บทวิเคราะห์ : จาก Libra สู่ Diem

บทวิเคราะห์ : จาก Libra สู่ Diem

หลังการเปิดตัวของ Libra หรือสกุลเงินดิจิทัลของ Facebook (Fb) เมื่อกลางปี 19 นับจากนั้น Fb ก็ต้องเผชิญหลายเหตุการณ์สำคัญ

        Facebook  เผชิญเหตุการณ์สำคัญจนกระทั้งได้มีการปรับรูปแบบการออกเหรียญ Libra Version 2.0 เมื่อต้นปี 20 เพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์การกำกับดูแลของ Regulator ในประเทศต่าง ๆ จนกระทั้งเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 20 ที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การปรับ จาก Version 2 เป็น Version 3 แต่ Libra ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “Diem” ซึ่งมาจากภาษาลาตินที่แปลว่า “Day” และกระเป๋าเงินดิจิทัลของ Fb ที่ครั้งหนึ่งเคยชื่อ “Calibra” ได้เปลี่ยนเป็น “Novi” ที่แปลว่าใหม่ หรืออาจกล่าวได้ว่า นี่คือ การเริ่มต้นวันใหม่ของ Fb


         ก่อนจะเป็น Diem : จาก Libra 1.0 ถึง 2.0

         นับจากการเปิดตัวของ Libra สิ่งที่ Fb ให้ความสำคัญมากประการหนึ่ง คือ “Regulators ทั่วโลกจะให้การยอมรับ Libra มากน้อยเพียงใด” ซึ่งนั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้ทีมงาน Fb เดินสายเข้าพบ Regulators ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจและปรึกษาประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ในการสร้างสกุลเงิน Libra

         อย่างไรก็ดี ผลตอบรับที่ได้ เหมือนจะไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไรนัก ดังนั้นในเวลาต่อมา Libra 1.0 จึงถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็น Libra 2.0 ซึ่งในเวอร์ชั่นนี้ ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบจากการที่ Fb จะเป็นผู้ออกเหรียญเอง เป็นการสร้าง Platform ที่เชิญชวนให้ธนาคารกลางทั่วโลกเข้ามาพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลบน platform ของ Libra หรือพูดง่ายๆ ว่า Fb กำลังเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ออกเหรียญ เป็นผู้สร้างระบบที่ให้ธนาคารกลางต่าง ๆ มาลงโปรแกรมเงินดิจิทัลของตนบน Libra platform

 

         รูปแบบที่แตกต่าง  : จาก Libra 2.0 ถึง Diem

         Libra 2.0 : เมื่อข้อเสนอในการสร้าง Libra 1.0 ที่ Fb ต้องการให้มูลค่าของ Libra อ้างอิงกับ Basket of Currencies หลายสกุล หรือเท่ากับกว่า จะผูกมูลค่าของเหรียญ Libra เข้ากับเงิน fiat สกุลต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบที่มีอยู่เท่าไรนัก จึงเป็นที่มาของการปรับรูปแบบของ Libra 2.0 ที่ได้กำหนดให้สร้างเหรียญเกิดขึ้นในสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือ การสร้าง Single-currency stablecoins ซึ่งมีหลักการในการตั้งสำรองแบบ 1:1  แต่ต่างกันที่ในระยะแรก Libra ได้กำหนดสกุลเงินที่สามารถเข้าร่วมพัฒนาบนระบบไว้เพียง 4 สกุล ได้แก่ USD, EUR, GBP และ SGD ดังนั้น หากมีการออก LibraGBP จำนวน 1 ล้าน LibraGBP ก็ต้องตั้งสำรองไว้ 1 ล้าน GBP และเก็บไว้ในบัญชีธนาคารที่ Libra กำหนด รูปแบบที่สอง คือ การสร้าง Global Libra โดยมูลค่าสินทรัพย์ที่หนุนหลังคือมูลค่าของทุกเหรียญที่รวมกันอยู่ใน Single-currency stablecoins ซึ่งจะคำนวณแบบค่าเฉลี่ยของทุกสกุล (คล้ายกับสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ที่กำหนดโดย IMF) โดยวัตถุประสงค์ในการสร้างเหรียญประเภทนี้เพื่อใช้เป็นช่องทางการชำระเงินระหว่างประเทศ

