ยกระดับ ปรับทักษะคนไทย กลไกพัฒนาชาติ

ยกระดับ ปรับทักษะคนไทย กลไกพัฒนาชาติ

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นกระบวนการสำคัญที่จะนำพาให้ประเทศอยู่รอดได้ในโลกปกติใหม่ ภายใต้ศักยภาพการขยายตัวของประเทศเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ

ความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับต่ำนี้ ทั้งจากการหดตัวของการค้าโลกหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการลงทุนที่ขยายตัวในระดับไม่สูงนักมาระยะหนึ่งแล้ว  ปัญหาสำคัญอีกด้าน คือ ศักยภาพของแรงงานไทยที่ต่ำลง โดยมาตรการหลักที่จะพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานไทย จะต้องมุ่งยกระดับ (Upskill) และปรับทักษะ (Reskill) ให้คนไทย มีความสามารถในการปรับตัวรับมือกับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งนับเป็นมาตรการที่ตรงจุดเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และยังมีศักยภาพส่วนเกินในตลาดแรงงานอยู่มาก

 จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้ครบวงจร เพื่อให้คนไทยพึ่งพาตัวเองได้ และยืดหยุ่นให้เกิดการเรียนรู้สอดคล้องกับความต้องการทักษะที่ไม่เคยหยุดนิ่งตามการเปลี่ยนผ่านรูปแบบธุรกิจ โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้การยกระดับและปรับทักษะแรงงานสามารถขับเคลื่อนกลไกการพัฒนาชาติได้ คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งนายจ้าง แรงงาน ผู้ให้บริการพัฒนาทักษะ และหน่วยงานดำเนินนโยบาย

 แม้โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง แต่สถานการณ์มีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับและต้องการมาตรการดูแลที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ตามที่บทความในกรอบ “แนวทางการฟื้นฟูตลาดแรงงานไทยจากผลกระทบของโควิด-19” ของรายงานนโยบายการเงิน เดือน มิ.ย.2563 ได้ประเมินไว้ว่า ในระยะแรกของการระบาด การล็อกดาวน์กิจกรรมในไตรมาสที่สอง ทำให้ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ได้แก่

(1) ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ให้ได้รับเงินชดเชยในกรณีว่างงาน หรือถูกให้หยุดงานจากเหตุสุดวิสัย รวมถึงถูกให้หยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 ที่ไม่จัดเป็นเหตุสุดวิสัย รวมประมาณ 2 ล้านรายในไตรมาสที่สอง (2) ผู้ประกอบอาชีพอิสระลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกัน 15 ล้านราย และ (3) เกษตรกร 8 ล้านราย หลังจากที่รัฐสามารถควบคุมการแพร่ระบาดจนกระทั่งผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์แล้วในไตรมาสสามเป็นต้นมานั้น มาตรการภาครัฐได้เปลี่ยนผ่านจากการมุ่งเยียวยามาเป็นการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งหลายมาตรการก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี และช่วยสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการรายย่อย

นอกจากมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว มาตรการด้านแรงงานมีความสำคัญในการช่วยให้แรงงานสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ กลุ่มธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน แรงงานสูงอายุ แรงงานจบใหม่และแรงงานทักษะน้อย

 ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลักจัดทำเว็บไซด์ www.ไทยมีงานทำ.com เป็นแพลตฟอร์มกลางจับคู่งานให้แรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยได้รวบรวมงานภาคเอกชนและงานชั่วคราวภาครัฐรวมกว่า 5 แสนตำแหน่งและได้สร้างงานไปแล้วกว่า 1.6 แสนตำแหน่ง จึงมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน

 อย่างไรก็ดี ยังมีผู้สมัครงานอีก 1 แสนคน และมีตำแหน่งงานว่างอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถหาแรงงาน จึงสะท้อนปัญหาสำคัญในตลาดแรงงานไทยที่มีอยู่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ความไม่สอดคล้องของทักษะที่แรงงานมีและที่ตลาดแรงงานต้องการ ดังนั้น มาตรการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้งในส่วนของการยกระดับให้แรงงานมีทักษะสูงขึ้นและปรับทักษะแรงงานให้มีความยืดหยุ่นสามารถย้ายงานไปสู่ธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ ได้

ในภาพรวมของประเทศแล้ว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม futureskill-newcareer.in.th ซึ่งไม่เพียงแต่จะมุ่งยกระดับและปรับทักษะ แต่จะเน้นสร้างทักษะใหม่หรือ New Skill เช่น ทักษะสำหรับเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ทักษะการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ (Care Giver) ทักษะการจัดการข้อมูลดิจิทัล และทักษะเพื่อการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม (Smart Innovative Entrepreneur) เป็นต้น

 

