ควบคุมการประกอบธุรกิจโดยรัฐในยุคเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน

ควบคุมการประกอบธุรกิจโดยรัฐในยุคเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน

เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน นำไปสู่การสร้างรูปแบบทางธุรกิจหรือการให้บริการใหม่แก่ผู้บริโภค ซึ่งส่งผลต่อการกำกับดูแลโดยรัฐ

เทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน (Disruptive Technologies) ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ คริปโทเคอร์เรนซี บล็อกเชน อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things) หรือยานพาหนะไร้คนขับ นำไปสู่การสร้างรูปแบบทางธุรกิจหรือการให้บริการใหม่แก่ผู้บริโภค ซึ่งส่งผลต่อการกำกับดูแลโดยรัฐที่ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความเป็นธรรมในระบบกลไกตลาด และส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม

            โดยทั่วไปกระบวนการในการออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจมักจะดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า เมื่อมีผลใช้บังคับแล้วก็มักจะไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งล้าสมัย มักจะมีแนวโน้มที่จะควบคุมมากจนเกินความจำเป็นจนกระทบต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ และมีลักษณะแยกส่วนไม่บูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ ในขณะที่เทคโนโลยีที่สร้างความผันผวนได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างความสลับซับซ้อนให้กับการประกอบธุรกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

            ธุรกิจให้เช่าที่พัก Airbnb เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 จนถึงกระทั่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการกว่า 80 ล้านคน ในขณะที่รัฐยังคงพยายามหาวิธีการควบคุมธุรกิจให้เช่าที่พักระยะสั้นดังกล่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ นอกจากนี้ความสลับซับซ้อนของการประกอบธุรกิจยังสร้างความยุ่งยากให้กับการกำกับดูแลโดยรัฐขึ้นไปอีก ธุรกิจให้เช่ารถหากให้บริการรับส่งอาหารก็อาจจะทำให้ต้องตกอยู่ภายใต้กฎระเบียบเกี่ยวกับการสาธารณสุขด้วย ในขณะที่ธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารโดยยานพาหนะไร้คนขับนอกจากจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการขนส่งแล้วก็ยังเชื่อมโยงกับกฎหมายโทรคมนาคมอีกด้วย

            การพัฒนาการประกอบธุรกิจใหม่โดยอาศัยเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผันนี้ ยังส่งผลสำคัญในแง่กฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องความรับผิดในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น เช่น กรณีที่รถยนต์ที่ขับเองอัตโนมัติชนกัน ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างผู้พัฒนาระบบซอฟท์แวร์ เจ้าของรถยนต์ หรือผู้ครอบครองรถยนต์ หรืออุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ที่เกิดจากการพิมพ์สามมิติ (3D-Printing) เราจะนำกฎหมายความรับผิดในผลิตภัณฑ์มาบังคับใช้อย่างไร ในกรณีที่เฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวเกิดชำรุดและใช้งานไม่ได้ ใครจะต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว ร้านที่พิมพ์เฟอร์นิเจอร์ ผู้ออกแบบ หรือผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สามมิติ

            นอกจากปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้น ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยของข้อมูลดังกล่าว การเติบโตขึ้นของการใช้สมาร์ทโฟน อุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ ได้สร้าง “ร่องรอยในโลกดิจิทัล” (Digital Footprint) ให้กับเราทุกคน เป็นข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ทิ้งไว้ในโลกดิจิทัลซึ่งสามารถถูกติดตามและถูกนำไปใช้ได้ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ  คำถามสำคัญคือใครเป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ หากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าว เขามีหน้าที่ในการเก็บรักษาและปกป้องข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร ในกรณีใดบ้างที่ข้อมูลดังกล่าวสามารถส่งผ่านไปยังบุคคลที่สามได้ ในประเด็นนี้จึงมีการพูดถึง “สิทธิที่จะถูกลืม” (right to be forgotten)

            การควบคุมการประกอบธุรกิจบริการรักษาสุขภาพโดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของกฎระเบียบในการกำกับดูแลธุรกิจดังกล่าว

