COVID-19 จะยิ่งเร่งให้เกิดเศรษฐกิจ 3 ขั้วเร็วขึ้น

COVID-19 จะยิ่งเร่งให้เกิดเศรษฐกิจ 3 ขั้วเร็วขึ้น

แม้หลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกจะได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

กระแสโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความยากจนในประเทศต่าง ๆ แต่ภายหลังวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 หลายประเทศก็เริ่มตั้งคำถามต่อประโยชน์และต้นทุนของกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะประเด็นการนำไปสู่การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้เราเห็นแนวโน้มการชะลอตัวและการย้อนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ สะท้อนจากสัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP โลกที่ปรับลดลงหลังขึ้นไป peak ที่ประมาณ 60% ในปี 2008 โดยเป็นผลจากการลดลงของสัดส่วนการค้าของจีนและสหรัฐฯ เป็นสำคัญ รวมทั้งสัดส่วนของห่วงโซ่การผลิตข้ามประเทศต่อมูลค่าการส่งออกที่ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

160692456110

ทั้งนี้ผลกระทบจากวิกฤต COVID จะยิ่งทำให้แนวโน้มเหล่านี้เร่งตัวมากขึ้น โดยประเทศต่าง ๆ จะให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายและการผลิตในประเทศมากขึ้นเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID รวมทั้งการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงและลดความเสี่ยงจากปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนัยเชิงยุทธศาสตร์ เช่น สินค้า High tech อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาหาร เป็นต้น  ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงขึ้นจะยิ่งทำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เน้นการดูแลการจ้างงานและการใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศเป็นสำคัญ

นอกจากนั้น ผลประโยชน์ของมหาอำนาจทั้งสามจะมีแนวโน้มต่างกันมากขึ้น  ความเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นผู้นำระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะไม่ได้หายไป แต่จะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นทั้งด้านการค้า เทคโนโลยีและภูมิรัฐศาสตร์ แม้ตลาดจะคาดการณ์ว่า การดำเนินนโยบายการค้าภายใต้ประธานาธิบดีไบเดนจะยึดหลักพหุภาคี และมีโทนของการเจรจาที่ดีกว่าภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ แต่สหรัฐฯ จะยังมองจีนเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดต่อไป ไบเดนเองก็ได้หาเสียงบนพื้นฐานของการเชื่อมโยงนโยบายการค้าและนโยบายต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯ ด้วย จึงคาดได้ว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะดำเนินต่อไป และอาจเข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานแรงงานและสิทธิมนุษยชนที่พรรคเดโมแครตให้ความสำคัญ นอกจากนั้น  สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มบทบาทของภาครัฐผ่านนโยบายอุตสาหกรรมเชิงรุกและการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีนัยเชิงยุทธศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลและพลังงานทดแทน รวมทั้ง การให้แรงจูงใจกับธุรกิจสหรัฐฯ ให้ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศหรือคงการผลิตไว้ในสหรัฐฯ จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

ขณะที่จีนภายใต้แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฉบับไหม่ Dual Circulation จะให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำลังซื้อและการใช้จ่ายในประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่เพื่อชดเชยอุปสงค์จากการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลงในระยะปานกลางควบคู่กับการพัฒนาฐานการผลิตในประเทศให้มีความแข็งแกร่งเพื่อลดการพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งทวีความสำคัญหลังจากสหรัฐฯ ใช้นโยบายกีดกันการทำธุรกิจและการเข้าถึงเทคโนโลยีกับธุรกิจจีน ไม่ว่าจะเป็น Huawei หรือ Tiktok รวมทั้งตัวอย่างที่สำคัญ คือ การเร่งพัฒนาเทคโนโลยี semiconductor หลังจากบริษัทของจีนตกเป็นรองเทคโนโลยีของ TSMC บริษัทไต้หวันซึ่งเป็นผู้ผลิต Chip หลักให้กับ Apple  ขณะเดียวกันจีนจะยังใช้นโยบาย Belt and Road เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทั้งตลาดส่งออก
ที่จะมาชดเชยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่จะลดลง และเป็นแหล่งวัตถุดิบด้วย

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปและจีนก็จะท้าทายมากขึ้น  แม้ยุโรปจะกังวลต่อประเด็นความไม่เป็นธรรมทางการค้า
การลงทุน การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ทางปัญญา และปัญหาสิทธิมนุษยชน จึงมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการสร้างแนวร่วมพหุภาคีในการกดดันจีน แต่ยุโรปก็น่าจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีนโดยตรง เนื่องจากมีการพึ่งพาเศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะตลาดส่งออกและการลงทุนของธุรกิจในสัดส่วนสูง ขณะที่แม้สหรัฐฯ และยุโรปจะมีจุดยืนที่คล้ายกันในประเด็นความมั่นคงและปัญหาโลกร้อน แต่ก็มีความขัดแย้งสำคัญในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของยุโรปที่จะเก็บภาษี และการกำหนดกฎเกณฑ์ด้าน data privacy กับบริการเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ หรือการใช้นโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อปกป้องธุรกิจของตนเองจากการเข้ามาแข่งขันจากต่างประเทศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ จะทำให้ยุโรปต้องหาจุดยืนที่สมดุลในการจัดการความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และจีน   

แนวโน้มเหล่านี้ จะทำให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจ 3 ขั้วที่ชัดเจนขึ้น และจะมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและภาคธุรกิจต่างๆ อย่างมากในช่วงทศวรรษหน้า ห่วงโซ่การผลิตจะมีแนวโน้มสั้นลง จากที่เคยที่เป็นห่วงโซ่การผลิดระดับโลกบนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตเป็นหลัก จะเป็นห่วงโซ่การผลิตระดับภูมิภาคมากขึ้น มีแนวโน้มการดึงฐานการผลิตในสินค้าเชิงยุทธศาสตร์กลับประเทศตนหรือไปตั้งอยู่ในประเทศที่เป็นพันธมิตร บนพื้นฐานของความมั่นคงและความปลอดภัยของห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น การค้าภายในภูมิภาคเดียวกันจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การค้าขายข้ามกลุ่มจะลดลง โดยเป็นผลจากห่วงโซ่การผลิตที่สั้นลงและมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะมีมากขึ้นโดยเฉพาะกับประเทศที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มการค้าเดียวกัน

ภายใต้ความท้าทายข้างต้น ไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเตรียมรับมือกับโอกาสและความท้าทายที่จะเข้ามา สิ่งสำคัญ คือ การปรับพื้นฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็งเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากธุรกิจที่ต้องการกระจายการลงทุนออกมาจากจีน ผ่านการยกระดับทักษะแรงงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรการค้าการลงทุนด้วยการเข้าร่วมกรอบข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากข้อกีดกันทางการค้าการลงทุนในอนาคต และใช้ศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค ASEAN อย่างเต็มที่

 *บทความโดย  ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)