‘WEF’ ชี้ปรับทักษะคนเป็น ‘เรื่องจำเป็น’

‘WEF’ ชี้ปรับทักษะคนเป็น ‘เรื่องจำเป็น’

ต้องการคนที่ปรับทักษะตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง The Future of Jobs 2020 ซึ่งเป็นผลสำรวจจากผู้บริหาร 15 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 26 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย โดยสำรวจช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ สอบถามแผนงานทรัพยากรบุคคลไปถึงช่วงปี 2024 มี 49 คำถาม โดยได้รับคำตอบมาจาก 291 องค์กรทั่วโลกที่ครอบคลุมจำนวนพนักงานถึง 7.7 ล้านคน

ผลสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจหลายด้าน โดยเฉพาะทักษะการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเกิดวิกฤติโควิด ทาง WEF ระบุว่า การล็อกดาวน์และเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างมาก และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Double Disruption” คือ นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ยังเกิดการเปลี่ยนจากการเกิดโรคระบาด และเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นอย่างมาก

ในปีนี้ประเทศต่างๆ มีอัตราว่างงานที่สูงขึ้นจากวิกฤติโควิด และที่ทำงานส่วนใหญ่ทั่วโลก ก็ยังไม่ได้กลับมาทำงานในรูปแบบเดิม นอกจากนี้หลายองค์กร ยังเลือกที่จะให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติใหม่ๆ จนถึงปัจจุบัน และพบว่าภายในปี 2025 งานในปัจจุบันจะกลายเป็นการทำงานที่ผสมผสานระหว่างคนกับเครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์ที่กลายเป็นระบบอัตโนมัติ

เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจช่วงปีที่ผ่านมา คือ คลาวด์คอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า และอีคอมเมิร์ซ แต่ขณะเดียวกันเริ่มเห็นการเข้ามาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เอไอ ไอโอที หุ่นยนต์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทำให้ความต้องการตำแหน่งงานใหม่ๆ มีมากขึ้น WEF ระบุตำแหน่งที่จะมีความต้องการอย่างมากในหลายด้าน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Data Analysts and Scientist, AI and Machine Learning Specialists, Big Data Specialists 

นอกจากนี้ยังมีงานใหม่ๆ อีกหลายด้าน ดังเช่น Customer Success Specialist, Digital Marketing and Strategy Specialist หรือ Digital Transformation Specialists ส่วนตำแหน่งงานเดิมๆ ในหลายด้านจะมีความต้องการที่ลดลง ไม่ว่าจะเป็น พนักงานป้อนข้อมูล งานเลขานุการ งานบัญชี งานด้านบุคคล หรือแม้แต่พนักงานในโรงงาน

แม้ว่าคาดการณ์ตัวเลขจ้างงานที่จะลดลงจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีปี 2025 จะลดลงไป 85 ล้านตำแหน่ง แต่จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 97 ล้านตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับการหาบุคลากรในการทำงานอยู่ แต่ต้องการคนที่มีความสามารถ และปรับทักษะตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

จากการสำรวจพบว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานที่มีอยู่จำเป็นต้องการปรับทักษะใหม่ (Re-skill) และคนที่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม 40% ต้องเพิ่มทักษะ (Up-skill) การทำงานของตัวเอง เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงการทำงานรูปแบบใหม่ ซึ่งมีทักษะการใช้เทคโนโลยี วิเคราะห์ข้อมูล องค์ความรู้เอไอ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะคิดเชิงวิเคราะห์

องค์กรต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ ให้พนักงาน จากการสำรวจพบว่า 70% องค์กรขนาดใหญ่อบรมเรื่องเหล่านี้ไว้บ้างแล้ว เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลง

สำหรับประเทศไทย WEF ระบุว่า มีคนวัยทำงาน 47,215,919 คน อัตราว่างงานค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก การสำรวจพบว่า แรงงานไทยมีทักษะดิจิทัล 54.9% และประเทศใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหลายด้านค่อนข้างสูง เช่น คลาวด์ ไอโอที ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ บิ๊กดาต้า และอีคอมเมิรซ์ แต่ต้องการหาคนทำงานทักษะใหม่ๆ เช่นเดียวกับแนวโน้มทั่วโลก และอนาคตอาจมีตำแหน่งหลายอย่างที่ความต้องการลดลง 

WEF ได้ระบุไว้ในรายงานด้วยว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจำเป็นที่จะต้องทุ่มงบประมาณ เพื่อให้องค์กรสามารถปรับทักษะของพนักงาน เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ และเป็นการแก้ปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากการว่างงานในอนาคต หากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถปรับทักษะได้ทัน