ปัจจุบันมีอุปกรณ์ตรวจสุขภาพแบบดิจิทัลที่มีโปรแกรมสามารถวิเคราะห์สุขภาพ ให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและการรักษาได้ ในขณะที่หน่วยงานของรัฐยังคงกำกับดูแลอุปกรณ์ดังกล่าวเหมือนกับอุปกรณ์การแพทย์แบบเดิม ๆ โดยการตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวก่อนที่จะมีการปล่อยสู่ท้องตลาด ซึ่งหากเป็นอุปกรณ์การแพทย์แบบเดิม ๆ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะหลังจากปล่อยสู่ตลาดแล้วอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าวก็จะไม่มีการปรับเปลี่ยนอะไร แต่ในกรณีอุปกรณ์การแพทย์แบบดิจิทัลนี้สามารถมีการปรับปรุงซอฟท์แวร์เพิ่มเติมภายหลังได้ อีกทั้งยังเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และบันทึกข้อมูลทางการแพทย์ทั้งหลายของผู้ป่วยได้ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่องการคุ้มครองข้อมูลของผู้ป่วยมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น การควบคุมของรัฐในรูปแบบเดิมจึงไม่เหมาะสมกับระดับของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปเป็นอย่างมากแล้ว

            จากที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่ากลไกการควบคุมการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐในรูปแบบเดิม ๆ ไม่อาจใช้ได้ผลในยุคเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผัน รัฐจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมของกลไกการควบคุมการประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

            ในการพัฒนากลไกในการควบคุม ผู้กำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลต้องตอบคำถามสำคัญ ดังนี้

            1) สถานะปัจจุบันของกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมเป็นอย่างไร กรณีนี้รัฐจำเป็นต้องทบทวนและทำความเข้าใจกฎระเบียบเดิมที่มีผลใช้บังคับอยู่ทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่ากฎระเบียบใดที่ขัดขวางการสร้างนวัตกรรม ล้าสมัย หรือเกินความจำเป็น การทบทวนกฎระเบียบเหล่านี้จะทำให้หน่วยงานของรัฐต้องประเมินทางเลือกอื่น ๆ ในการกำกับดูแล แก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบเดิมให้ทันสมัย

            2) ช่วงเวลาใดที่เหมาะสมสำหรับการเข้าไปควบคุมกำกับดูแลและกำหนดกฎระเบียบ กรณีนี้ผู้มีอำนาจกำกับดูแลจะต้องหลีกเลี่ยงการควบคุมที่ “รวดเร็ว” เกินไป ซึ่งอาจจะขัดขวางการพัฒนานวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ “ล่าช้า” เกินไป จนเกิดผลเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้

            3) วิธีการควบคุมกำกับที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นอย่างไร จุดมุ่งหมายสำคัญในการควบคุมการประกอบธุรกิจก็คือการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองประชาชน สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม ผู้กำหนดนโยบายมีทางเลือกในการกำหนดกฎระเบียบในการควบคุมที่ค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่การควบคุมอย่างเข้มงวดไปจนถึงการปล่อยเสรี ประเด็นสำคัญที่พึงระลึกถึงในกรณีนี้ก็คือผู้พัฒนานวัตกรรมจะมุ่งหน้าไปยังประเทศที่มีกฎระเบียบในการควบคุมที่เอื้อและเป็นมิตรต่อการพัฒนา

            4) มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างนับแต่มีการประกาศใช้กฎระเบียบครั้งแรก การตั้งคำถามเหล่านี้จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องทบทวนกฎระเบียบอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจสร้างกลไกในการทบทวนที่เป็นระบบ

            การตอบคำถามข้างต้น จะทำให้รัฐรู้และเข้าใจสถานะของกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ แต่คำถามว่าเมื่อไหร่ที่รัฐควรจะเข้าไปควบคุม (when) และควรควบคุมอย่างไร (how) เราจะได้มาพูดคุยกันในโอกาสหน้านะครับ

*บทความโดย สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์