร่วมกับผู้อื่นก่อนเป็นอันดับแรก นั่นคือต้องมั่นใจว่า 2 แรงย่อมได้ผลคุ้มค่ากว่าแต่การจะเริ่มทำเช่นนั้นได้ต้องเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง และยอมรับผู้อื่นให้ได้เสียก่อนการเปลี่ยนแปลง และยอมรับผู้อื่นให้ได้เสียก่อน

ประการที่สองคือการสื่อสารหรือ Communication เพราะหากมั่นใจว่าเรามีความคิดและแผนงานที่ดีเยี่ยมแล้ว การจะทำให้สำเร็จได้ก็จำเป็นต้องถ่ายทอดให้คนอื่นรับรู้ได้อย่างทะลุปรุโปร่งซึ่งต้องอาศัยการถ่ายทอดความคิดซึ่งก็คือการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

สองข้อแรกนี้มีความสัมพันธ์กันเพราะหากมั่นใจว่าตัวเองเก่งแต่เพียงลำพัง ก็มักจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องสื่อสารกับใคร สุดท้ายแล้วแนวคิดของเราก็ไม่มีวันได้รับการผลักดันเพราะไม่มีใครเห็นความสำคัญจนค่อย ๆ จมหายไปในที่สุด