เอเชียกับโควิด-19:การบ้านที่ต้องทำต่อ

เอเชียกับโควิด-19:การบ้านที่ต้องทำต่อ

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเอกสาร “ชีวิตและความเป็นอยู่:นโยบายที่ควรพิจารณาหลังโควิด-19” ของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน +3 (AMRO)

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเอกสาร “ชีวิตและความเป็นอยู่ : นโยบายที่ควรพิจารณาหลังโควิด-19” เป็นบทความภาษาอังกฤษชื่อ Life and Livelihood : Post-Covid-19 Policy Consideration ของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน +3 (AMRO) บรรยายโดยหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ดร.โฮ อี คอร์ (Hoe Ee Khor) ในงานประชุมฟอรั่มสื่ออาเซียน 2020 หรือ ASEAN Media forum 2020 ซึ่งน่าสนใจมาก

          เพราะพูดถึงสิ่งที่ประเทศในอาเซียนและประเทศ +3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ประสบในวิกฤติคราวนี้ รวมถึงความท้าทายด้านนโยบายจากนี้ไป คือหลังโควิด-19 และให้ข้อคิดที่ดีสำหรับการทำนโยบายเศรษฐกิจในบ้านเรา ว่ามีอะไรรออยู่ข้างหน้าและประเทศอื่นเขากำลังทำอะไรกัน

          วันนี้จึงอยากสรุปประเด็นเหล่านี้และสิ่งที่ทางการควรทำ เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ต่อเนื่อง แข่งขันได้ เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ

          เมื่อวิกฤติโควิด-19 เกิดขึ้นช่วงต้นปี ซึ่งเป็นวิกฤติทางสาธารณสุข สิ่งที่ประเทศในเอเชียทั้ง 13 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ และประเทศ +3 ทำเหมือนกัน คือให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตของประชาชนเป็นอันดับแรก โดยเลือกที่จะหยุดการระบาดโดยการปิดประเทศและหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นการชั่วคราวเพื่อลดการระบาด ซึ่งสามารถทำได้อย่างสำเร็จ แต่ก็ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทาน อุปสงค์ และตลาดการเงิน นำไปสู่การหดตัวที่รุนแรงของการส่งออก การท่องเที่ยวและการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น จนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ

          ประเทศในเอเชียทั้ง 13 ประเทศก็ตอบโต้ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขนาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผ่านมาตรการการเงิน การคลัง และเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ในวงเงินรวมกันแล้วกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ หรือผลผลิตรวมโดยเฉลี่ย ผลคือเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง และเทียบกับสหรัฐและประเทศในยุโรป ชัดเจนว่าความสามารถในการควบคุมการระบาดที่ทำได้ดี ที่ประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่มีการระบาดลดลงตั้งแต่เดือน เม.ย.ต่อเนื่องถึงเดือน พ.ย. ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียเริ่มฟื้นตัวอย่างที่เห็น

          ในแง่ตัวเลข เศรษฐกิจของประเทศอาเซียน +3 ทั้งกลุ่มจะหดตัวร้อยละ 0.3 ปีนี้ และขยายตัวร้อยละ 6.7 ปีหน้า เฉพาะ 10 ประเทศอาเซียนเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 3.3 ปีนี้ และขยายตัวร้อยละ 6.0 ปีหน้า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากสุดในอาเซียน คือหดตัวร้อยละ 7.8 ตามด้วยฟิลิปปินส์หดตัวร้อยละ 7.6 และสิงคโปร์หดตัวร้อยละ 6.0 ที่ขยายตัวมากสุดปีนี้คือเวียดนาม ร้อยละ 3.1 ตามด้วยบรูไน ร้อยละ 1.6 และเมียนมา ร้อยละ 1.1 สำหรับกลุ่ม +3 จะมีประเทศเดียวที่เศรษฐกิจขยายตัวปีนี้คือจีนขยายตัวร้อยละ 2.1 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.1 ปีหน้า

          สำหรับความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจภูมิภาคจากนี้ไปจะมี 3 เรื่อง

หนึ่ง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาด ที่อาจปะทุขึ้นอีก นำไปสู่การปิดเมืองที่จะสร้างความ เสียหายต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

สอง ความยืดเยื้อของวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น และจะสร้างความเสียหายต่อศักยภาพของเศรษฐกิจภูมิภาคที่จะเติบโตในระยะยาว หมายถึงผลทางลบของวิกฤติที่จะมีต่อรายได้ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การไม่มีงานทำและโอกาสทางการศึกษา ที่จะมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของแรงงาน

สาม ความสามารถที่จะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องจะมีน้อยลง ถ้าวิกฤติเศรษฐกิจยืดเยื้อ เพราะผลกระทบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีต่อฐานะการคลังของประเทศ และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน

          นี่คือความเสี่ยงหลักที่ประเทศในเอเชียต้องเจอ ทำให้การทำนโยบายเศรษฐกิจจากนี้ไปจะต้องคำนึงถึงการลดความเสี่ยงเหล่านี้ โดยเดินออกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบัน ไปสู่การสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน หมายถึงเปลี่ยนผ่านจากมาตรการเศรษฐกิจระยะสั้น ที่เน้นการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างสุดตัวเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ ไปสู่การสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในระยะยาว โดยการทำนโยบายที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจง เช่น สร้างแรงจูงใจให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาทักษะแรงงานและการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อปฏิรูปกระบวนการผลิตในเศรษฐกิจ

          โดยภาคเอกชนมีบทบาทนำและภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนโดยมาตรการปฏิรูปต่างๆ เช่น ให้ความสำคัญกับการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในระบบเศรษฐกิจ การกระจายห่วงโซ่การผลิตไปสู่ภาคชนบทของประเทศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุน และรัฐสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่จะคุ้มครองกลุ่มที่เปราะบางหรือมีรายได้น้อย นี่คือการเปลี่ยนผ่านที่ต้องเกิดขึ้น

          เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด เพื่อให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ พร้อมกับสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับคนในสังคม เป็นความท้าทายที่ทุกประเทศในภูมิภาคต้องเจอ เพียงแต่ประเทศไหนจะไหวตัว และพร้อมที่จะทำให้สำเร็จได้มากกว่ากัน เป็นความท้าทายที่ประเทศเราก็ต้องเจอและต้องทำให้สำเร็จ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาส หรือตกกระป๋อง กลายเป็นประเทศปลายแถวที่แข่งขันไม่ได้ เป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจที่ต้องทำให้เกิดขึ้น

          ในบริบทนี้สำหรับประเทศไทย ความท้าทายต่อผู้ทำนโยบายเศรษฐกิจของเราจึงมี 3 เรื่อง

          1.ป้องกันไม่ให้การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นอีก เพราะจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก โดยจะทำลายบรรยากาศการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น

          2.ใช้ทรัพยากรการเงินที่มีอยู่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างตรงจุดและมีวินัย เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นให้เดินหน้าได้ต่อไป โดยเน้นช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่และความสามารถในการหารายได้ของคนกลุ่มล่างในสังคม ที่ได้รับผลกระทบมากสุดในวิกฤติคราวนี้

          3.สร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจที่มีศักยภาพเริ่มปรับตัวไปสู่โลกธุรกิจหลังโควิด-19 ที่จะเป็นโลกที่แข่งขันโดย นวัตกรรม เทคโนโลยีและความปลอดภัยด้านสาธารณสุข

          นี่คือการบ้านที่รออยู่ข้างหน้า เป็นการบ้านที่จะชี้อนาคตของคนในประเทศ