เพื่อเตรียมคนไทยทุกช่วงวัยให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต ภายใต้แนวคิด “เสริมทักษะ สร้างคน เพิ่มโอกาส สร้างงาน” โดยมุ่งเปิดพื้นที่เชื่อมความต้องการทักษะของนายจ้างและโยงการพัฒนาทักษะโดยมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อสร้างทักษะใหม่ให้เท่าทันความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีหลักสูตรมากกว่า 800 หลักสูตร พัฒนาและออกแบบโดยศูนย์ฝึกอบรมกว่า 100 แห่งจากมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนทั่วประเทศทั้งในรูปแบบ online และการเรียนรู้ในห้องเรียน อย่างไรก็ดี การมีส่วนร่วมของสถานประกอบการในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานศึกษาในภาพรวมยังไม่ชัดเจนนัก

 

ตัวอย่างมาตรการสำคัญที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการยกระดับปรับทักษะบนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐ คือ มาตรการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มุ่งพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนในพื้นที่ให้ตรงตามความต้องการในรูปแบบ demand-driven ผ่านความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาผู้พัฒนาทักษะ สถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายหลักคือพัฒนาให้แรงงานในพื้นที่มีงานทำและมีรายได้ที่ดี

โดยออกแบบการพัฒนาทักษะออกเป็น 2 ลักษณะ คือ EEC type A การเรียนแบบมีวุฒิการศึกษาปริญญา หรือ degree ที่สถานประกอบการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายรายเดือนซึ่งเป็นรูปแบบที่สถาบันการศึกษากับเอกชนร่วมกันออกแบบหลักสูตรอย่างใกล้ชิด

 

ขณะที่ EEC type B เป็นแนวทางที่เร่งตอบโจทย์การขาดแคลนแรงงานในระยะเร่งด่วน เป็นการอบรมระยะสั้น หรือ short course โดยรัฐและเอกชนร่วมจ่ายแบบคนละครึ่งและสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษี ทั้งนี้ หลักสูตรที่ใช้งานผ่านการรับรองจากคณะทำงานพิจารณาหลักสูตร และมีเงื่อนไขให้เอกชนต้องจ้างงานแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างน้อยหนึ่งปีอีกด้วย โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้แนวทางการพัฒนาที่ยังจำกัดอยู่ สามารถขยายจำนวนผู้เข้ารับการพัฒนาได้มากขึ้นทั้งในพื้นที่ EEC และในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

กุญแจสำคัญของความสำเร็จ คือ การบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มในวงกว้าง ซึ่งการดำเนินการในปัจจุบัน ได้มีความร่วมมือในการเชื่อมโยงการทำงานแล้วในบางส่วน แต่ยังต้องพัฒนาให้มีความครบถ้วนของทั้งตำแหน่งงาน หลักสูตรที่พัฒนาในลักษณะ demand-driven อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นในทุกขั้นตอนจากภาคเอกชนด้วย

ตัวอย่างความพยายามในปัจจุบัน คือ แพลตฟอร์มด้านการพัฒนาทักษะของ กระทรวง อว. ได้เชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์มจับคู่งานของกระทรวงแรงงานแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยที่มีความประสงค์จะทำงานแต่ยังหางานไม่ได้เพราะมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ได้เข้ารับการอบรมทักษะที่นายจ้างต้องการ ให้สามารถเข้าถึงงานที่ต้องการได้ในที่สุด 

นอกจากนี้ แรงงานที่มีความต้องการเพิ่มรายได้หรือพัฒนาขีดความสามารถของตนเองก็อาจพิจารณาใช้งานทั้งสองแพลตฟอร์มเพื่อให้บรรลุวัตถุเป้าหมายได้เช่นกัน จึงเป็นตัวอย่างการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดแรงงานและหน่วยงานกำกับดูแลสถานศึกษา ผ่านการใช้งานเทคโนโลยีแพลตฟอร์มทำให้การจับคู่งานและทักษะเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติในวงกว้าง

ดังที่บทความ “Labor Market Digital Transformation: หนทางต้านวิกฤต” FOCUSED AND QUICK (FAQ) ฉบับที่ 171 ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย กัมพล พรพัฒนไพศาลกุล ได้เสนอทางออกของการดำเนินการพัฒนาทักษะที่มีลักษณะไม่เป็นเอกภาพของไทยไว้ว่า

การยกระดับการจัดการแรงงานบนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากด้านแรงงาน โดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล แพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงข้อมูลด้านแรงงานและสถานศึกษาเพื่อจับคู่ตำแหน่งงานและทักษะระหว่างแรงงานกับความต้องการของตลาด อย่างไรก็ดี ยังคงต้องมีการติดตามประเมินผล เพื่อเอื้อให้การยกระดับคุณภาพแรงงานมีความเพียงพอที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกปกติใหม่ที่เราต้องเผชิญกันต่อไป

 (บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย)

*บทความโดย 

ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

ดร.อภิชาต ทองอยู่ และ ดร.ชลจิต วรวังโส วีรกุล สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ และ กัมพล พรพัฒนไพศาลกุล ธนาคารแห่งประเทศไทย