         Diem : การออกเหรียญที่ยังคงเป็นรูปแบบ Stablecoin แต่จะอ้างอิงกับสกุลเงินเพียงสกุลเดียว (Single-Currency Stablecoin) แทนที่จะใช้ระบบ Multi-Currency Coin อย่างเช่น Libra ใน version ก่อน โดย Single-Currency Stablecoin จะมีสินทรัพย์ของสกุลเงินนั้น ๆ  หนุนหลังเต็มจำนวน (ไม่ว่าจะเป็นเงินสด หรือ พันธบัตรรัฐบาลแบบระยะสั้น) นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ Diem ยังมีโครงการที่จะปรับปรุงรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์ในเรื่องการฟอกเงิน และกฎระเบียบต่าง ๆ ว่าด้วยการป้องกันการก่อการร้าย

            Blockchain ยังคงเป็น Technology พื้นฐาน
           
แม้โครงการจะเปลี่ยนชื่อและรูปแบบ แต่ Fb ก็ยังคงใช้ Blockchain เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการจัดเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมของ Diem ดังนั้น หากอ้างอิงจากเอกสาร Whitepaper ของ Diem อาจกล่าวได้ว่า Fb ยังคงเลือกใช้ระบบ Permissionless system หรือ Blockchain แบบที่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถที่จะร่วมบันทึกข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลงไปได้ ซึ่งระบบจะจัดทำการเก็บสำเนาประวัติธุรกรรมต่าง ๆ (Ledger) ไว้ โดย fb ได้ระบุว่าระบบดังกล่าว คือ ระบบการทำธุรกรรมในอนาคตและจะเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ เพราะจะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ร่วมอยู่ในระบบสามารถตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมได้ (Verify Transaction)

          อนาคตของ Diem
           สำหรับผู้เขียนนี่คือการ Scale down ของโครงการ Libra ซึ่งเป็นการลดเป้าจากความมุ่งหวังในการสร้าง Global digital currency ที่ต้องการให้รัฐบาลทั่วโลกยอมรับให้ libra เป็นสกุลเงินมาตรฐาน (Global Standard currency) อีกสกุลหนึ่ง เป็นเพียงการสร้างระบบชำระเงินและสื่อกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินที่ช่วยให้การโอนเงินข้ามประเทศเป็นเรื่องที่สะดวกและรวดเร็วขึ้นมากกว่าการสร้างสกุลเงินดิจิทัลที่แท้จริง

           ดังนั้น ในทางปฏิบัติ Fb จึงได้ลดขนาดโครงการลงโดยเปลี่ยนรูปแบบเป็นเพียงสกุลเงินที่ผูกติดกับสกุลเงินเพียงสกุลเดียว (Single-Currency Stablecoin) ซึ่งหากตั้งสมมุติฐานว่า Diem ผูกติดกับ Dollar ก็ต้องอย่าลืมว่าตลาด Us dollar-based Stablecoin ในสหรัฐยังมีคู่แข่งอีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในตลาดอยู่เดิม เช่น Tether (USDT) , Celo Dollar (CUSD) และ USD Coin ที่นักลงทุนมักนิยมใช้เก็บมูลค่าของเงินในการเทรดคริปโทสกุลต่าง ๆ โดยบริษัทเหล่านี้มักจัดตั้งในรูปแบบ Association เช่นกัน และดึงดูดหลายบริษัทที่เคยร่วมจัดตั้ง Libra Association กับ Fb ด้วย


          อย่างไรก็ดี จุดแข็งของ
Fb ก็เป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้าม ซึ่งแม้ USD stablecoin เจ้าต่าง ๆ จะอยู่ในตลาดมาก่อน แต่หากพิจารณาจากผู้ใช้บริการ Fb ซึ่งมีจำนวนราว 2 พันล้านบัญชีทั่วโลก ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญหาก Fb สามารถโน้มน้าวให้ผู้ใช้บริการเหล่านั้นมาใช้ Diem ได้สำเร็จ
         

           ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของความสมดุลใหม่ ที่คริปโทสกุลต่าง ๆ พยายามปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเหตุแห่งการปรับตัวเป็น Diem ก็อาจด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาเพื่อพัฒนา CBDC เป็นของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนจะขอวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวในคราวต่อไป

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน